บทความนี้ขอแนะนำ “RSV ภัยร้ายใกล้ตัวที่มาพร้อมหน้าฝน ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จักและรับมือกับมันให้ได้” โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่มักจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูฝน และมักจะเกิดขึ้นกับเด็กมากกว่า ซึ่งอาการก็จะคล้ายไข้หวัดธรรมดาทั่วไป แต่ถ้าหากบางรายอาการรุนแรงก็อาจจะทำให้เสียชีวิตได้ บทความนี้ขอแนะนำให้คุณได้รู้จักกับไวรัสตัวร้าย RSV ว่าเกิดขึ้นจากอะไร อาการเป็นอย่าง แล้วแนวทางรักษามีอะไรบ้าง
RSV คืออะไร
ไวรัส RSV หรือมีชื่อเต็ม ๆ ว่า Respiratory syncytial virus เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุมาจากไข้หวัด หลอดลมอักเสบ และยังเป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่จะเกิดขึ้นกับเด็กเสียมากกว่า อาการของโรคนี้คล้ายไข้หวัด และถ้าอาการไม่รุนแรง ก็จะหายป่วยภายใน 1 – 2 สัปดาห์ แต่ในเคสที่มีอาการรุนแรงมักจะเกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กที่เป็นโรคหัวใจ หรือโรคปอดร่วมด้วย ซึ่งถ้าหากผู้สูงอายุติดเชื้อ RSV อาการก็จะรุนแรงเหมือนกับเด็กเล็กเช่นกัน การติดต่อของเชื้อ RSV นี้สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม โดยเฉพาะการติดต่อจากการสัมผัส
RSV กับ ไข้หวัด หรือต่างกันอย่างไร
RSV คล้ายไข้หวัดธรรมดาทั่วไป แต่ก็จะมีข้อแตกต่างกันตรงที่ RSV จะไข้สูง และระยะเวลาในการเป็นจะนานกว่าไข้หวัดธรรมดา อาจจะมีอาการอยู่ที่ 5-7 วัน ไอนาน มีน้ำมูกเยอะ มีเสมหะมากกว่าเด็กที่เป็นไข้หวัดธรรมดา ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลคือ พอเด็กมีน้ำมูกเยอะ หรือเสมหะเยอะ บางครั้งเขาเอาออกเองไม่ได้ เขาจะหายใจลำบาก เหนื่อยหอบได้ง่าย อ่อนเพลีย ง่วงซึม และอาจจะรับประทานอาหารได้น้อยกว่า
อาการของโรค RSV
อาการอาจจะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดาทั่วไป แต่ถ้าเชื้อแพร่กระจายไปแล้วก็อาจจะมีอาการดังนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการให้ดี และพยายามแยกให้ออกว่าเป็นไข้หวัดธรรมดาทั่วไป หรือ RSV เพื่อที่จะทำการรักษาให้ถูกโรคถูกอาการ และปลอดภัยต่อตัวของลูกน้อยด้วย
– มีไข้สูง มีไข้สูง 39-40 องศา ติดต่อกันหลายวัน
– ไอเยอะ มีเสมหะ และไอหนักจนคล้ายอาการหอบ
– มีน้ำมูก
– หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงครืดคราด หรือดังวี๊ด
-ง่วง ซึม อ่อนเพลีย
– เบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง
วิธีการรักษา
โรค RSV ยังไม่มีวิธีการรักษาที่แน่ชัด แต่จะรักษาตามอาการ เช่น ทานยาลดไข้ ดื่มน้ำเยอะ ๆ ทานยาแก้ไอละลายเสมหะ ทานยาลดน้ำมูก พักผ่อนให้เพียง ในเคสที่ผู้ป่วยอาการไม่หนัก สามารถรับยาจากแพทย์และพักรักษาตัวที่บ้านได้เลย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ จึงจะหายเป็นปกติ ผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน หากที่บ้านมีเด็กเล็กเหมือนกัน หรือมีผู้สูงอายุ ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ควรแยกพักให้ห่างกัน แยกข้าวของเครื่องใช้ไม่ใช้รวมกับผู้ป่วย
แต่ถ้าในเคสที่ผู้ป่วยมีการที่รุนแรง เช่น ไอหนัก หายใจมีเสียงครืดคราด เหนื่อยหอบ ทานอาหารได้น้อยลงจนอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา อาจจะต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เพราะทางคุณหมอจะมีการรักษาที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์ร่วมด้วย อย่างเช่น หากเหนื่อยหอบก็ต้องให้ออกซิเจน ให้สารน้ำทางหลอดเลือด หรือมีการพ่นยาร่วมด้วยเพื่อลดน้ำมูกที่เหนียวข้นมากเกินไป หากอยู่ในการดูแลของแพทย์น่าจะปลอดภัยมากกว่า เพราะถ้าอาการเข้าขั้นรุนแรงก็อาจจะทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน
วิธีการป้องกัน
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกัน RSV แต่ถ้าเราป้องกันลูกของเราก็จะห่างไกล RSV ตัวร้ายได้ ด้วยการให้ลูกน้อยหมั่นล้างมือบ่อย ๆ เพราะการล้างมือจะช่วยลดเชื้อโรคทุกชนิดได้เกือบ 70% เลยทีเดียว ให้เด็ก ๆ ทานให้อาหารให้ครบ 5 หมู่ และทานอาหารที่สะอาด ให้เด็ก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกให้เขาขยับร่างกายหรือออกกำลังกายบ้าง ร่างกายจะได้แข็งแรงห่างไกลโรคภัย อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา เพื่อให้ร่างกายได้รับกับอากาศที่เป็นธรรมชาติ เพื่อที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง ไม่ไปในสถานที่ที่แออัดผู้คนมากเกินไป หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ร่วมหากไม่จำเป็น
และถ้าในกรณีที่เด็กมีอาการป่วยหรือได้เชื้อมาแล้วนั้น ควรแยกเด็กออกจากคนอื่น เพื่อลดการแพร่เชื้อ ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ ให้เขาหยุดเรียนพักรักษาตัว จนกว่าอาการโรค RSV จะหายขาด และแน่ใจว่าปลอดภัยแล้ว จึงจะให้ลูกไปเรียนได้ปกติ เพราะโรคชนิดนี้แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว หากอยู่ในสถานที่ที่แออัดมากเกินไปเกิดความเสี่ยงอย่างแน่นอน
บทส่งท้าย
แม้ในตอนนี้โรค RSV จะยังไม่มีวิธีการรักษาที่แน่ชัด หรือวัคซีนที่ป้องกันโรคชนิดนี้ได้แบบ 100% หากคุณพ่อคุณแม่ฝึกให้เขารักษาความสะอาด และมีระเบียบวินัยก็จะห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บได้แล้ว หากป่วยหรือได้รับเชื้อก็รีบพาไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาแบบทันท่วงที อย่าปล่อยให้อาการเป็นหนักแล้วจึงพาไปหาหมอ และในช่วงที่เข้าสู่ฤดูฝนอากาศเปลี่ยนแปลง เด็ก ๆ ก็อาจจะเริ่มมีอาการไอ มีน้ำมูกบ้างแล้ว ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรต้องสังเกตอาการของลูก ๆ ให้ดี
เครดิตรูปภาพ