บทความนี้ขอแนะนำ บทความเรื่อง เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภัยอันตรายที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม คุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นอันตรายทั้งต่อตัวคุณแม่ และยังส่งผลกระทบถึงลูกน้อยในครรภ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรต้องระมัดระวัง และดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบมาฝากกัน
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือ Gestational Diabetes เป็นอาการของคุณแม่ที่อาจจะเป็นเบาหวานมาก่อนหรือระหว่างการตั้งครรภ์ สาเหตุเกิดจากภาวะรกในครรภ์ทำการสร้างฮอร์โมนหรือสารเคมีบางอย่าง เรียกว่าภาวะดื้อต่ออินซูลิน และทำให้ไปรบกวนการทำงานของอินซูลิน ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในเลือด ระหว่างนี้คุณแม่ต้องเตรียมพร้อมรับมือให้ดี เพื่อรักษาชีวิตของทารกน้อยในครรภ์
เบาหวานขณะตั้งครรภ์มักเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ แต่บางรายอาจเผชิญภาวะนี้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ ส่วนใหญ่แพทย์จะตรวจพบภาวะดังกล่าวได้จากการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด แต่หญิงตั้งครรภ์บางรายอาจมีอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ปากแห้ง และรู้สึกเหนื่อยหากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งบางอาการค่อนข้างคล้ายคลึงกับอาการของคนตั้งครรภ์ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หากมีข้อสงสัยหรือกังวลเกี่ยวกับอาการที่เผชิญอยู่
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ สัญญาณเตือนที่คุณแม่สังเกตได้
คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นที่บอกถึงว่าอาจมีภาวะแทรกซ้อนเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่
– ปัสสาวะบ่อยมากกว่าปกติ
– มีอาการเหนื่อย อ่อนเพลียตลอดเวลา
– การมองเห็นของดวงตาพร่ามัวทั้งสองข้าง
– น้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์
– ริมฝีปากแห้งมาก
– รู้สึกกระหายน้ำมาก ดื่มน้ำบ่อย
– แผลต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์จะหายช้า
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีปัจจัยเสี่ยงจากอะไรบ้าง
1.คุณแม่มีอายุมากขณะตั้งครรภ์ (30 ปีขึ้นไป)
2.มีน้ำหนักเกินก่อนการตั้งครรภ์
3.มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเบาหวาน (เครือญาติฝั่งคุณแม่)
4.ในครรภ์แรกคุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน
5.มีน้ำตาลในปัสสาวะสูง
6.ครรภ์แรกคลอดลูกมีน้ำหนัก 4 กิโลกรัม
7.มีประวัติทารกเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์ หรือเสียชีวิตระหว่างคลอด
ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ผลกระทบต่อทารกในครรภ์
1.มีน้ำหนักตัวมาก ระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดที่สูงมากของหญิงตั้งครรภ์อาจขัดขวางการทำงานของตับอ่อน โดยจะกระตุ้นให้ตับอ่อนของทารกผลิตอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุให้ทารกมีขนาดตัวใหญ่กว่าปกติซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการคลอด หากเกิดภาวะดังกล่าว แพทย์อาจประเมินให้ทำการผ่าคลอดเพื่อป้องกันการฉีกขาดของช่องคลอด
2.ตัวเหลือง ระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำอาจส่งผลให้ทารกเกิดภาวะตัวเหลืองหลังคลอด ซึ่งอาจทำให้เด็กต้องเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาล
3.ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทารกแรกเกิดบางรายอาจเผชิญภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากร่างกายผลิตอินซูลินออกมามากเกินไป และอาจทำให้ทารกมีอาการชักได้ อย่างไรก็ตามการให้นมบุตรและการฉีดกลูโคสเข้าทางหลอดเลือดดำสามารถปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
4.คลอดก่อนกำหนด เด็กอาจคลอดในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์และอาจเผชิญภาวะหายใจลำบากซึ่งอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าปอดของทารกจะสมบูรณ์เต็มที่ แต่ทารกที่เกิดจากแม่ซึ่งป่วยเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ก็อาจเผชิญภาวะหายใจลำบากได้เช่นเดียวกัน แม้จะไม่ได้คลอดก่อนกำหนดก็ตาม
ผลกระทบต่อมารดา
1.ภาวะน้ำคร่ำมาก ปริมาณน้ำคร่ำในมดลูกที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด และอาจเกิดปัญหาอื่นๆขึ้นในระหว่างคลอดได้
2.เบาหวานหลังคลอด ผู้ที่เคยเผชิญภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นเบาหวานอีกครั้งเมื่อตั้งครรภ์ลูกคนต่อไป และอาจป่วยด้วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 หลังคลอดได้ ซึ่งการดูแลรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะดังกล่าว
3.ครรภ์เป็นพิษ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษซึ่งอาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์
คุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เลือกกินอาหารอย่างไรดี
สิ่งที่ควรกิน
– ในหนึ่งวันควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลา 3 มื้อ อาจจะเสริมมื้อว่างให้ห่างจากมื้อหลัก 2-4 ชั่วโมง
– ควรเลือกกินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ควินัว ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮวีท ฯลฯ
– เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก-ผลไม้ เพื่อช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด
– เลือกกินอาหารที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ เช่น เนื้อไก่ ปลา แซลมอน ไข่ เต้าหู้ นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
– เลือกไขมันดี จากอะโวคาโด ถั่ว มะกอก
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
– ลดอาหารประเภทแป้ง หลีกเลี่ยงของหวาน น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์
– หลีกเลี่ยงของทอด โดยเฉพาะอาหารที่ชุบแป้งทอด ฟาสต์ฟู๊ด เช่น พิซซ่า โดนัท แฮมเบอร์เกอร์ ฯลฯ
– หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป (ไส้กรอก, เบคอน, แฮม, กุนเชียง, หมูยอ) ผลไม้ดอง-แช่อิ่ม อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ฯลฯ
เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ถ้าไม่รีบไปปรึกษาแพทย์จะเป็นอย่างไร
– ทารกเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์
– ทารกในครรภ์มีพัฒนาการการเจริญเติบโตไม่เป็นไปตามเกณฑ์
– ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
– ทารกมีแคลเซียม และแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
– ทารกมีระบบทางเดินหายใจผิดปกติ
– ตัวเหลืองหลังคลอด
– คลอดออกมาพิการ
การรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
การรักษาคือลดระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงคนปกติให้มากที่สุดโดยการ คุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และการฉีดอินซูลิน และควรจะเจาะเลือดเพื่อปรับขนาดอินซูลินแนวทางการรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้แก่
– การรับประทานอาหาร
– การเจาะเลือดเพื่อควบคุมโรค
– การรักษาด้วยยา
– การออกกำลังกายเป็นประจำ
บทส่งท้าย
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตามเบาหวานสามารถควบคุมได้ หากคุณแม่มีการเลือกรับประทานอาหารให้สมดุล ก็จะทำให้น้ำตาลในเลือดสมดุลควบคู่กันไปด้วย
เครดิตรูปภาพ
wexnermedical.osu.edu torontek.com www.myhealthexplained.com www.stlukeshealth.org