วัคซีนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับลูก ที่พ่อแม่ต้องรู้

บทความนี้ขอแนะนำ “วัคซีนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับลูก ที่พ่อแม่ต้องรู้” การที่ลูกเติบโตมาด้วยร่างกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนหวังไว้อย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันเชื้อโรคที่เรามองไม่เห็นในอากาศก็มีเยอะมากมาย ฉะนั้นการที่ลูกได้รับวัคซีนจะเป็นเหมือนเกราะป้องกันเชื้อโรค และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก ๆ ห่างไกลจากโรคภัย ซึ่งวัคซีนที่ลูก ๆ จะต้องฉีดนั้นมีอะไรบ้าง ในบทความนี้ได้มีการแนะนำว่าช่วงอายุเท่าไหร่ ต้องฉีดวัคซีนตัวไหน มาเป็นแนวทางให้ได้ศึกษากันก่อน

Vaccinations | First 5 California

วัคซีนคืออะไร

วัคซีน คือ ชีววัตถุหรือแอนติเจนที่ผลิตมาจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคที่ถูกทำให้ไม่สามารถก่อโรคได้ แต่ยังคงสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้หรือภูมิคุ้มกันได้

Infant Vaccination Schedule - Howcast

วัคซีนพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเด็ก

สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้เด็กไทยทุกคน ต้องได้รับวัคซีนที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน เพื่อช่วยป้องกันโรคที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ และยังช่วยสร้างเสริมให้เกิดภูมิคุ้มกันตามช่วงวัย ดังนี้

1.วัคซีนป้องกันวัณโรค 

ควรจะได้รับการฉีดตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งปกติโรงพยาบาลจะฉีดให้ทารกก่อนกลับบ้าน โดยจะฉีดที่ใต้ผิวหนังบริเวณต้นแขน หรือหัวไหล่ด้านซ้าย หรือที่สะโพกด้านซ้าย แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละโรงพยาบาล หลังจากฉีดจะไม่มีรอยแผลใด ๆ แต่หลังจากช่วงระยะเวลา 3 -4 สัปดาห์หลังจากฉีด จะเกิดรอยตุ่มแดงบริเวณที่ฉีด หรืออาจจะมีหนองก็ได้ มีการทำความสะอาดและดูแลคือ เช็ดให้ผิวหนังบริเวณฉีดวัคซีนแห้งและสะอาดอยู่เสมอ ด้วยสำลีชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว ซึ่งรอยตุ่มนั้นจะค่อย ๆ หายไปเอง และเกิดเป็นรอยบุ๋มแทน (BCG Vaccine)

2.วัคซีนตับอักเสบบี (Hepatitis B Vaccine : HBV) 

ต้องได้รับทั้งหมด 3 เข็ม โดยฉีดเข็มแรกตั้งแต่แรกเกิด เข็มที่สองเมื่ออายุครบ 1 เดือน  และเข็มสุดท้ายเมื่อเด็กครบ 6 เดือน ช่วยป้องกันโรคตับอักเสบที่เกิดจากไวรัส Hepatitis B ถ้าหากได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปจะทำให้เกิดโรคทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังได้ ผู้ป่วยจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

3.วัคซีนโปลิโอ (Polio Vaccine) 

มีด้วยกัน 2 แบบคือ แบบหยอด และแบบฉีด สามารถใช้แทนกันได้ แต่ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์อีกครั้ง ซึ่งวัคซีนแบบฉีดนั้นต้องฉีดตามช่วงอายุตั้งแต่ 2, 4, 6 เดือน, 1 ปี 6 เดือน และ 2 ปี ครึ่งตามลำดับ โปลิโอเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสโปลิโอ สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ เมื่อติดเชื้อแล้ว จะส่งผลต่อสมอง และไขสันหลัง ซึ่งมันร้ายแรงอาจจะทำให้เป็นอัมพาตได้  ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโปลิโอให้หายขาดได้ แต่สามารถป้องกันด้วยวัคซีน

