บทความนี้ขอแนะนำ บทความเรื่อง ลมชักในเด็ก อันตรายกว่าคิด คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังอย่างมาก โดยทั่วไปของโรคลมชัก หากปล่อยให้ชักและไม่รักษา ส่วนใหญ่จะมีผลต่อพัฒนาการของผู้ป่วยในระยะยาว หรือถ้าลักษณะชักเป็นแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจอันตรายถึงชีวิตได้
“โรคลมชัก” หนึ่งในโรคทางระบบประสาทในเด็กที่พบได้บ่อย ซึ่งเป็นอาการชักที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของสมอง แต่ถึงอย่างนั้น แม้ไม่พบความผิดปกติทางกายภาพของสมองก็สามารถทำให้เกิดโรคลมชักได้ โดยโรคลมชักเป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเด็ก
โรคลมชักในเด็ก พ่อแม่รู้เท่าทัน ลูกน้อยก็ปลอดภัย
โรคลมชักในเด็ก หนึ่งในโรคที่สร้างความทุกข์ใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ สาเหตุการเกิดโรคนี้มีได้หลายอย่าง อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ความผิดปกติของระบบประสาท เคยเกิดอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมอง หรือเนื้องอกในสมอง เป็นต้น โดยรูปแบบการชัก อาจมีอาการได้ดัง
ต่อไปนี้
– ชักแบบเหม่อนิ่ง เด็กมักไม่ตอบสนองต่อการเรียก พบมากในเด็ก 5-10 ปี
– ชักแบบกระตุกแขนขาเป็นชุด ๆ พบมากในเด็ก 3 เดือน -1 ปี
– ชักแบบไม่รู้ตัว มีอาการเตือน ระหว่างชักจำอะไรไม่ได้
– ชักต่อเนื่อง อันตรายหากชักเกิน 30 นาที
สาเหตุของโรคลมชักในเด็ก
ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่าโรคลมชัก คือ การทำงานผิดปกติของสมอง โดยอาจพบหรือไม่พบความผิดปกติจากภาพถ่ายรังสีก็ได้ ซึ่งสามารถแจกแจงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชักได้ ดังนี้
1.ความผิดปกติของขั้นตอนการสร้างสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ (congenital anomaly)
2.ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการทำงานหรือโครงสร้างสมอง (genetic disease)
3.ความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อน ก่อนคลอด ระหว่างคลอดหรือหลังคลอด เช่น การติดเชื้อในครรภ์ การขาดออกซิเจนระหว่างคลอด เป็นต้น
4.เกิดจากภูมิต้านทานของตัวเอง (autoimmune disease)
5.การมีก้อนเนื้องอกในสมอง หรือเซลล์ที่เจริญเติบโตเร็วในสมองในบางกลุ่มอาการของ
โรคบางโรค
6.การติดเชื้อในสมอง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาจากการติดเชื้อ
7.ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
อาการของโรคลมชักในเด็ก
แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
1.อาการชักแบบเฉพาะที่ ลักษณะอาการชักจะขึ้นอยู่กับจุดกำเนิดชักว่าอยู่ส่วนใดของสมอง เช่น ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ อาการชักมักจะมาด้วยอาการเกร็ง หรือกระตุก หรืออ่อนแรง หากจุดกำเนิดอยู่ที่ตำแหน่งการควบคุมความรู้สึก อาจมาด้วยอาการชา หรืออาการรับรู้มากกว่าปกติ เช่น ปวดเจ็บ หรือรู้สึกมีอะไรมาไต่ หากจุดกำเนิดอยู่ที่ตำแหน่งควบคุมการมองเห็น ก็อาจมาด้วยอาการมองเห็นที่ผิดปกติ เช่น มองเห็นแสง หรือมองไม่เห็น เป็นต้น
2.อาการชักแบบทั้งตัว เช่น เกร็ง กระตุกทั้งตัว หรือที่เราคุ้นเคยเรียกว่าลมบ้าหมู หรืออาการชักแบบเหม่อ เรียกไม่รู้ตัว เป็นต้น
ลูกชัก ต้องทำอย่างไร
– คุณพ่อคุณแม่ หรือคนเลี้ยงต้องมีสติ ไม่ตื่นเต้น ให้ลูกนอนลงในที่โล่ง และสังเกตการชักให้ละเอียด (บันทึกภาพได้ยิ่งดี)
– จับลูกนอนตะแคง หาวัสดุหนุนศีรษะลูก คลายเสื้อผ้า และหากมีอาหารในปากให้เอาออก
– ห้ามงัดปากลูกเด็ดขาด อย่าให้คนมามุง และระวังอย่าเอาสิ่งของเข้าปากลูก
– เช็ดเศษอาหาร น้ำลาย โดยไม่ต้องพยายามงัด หรือเปิดปาก
– รอจนลูกหยุดชัก โดยส่วนมาก อาการชักจะหยุดใน 2-3 นาที เช็กว่ามีบาดแผลหรือไม่ จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาล
แนวทางการรักษาโรคลมชัก
โรคลมชักยังเป็นโรคที่หาทางป้องกันไม่ได้ แต่สามารถป้องกันการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากอาการชักได้ แต่ทั้งนี้ก็มีการรักษาโรคลมชักหลักๆ อยู่ นั่นคือ การใช้ยากันชัก เพื่อรักษาและควบคุมให้มีอาการชักน้อยลง ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาเองเพราะจะกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ โดยทั่วไปการให้ยากันชักจะให้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี หรือนานกว่านั้น แล้วแต่แพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาการรักษาที่ต้นเหตุของการเกิดลมชักนั้นๆ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถรักษาจนหายขาดได้ แต่ในบางรายทำได้แค่เพียงยับยั้งไม่ให้เกิดอาการชักโดยรับประทานยาควบคุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผู้ป่วยถึงร้อยละ 70 ที่สามารถรักษาหรือควบคุมอาการได้ด้วยการใช้ยา
ผลกระทบของโรคลมชักในเด็ก
โรคลมชักส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อได้รับการวินิจฉัยล่าช้า หรือได้รับการรักษาและคำแนะนำที่ไม่เหมาะสม โดยอาการของโรคลมชักอาจส่งผลกระทบต่อเด็กในด้านต่อไปนี้
1.อุบัติเหตุจากอาการชัก เช่น หกล้ม จมน้ำ รถชน หรืออุบัติเหตุอื่น ๆ ที่เกิดจากการสูญเสียการควบคุมร่างกาย และอาการเหม่อที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
2.ปัญหาด้านพัฒนาการและการเรียนรู้
3.ปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ อย่างความเครียด โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และการฆ่าตัวตาย เพราะอาการของโรคอาจทำให้เด็กรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนวัยเดียวกัน
บทส่งท้าย
โรคลมชักในเด็กอาจจะปรากฏขึ้นในช่วงอายุใดก็ได้ หากพ่อแม่เห็นสัญญาณของโรค อย่างอาการเหม่ออย่างฉับพลัน ยืนนิ่ง ไม่ตอบสนองต่อการเรียกชื่อ แขนหรือขาชักเกร็งกระตุก ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ เพราะการวินิจฉัยและเข้ารับรักษาเร็วอาจเพิ่มโอกาสในการรักษา ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ปกติ และลดความเสี่ยงของผลกระทบจากโรคจะได้ปลอดภัยแก่ตัวลูกด้วย
เครดิตรูปภาพ drlaxmikhanna.in www.memphisneurology.com www.vinmec.com www.samitivejhospitals.com