บทความนี้ขอแนะนำ “เมื่อลูกไอบ่อยและมีเสมหะ จะมีวิธีช่วยให้ลูกหายจากอาการนี้ได้อย่างไร” ด้วยในปัจจุบันที่สภาพอากาศแปรเปลี่ยนจนไม่รู้ฤดู เดี๋ยวหนาวเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวฝน ไหนจะฝุ่น PM 2.5 ตัวร้าย ก็อาจจะทำให้เด็กปรับตัวไม่ทันเป็นหวัด คัดจมูก ไอ มีเสมหะได้ และพ่อแม่อย่างเราจะรักษา และรับมืออาการของลูกน้อยได้อย่างไร ลองไปอ่านพร้อมกันเลย
การไอเกิดจากอะไร
ไอเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในทางเดินหายใจ อาจจะเป็นฝุ่นละอองหรือเสมหะที่เกิดจากไข้หวัด หลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ ร่างกายจะกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ โดยการไอออกมา สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ไอเรื้อรังคือ การมีเสมหะคั่งค้างในหลอดลม
เสมหะ คืออะไร
เสมหะ หรือ เสลด เป็นสารเมือกที่สร้างขึ้นจากต่อมมูกและเซลล์กอบเลทของทางเดินหายใจ ถ้ามีความผิดปกติ เช่น เสมหะเหนียวข้น มีจำนวนมาก ก็จะทำให้เกิดการคั่งค้างของเสมหะ ซึ่งในเด็กเล็กที่ยังคายเสมหะออกมาไม่เป็น จะสังเกตได้ว่าเวลาหายใจจะมีเสียงครืดคราดในอกหรือในคอ และถ้าร่างกายไม่สามารถขับเสมหะสู่ภายนอกได้ อาจเกิดการอุดตันของหลอดลม หัวใจทำงานหนักขึ้น มีภาวะปอดอักเสบ ปอดแฟบ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
เสมหะ เกิดจากอะไร
– การระคายเคืองบริเวณลำคอ
– โรคจมูกอักเสบ โรคภูมิแพ้
– โรคไซนัสอักเสบ และเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ
– โรคหลอดลมอักเสบ และโรคหอบหืด
– ติดเชื้อเรื้อรังบริเวณคอ เช่น วัณโรค
เมื่อลูกน้อย มีอาการไอมีเสมหะ ดูแลรักษาอย่างไร
1.ให้ดื่มน้ำอุ่นเพิ่มขึ้น
น้ำ เป็นยาขับเสมหะที่ดีที่สุด การให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ ก็ถือเป็นการเพิ่มน้ำให้แก่ร่างกาย และช่วยลดความเหนียวข้นของเสมหะ เมื่อเสมหะเหนียวน้อยลง การระบายออกจะทำได้ดีขึ้น ทั้งนี้ พยายามให้ลูกดื่มน้ำอุ่นจะยิ่งช่วยลดความเหนียวของเสมหะได้ดีกว่าน้ำธรรมดา เพราะความร้อนจะช่วยให้น้ำแทรกซึมสู่เสมหะได้ง่ายขึ้น
2.กลั้วคอ หรือดื่มน้ำโซดา
น้ำโซดามีคาร์บอนไดออกไซด์ละลายอยู่ ทำให้มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน ๆ ดังนั้นการกลั้วคอหรือดื่มด้วยน้ำโซดาจึงช่วยละลายเสมหะได้ แต่ข้อนี้แนะนำให้ใช้กับเด็กโตแล้วเท่านั้น
3.กลั้วคอ หรือดื่มน้ำผสมเกลือ
การดื่มน้ำธรรมดาอาจช่วยเพิ่มความชื้นหรือทำให้เสมหะเหนียวน้อยลงได้ แต่หากนำน้ำผสมเกลือเพียงเล็กน้อยมาดื่มหรือกลั้วคอ จะยิ่งช่วยให้เสมหะอ่อนตัวหรือลดความเหนียวได้รวดเร็วขึ้น
4.รับประทานผลไม้รสเปรี้ยว
การให้ลูกรับประทานสมุนไพรหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ได้แก่ เสาวรส ส้ม มะนาว มะขาม หรือสมุนไพรที่มีรสเผ็ด เช่น พริก พริกไทย จะช่วยในการละลายเสมหะ เพราะน้ำในผลไม้จะช่วยเพิ่มความชุ่มคอ ส่วนความร้อนช่วยละลายเสมหะได้
5.รับประทานอาหารประเภทต้ม