4.วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (Diphtheria-Tetanus-Pertussis Vaccine: DTP) 

โดยแบ่งฉีดชุดแรก  3  ครั้ง  เมื่ออายุ 2 เดือน  4 เดือน และ 6 เดือน หลังจากนั้นควรมีการฉีดเพื่อกระตุ้นการทำงานของวัคซีนอีกครั้งในช่วงอายุ 1 ปี 6 เดือน  และเมื่อมีอายุ  4-6 ปี และฉีดเฉพาะ คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน สำหรับเด็กโต

-โรคคอตีบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสถูกสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ ของผู้ป่วย อาการของโรคคือลำคออักเสบรุนแรง ไข้สูง เกิดเป็นพังผืดอุดกั้น ทางเดินหายใจ ทำให้หายใจ และกลืนลำบากอาจทำให้หัวใจวาย และเสียชีวิตได้

-โรคบาดทะยัก เกิดจากพิษของเชื้อบาดทะยักที่มีอยู่ตามสิ่งแวดล้อมทั่วไป เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ซึ่งเชื้อโรคจะเข้าไปทำลายระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการตามมาดังนี้ ขากรรไกรแข็ง คอแข็งชักเกร็ง หายใจลำบาก และถ้าหากอาการรุนแรงก็ทำให้เสียชีวิตได้

– โรคไอกรน หรือโรคไอร้อยวัน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ติดต่อได้จากการสัมผัสถูกสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ ของผู้ป่วย ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อเข้าไปจะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ มีอาการไอมาก ไอต่อเนื่อง จนหายใจลำบาก ในเด็กเล็กอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หยุดหายใจ ไอรุนแรงจนทำให้ซี่โครงหัก ส่งผลให้เสียชีวิตได้

5.วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (Measles mumps rubella vaccine : MMR)  

แบ่งฉีด 2 ครั้ง ครั้งแรก อายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 อายุ 2 ปี 6 เดือน ซึ่งสามารถป้องกันโรคหัดชนิดเหล่านี้ได้

– โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งจะมีอาการผื่นแดง มีไข้ ตาแดง และอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น ปอดอักเสบ หูอักเสบ ท้องเดิน และสมองอักเสบ สามารถแพร่กระจายได้ผ่านละอองฝอยจากการไอ จาม

– โรคหัดเยอรมัน เกิดจากเชื้อไวรัส Rubella  เมื่อได้รับเชื้อจะมีอาการ ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ และใบหูโต ตามมาด้วยอาการผื่น หัดเยอรมันจะรุนแรงเมื่อติดในสตรีมีครรภ์ เพราะอาจทำให้เด็กในครรภ์พิการได้

– โรคคางทูม เกิดจากเชื้อไวรัส Mumps เข้าไปทำให้ต่อมน้ำลายอักเสบ บางรายอาจเกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบด้วย แม้คางทูมอาจไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ก็อาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น อัณฑะอักเสบ รังไข่อักเสบ ข้ออักเสบ ระบบประสาทอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น

6.วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese encephalitis virus :JE) 

แบ่งฉีด 2 ครั้ง ครั้งแรก อายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 อายุ 2 ปี 6 เดือน  ไข้สมองอักเสบเกิดจากเชื้อเจอีไวรัส ซึ่งหากได้รับเชื้อ จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีไข้สูง ชัก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

7.วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) 

ควรฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 18 ปี โดยปีแรกของการฉีดให้ฉีด 2 เข็ม เว้นระยะห่างกัน 4 สัปดาห์ ไข้หวัดเกิดจากเชื้อโรคที่ชนิดต่างกัน อาการหลังจากได้รับเชื้อจะมีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ มีน้ำมูกใส คัดจมูก ไอแห้ง เจ็บคอ และเบื่ออาหาร  และอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน และชักจากไข้สูง 

