บทความนี้ขอแนะนำ “ลูกแค่ซนตามประสา หรือเข้าข่ายสมาธิสั้น จะสังเกตอาการอย่างไร และจะมีวิธีไหนช่วยลูกได้บ้าง” เด็ก ๆ กับความซุกซนเป็นของคู่กันจนคุณพ่อคุณแม่บางท่านมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเราอาจจะเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าเด็กซนคือเด็กฉลาด แต่เหรียญมี 2 ด้านเสมอ เพราะบางครั้งความซุกซนจนทำกิจกรรมใดๆ ได้ไม่นานของลูก อาจจะแปลความหมายได้ว่าเขาเสี่ยงต่อการเป็น “โรคสมาธิสั้น” โรคยอดฮิตตอนนี้ของเด็กทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อการเรียนรู้ของลูกน้อยได้
ทำความรู้จักโรคสมาธิสั้นในเด็ก
โรคสมาธิสั้น นั้นเป็นกลุ่มอาการผิดปกติทางพฤติกรรมและอารมณ์ เป็นภาวะที่สามารถพบได้บ่อยกับเด็ก ๆ ทุกชาติพันธุ์ทั่วโลก โรคนี้เมื่อเป็นแล้วต้องรักษาดูแลกันอย่างยาวนานต่อเนื่อง โดยทั่วไปเด็ก ๆ จะมีอาการดีขึ้นหรือหายได้เมื่อเขาโตขึ้น แต่ก็แค่ประมาณ 30% เท่านั้น อีก 70% ที่เหลือจะยังคงมีอาการจนถึงวัยผู้ใหญ่เลย และสาเหตุของโรคนี้ก็เกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
1.ความผิดปกติบางอย่างของร่างกายเด็ก อาทิ สารเคมีบางชนิดในสมองซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสมาธิมีความผิดปกติ เช่น สารโดปามีน และสารนอร์อิพิเนฟริน เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของวงจรที่ควบคุมสมาธิและการตื่นตัว บริเวณสมองส่วนหน้า ก็เป็นไปได้เช่นกัน
2.เกิดจากกรรมพันธุ์ คือหากคุณพ่อคุณแม่เป็นโรคสมาธิสั้น โอกาสที่จะถ่ายทอดโรคนี้สู่ตัวลูกน้อยก็มีสูง
3.เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีน้ำหนักแรกคลอดน้อย หรือได้รับอุบัติเหตุรุนแรงทางสมอง ก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นโรคสมาธิสั้นได้เช่นกัน
4.การอาศัยหรือใช้ชีวิตประจำวันในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ใกล้แหล่งสารพิษ โดยเฉพาะพิษจากสารตะกั่ว หรือได้รับพิษบุหรี่จากคุณพ่อหรือคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ ตลอดจนการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมก็ทำให้ลูกน้อยมีภาวะเสี่ยงต่อโรคสมาธิสั้นได้เช่นกัน
เช็กอาการ ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น หรือแค่ซน
สำหรับเด็กๆ ที่มีอาการของโรคซนสมาธิสั้น จะมีความผิดปกติของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับอายุและระดับพัฒนาการ โดยมักมีอาการแสดงก่อนช่วงอายุ 7 ปี และมีอาการแสดงอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยแบ่งอาการออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
1.สมาธิสั้น (Inattention)
– ยากลำบากในการตั้งสมาธิ วอกแวกง่าย
– ดูเหมือนไม่ฟังเมื่อมีคนพูดด้วย
– ทำตามคำสั่ง/กิจกรรมไม่สำเร็จ
– หลีกเลี่ยงที่จะทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความพยายาม
– ละเลยในรายละเอียด หรือทำผิดด้วยความเลินเล่อ
– มีความยากลำบากในการจัดระเบียบงานหรือกิจกรรม
– ทำของหายบ่อยๆ
– ลืมกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำสม่ำเสมอ
2.ซนไม่อยู่นิ่ง (Hyperactivity)
– ยุกยิกขยับตัวไปมา อยู่นิ่งไม่ได้
– ซนมากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
– นั่งไม่ติดที่ ต้องลุกเดินไปมา