อาหารประเภทต้มมีคุณสมบัติคล้ายกับน้ำอุ่น แต่จะมีประโยชน์เพิ่มขึ้น เพราะมีเครื่องเทศหรือสมุนไพรมาเสริมทัพด้วย เช่น ซุปฟักทองร้อน ๆ ก็ช่วยขับเสมหะได้ เพราะในฟักทองมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ช่วยลดอาการอักเสบและขับเสมหะ หรือแกงจืดผักชีหมูสับ เพราะต้นผักชีช่วยแก้ไอ แก้หวัดได้
6.เพิ่มความชื้นภายในห้อง
อากาศที่แห้งและมีปริมาณความชื้นน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้โพรงจมูกและลำคอขาดความชุ่มชื้นและเกิดการระคายเคือง ร่างกายจึงผลิตเสมหะมากขึ้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นภายในลำคอ ดังนั้น เพื่อป้องกันภาวะขาดความชุ่มชื้นภายในลำคอ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้เครื่องทำความชื้นหรือการเพิ่มความชื้นในอากาศด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ตั้งอ่างเล็ก ๆ ใส่น้ำไว้ในห้อง ปิดแอร์ เปิดหน้าต่าง อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความชื้นของอากาศภายในห้องควรคำนึงถึงสภาพอากาศในแต่ละฤดูด้วย
7.ดูดเสมหะด้วยลูกยาง
เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่รู้วิธีการขับออกมาเอง อีกทั้งเสมหะเหนียวข้นมาก คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้อุปกรณ์ดูดเสมหะ อย่างลูกยางเบอร์ 1 ช่วยดูดเสมหะในปากได้
8.หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กในที่ที่มีอากาศเย็น
หลีกเลี่ยงให้ลูกนอนในห้องที่มีอากาศเย็นจนเกินไป ถ้านอนห้องแอร์ควรปรับอุณหภูมิให้พอดี ที่ 25 – 27 องศา หรือถ้าเปิดพัดลมก็ไม่ควรเปิดให้โดนที่ตัวของลูกมากเกินไป
9.รับประทานยาละลายเสมหะ
ให้เด็กรับประทาน ยาแก้ไอเด็ก หรือยาละลายเสมหะเด็ก อย่างเหมาะสม ยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป อย่างยาน้ำชนิดไซรัปหรือน้ำเชื่อมที่นิยมใช้กันมากในเด็ก ซึ่งยาแก้ไอนั้นถูกแบ่งออกเป็น ยาแก้ไอชนิดกดการไอ ยาแก้ไอที่มีฤทธิ์ขยายหลอดลม หรือละลายเสมหะจะได้ผลดี ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกชนิด
10.เคาะปอดระบายเสมหะ
วิธีการเคาะปอด จะใช้แรงสั่นจากลมที่กระทบผนังทรวงอกขณะเคาะ ไปทำให้เสมหะที่เกาะอยู่บริเวณทางเดินหายใจค่อย ๆ หลุดออกและไหลออกมาได้ง่ายขึ้น
วิธีเคาะปอด
ทำมือให้เป็นลักษณะคุ้ม ๆ นิ้วชิดกัน เรียกว่า “Cupped Hand” เคาะบริเวณทรวงอกส่วนที่ต้องการระบายเสมหะ ท่าละ 3-6 นาที รวมทุกท่าไม่ควรนานเกิน 15-30 นาที แล้วจึงลุกนั่งหรือยืนเพื่อให้ไออย่างมีประสิทธิภาพ แล้วเสมหะจะถูกขับออกมาด้วย
บทส่งท้าย
ในปัจจุบันที่อากาศเปลี่ยนแปลงเกือบทุกวัน คุณพ่อคุณแม่ควรต้องดูแลสุขภาพของลูกให้ดี หากคุณพ่อคุณแม่ทำตามครบทุกขั้นตอนข้างต้นแล้วอาการไอของลูกไม่ดีขึ้น ยังมีเสมหะมากขึ้น ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที รีบทำการรักษาก่อนที่อาการจะหนักเกินไป
เครดิตรูปภาพ consumer.healthday.com www.health.harvard.edu www.istockphoto.com