Baby Vaccination: What to Expect and How to Soothe the Pain

วัคซีนเด็กอื่นๆ เสริมภูมิต้านทานโรค

1.วัคซีนเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ (Hib Vaccine) วัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นวัคซีนที่อยู่ในวัคซีนชนิดรวม 1 เข็ม ป้องกันได้ 5 โรค คือ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ โดยฉีด 3 ครั้ง ตั้งแต่เด็กอายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน

2.วัคซีนโรตาไวรัส (rotavirus) ช่วยปกป้องโรคโรตาไวรัส เด็กๆ สามารถรับวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 2 และ 4 เดือน วัคซีนนิวโมคอคคัส ป้องกันปอดอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ โดยวัคซีนชนิด PCV ควรฉีดในช่วงอายุ 2 เดือน 4 เดือนและ 6 เดือน จากนั้นจึงฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 1 ปี ถึง 1 ปี 3 เดือน 

3.วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (Varicella vaccine) ฉีดรวมทั้งหมด 2 เข็ม ตามช่วงอายุ ตั้งแต่ 2 ปีครึ่ง และอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี

4.วัคซีนตับอักเสบ เอ (Hepatitis A Vaccine) ต้องฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป

5.วัคซีนไข้เลือดออก แนะนำให้ฉีด วัคซีนในเด็ก ที่มีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป โดยฉีด 3 ครั้ง เว้นระยะ 6 เดือน และ 12 เดือนจากการฉีดเข็มแรก

ผลข้างเคียงหลังจากฉีดซีนมีอะไรบ้าง

วัคซีนทุกชนิดหลังจากฉีดสามารถเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปวด บวม บริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำ ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายได้รับวัคซีนแล้วและกำลังทำงานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน อาจจะทำให้ลูกร้องไห้งอแง เพราะรู้สึกไม่สบายตัว

บทส่งท้าย

เด็ก ๆ ทุกคนควรได้รับวัคซีน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเพื่อเป็นการป้องกันโรค และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ด้วย ซึ่งการที่ลูกต้องฉีดยาหรือได้รับวัคซีนลูกอาจจะกลัวบ้าง แต่เพื่อร่างกายของเขาที่จะแข็งแรงขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะพาลูกเข้าไปรับวัคซีนให้ครบถ้วนตามที่ได้ถูกกำหนดไว้ด้วย

เครดิตรูปภาพ www.pampers.ca www.first5california.com www.howcast.com

บทความ แม่และเด็ก

อาหารเด็ก/นม/ของเล่นเด็ก/คู่มือคุณแม่

บทความล่าสุด
Tag
ขวดนม Pigeon (1) ของเล่นเสริมพัฒนาการสำหรับเด็ก (31) คอกกั้นเด็ก (1) คาร์ซีท (1) คู่มือสำหรับคุณแม่ (131) จุกนม (1) ชุดคลุมท้อง (1) ชุดว่ายน้ำเด็ก (1) ตู้แช่นม (1) ทิชชู่เปียก (1) ที่ดูดน้ำมูก (1) นมกล่อง UHT (1) นมผง (1) น้ำยาซักผ้าเด็ก (1) น้ำยาล้างขวดนม (1) น้ำเกลือล้างจมูก (2) ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก (19) ฝากครรภ์ (1) รถเข็นเด็ก (1) รถไฟฟ้าเด็ก (1) รวมเรื่อง นม สำหรับเด็ก (1) สารพันปัญหาแม่และเด็ก (142) สารพันปัญหา แม่และเด็ก (36) อาหารสำหรับเด็ก (21) อาหารเสริมสำหรับเด็ก (3) อุปกรณ์ทำความสะอาดสำหรับเด็ก (10) อุปกรณ์เสริมสำหรับเด็ก (72) เครื่องนึ่งขวดนม (1) เครื่องปั๊มนม (1) เครื่องอุ่นนม (1) เคล็ดลับเลี้ยงลูก (2) เปล (1) เปลไกวไฟฟ้า (1) เสื้อผ้าเด็ก (5) แพมเพิส (1) โลชั่นเด็ก (1)