– มักวิ่งวุ่นหรือปีนป่ายในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม
– ไม่สามารถเล่นเงียบๆ ได้
– พูดมากเกินไป
3.หุนหันพลันแล่น (Impulsiveness)
– ไม่สามารถรอคอยได้
– ชอบพูดโพล่ง ขัดจังหวะหรือสอดแทรกผู้อื่นในวงสนทนา
วิธีการรักษาโรคสมาธิสั้น
1.การใช้ยาเพิ่มสมาธิ
เป็นมาตรฐานในการรักษา สำหรับการใช้ยาที่มีความปลอดภัย และมีผลข้างเคียงน้อย สามารถช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น สงบขึ้นและควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น ส่งผลให้เด็กๆ มีสมาธิในการเรียนและการเรียนที่ดีขึ้นนั้นเอง
2.สร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม
การสร้างสิ่งแวดล้อมหรือบรรยากาศ ควรสร้างทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนโดยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ต้องไม่กระตุ้นเด็กๆ จนมากเกินไป ควรจัดเก็บของต่างๆ ให้เข้าที่เพื่อไม่ให้รบกวนสายตาของเด็ก มีมุมสงบให้เด็กๆ เวลาทำการบ้าน และไม่ควรมีสิ่งมารบกวนในห้องเช่นทีวี หรือมือถือให้เด็กได้วอกแวกไปสนใจสิ่งอื่น
3.การฝึกฝนการควบคุมตัวเอง
โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะจัดกิจวัตรประจำวันของลูก ให้เป็นเวลาโดยให้เขาทำอย่างสม่ำเสมอ และควรฝึกให้เขามีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำ ให้นานประมาณ 20-30 นาที โดยไม่ลุกเดินไปไหน โดยที่มีคุณพ่อคุณแม่ควบคุมอย่างใกล้ชิด คอยให้กำลังใจและช่วยเหลือเด็กๆ ให้ทำสำเร็จ พอเขาทำสำเร็จก็ควรมีรางวัลให้เขา เพื่อเป็นกำลังใจให้เขามีความมุ่งมั่น และพยายามให้มากขึ้น
4.พยายามมองหาจุดเด่นและความสามารถของเด็กในด้านอื่นๆ
ลองให้เขาได้ลองสิ่งที่ ๆ ที่หลากหลาย เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ หรือด้านการแสดงออก ให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสได้แสดงออกในสิ่งที่ดี ๆ เช่น มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยคุณครูแจกสมุด ลบกระดาน บ้าง หรืองานที่ได้รับมอบหมายพิเศษอื่น ๆ ก็ได้ เพื่อถ้าเด็ก ๆ ชอบเขาก็ได้มีสมาธิกับสิ่ง ๆ นั้น เป็นการฝึกสมาธิให้เด็ก ๆ อีกทางด้วย
5.ส่งเสริมการออกกำลังกายและการนอนหลับ
การออกกำลังกายช่วยเพิ่มสมาธิและส่งเสริมการเจริญเติบโตของสมอง ที่สำคัญยังทำให้เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นนอนหลับได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดอาการของโรคสมาธิสั้นได้
6.ปรึกษาแพทย์
หากสังเกตว่าลูกมีอาการเข้าข่ายว่าจะเป็นโรคสมาธิสั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยเวลาให้เนิ่นนาน ควรรีบหาทางรักษาหรือพาไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาที่ถูกวิธี
บทส่งท้าย
หากลูกมีอาการเข้าข่ายที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น อย่าเพิ่งหงุดหงิดหรือโมโหกับอาการโรคสมาธิสั้นของลูก แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความอดทนและทำความเข้าใจกับพวกเขาให้มาก ๆ แล้วใช้ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ ช่วยประคองเขาไปแล้วอาการเขาก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นเองตามลำดับ
เครดิตรูปภาพ www.heart.co.uk parenting.firstcry.com www.morainevalley.edu www.mindbodygreen.com