บทความนี้ขอแนะนำ บทความเรื่อง วิธีปั๊มน้ำนม สำหรับคุณแม่มือใหม่ ปั๊มนมยังไงให้ถูกวิธี การให้นมแม่เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการให้สารอาหารที่จำเป็นแก่ทารก แต่บางครั้งคุณแม่อาจต้องการปั๊มนมเพื่อให้ทารกได้รับนมแม่เมื่อไม่สามารถให้นมจากเต้าได้โดยตรง การจัดตารางปั๊มนมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณแม่สามารถจัดการเวลาและนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การปั๊มนมสำคัญอย่างไร ทำไมคุณแม่ต้องปั๊มนม
การปั๊มนมสำคัญทั้งต่อแม่และทารก ทั้งสองชีวิตจะได้ประโยชน์ร่วมกันจากการปั๊มนม สำหรับทารกแล้ว การปั๊มนมจะช่วยให้ทารกได้กินนมอย่างเพียงพอ ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจากการกินนมแม่ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก ทารกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับนมแม่อย่างเพียงพอ เพื่อให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและสมวัย และมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง เพราะสารอาหารในนมแม่มีส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของทารก ส่วนคุณแม่เองก็ได้ประโยชน์โดยตรงจากในเรื่องของการประหยัดเวลาให้นมลูก แถมไม่ต้องกังวลว่าจะหาเวลามาให้นมลูกไม่ได้ เพราะเมื่อนมถูกปั๊มใส่ขวดไปแล้ว ก็สามารถไหว้วานคนใกล้ตัวให้ช่วยป้อนนมเจ้าตัวเล็กได้ ไม่กระทบงาน แล้วก็ไม่กระทบกับสุขภาพของลูกน้อย ไม่ต้องห่วงว่าเจ้าตัวเล็กจะหิวนมหรือกินนมไม่พอ
วิธีปั๊มนมทำอย่างไร
วิธีปั๊มนมนั้น ไม่ได้ยากเกินจนแม่มือใหม่จะทำไม่ได้ แค่เพียงรู้สึกว่าพร้อมแล้วที่จะเริ่มปั๊มนม ก็สามารถลงมือปั๊มนมได้เลยทันที โดยมีวิธีปั๊มนมพื้นฐาน ดังนี้
1.ล้างมือ เครื่องปั๊มนม และอุปกรณ์สำหรับเก็บนมให้สะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้มีเชื้อแบคทีเรียหรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ แฝงไปกับน้ำนมหรือขวดนม
2.ผ่อนคลายก่อนเริ่มปั๊ม สำหรับการปั๊มนมครั้งแรกคุณแม่อาจจะตื่นเต้น กังวล หรือประหม่าได้ ให้พยายามทำกายและใจให้สบาย เลือกที่สงบ ๆ และนั่งในท่าที่รู้สึกสบายที่สุด ก่อนที่จะเริ่มปั๊มนม นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถเปิดดูรูปลูกขณะที่กำลังปั๊มนมเพื่อสร้างบรรยากาศและความรู้สึกของการให้นมบุตร
3.ค่อย ๆ นวดเต้านม นวดอย่างเบา ๆ และนุ่มนวลเพื่อให้หน้าอกคล้อยและพร้อมสำหรับการปั๊มนม
4.หากปั๊มด้วยมือ ให้ทำมือเป็นรูปตัว C ให้นิ้วโป้งอยู่ด้านบนหัวนม นิ้วชี้อยู่ด้านล่างหัวนม และไม่บีบตรงไปที่หัวนม แต่ให้นิ้วมือทั้งสองอยู่ห่างจากบลานประมาณ 1 นิ้ว จากนั้นค่อย ๆ บีบที่ลานนม พยายามเปลี่ยนจุดที่บีบไปมาจนกว่าน้ำนมจะค่อย ๆ ไหลออกมา
5.หากปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊ม ให้วางกรวยปั๊มอยู่กึ่งกลางลานนม แล้วจึงเริ่มทำการปั๊ม ขณะปั๊มนมควรปั๊มอย่างเบามือ เพราะหากกดแรงเกินไปอาจทำให้ลานนมเป็นรอยหรือเกิดการบาดเจ็บได้ และควรเริ่มจากแรงปั๊มต่ำสุดก่อน แล้วจึงค่อย ๆ ไล่ไปหาระดับที่สูงขึ้น ค่อย ๆ เพิ่มแรงปั๊มเมื่อน้ำนมไหลออกมา
6.เก็บน้ำนมลงในภาชนะบรรจุนมให้เรียบร้อย ปิดปากถุงหรือขวดนมให้สนิท เขียนระบุวัน-เวลาที่ปั๊มนมเอาไว้ให้ชัดเจน แล้วนำไปแช่ไว้ในตู้เย็น
รอบการปั๊มนมที่เหมาะสมเป็นอย่างไร
รอบปั๊มนมของแม่แต่ละคนจะแตกต่างกันออกไปตามความสะดวกของคุณแม่ และไลฟ์สไตล์การทำงานหรือการใช้ชีวิต ซึ่งบางครั้งก็อาจจำเป็นจะต้องลองผิดลองถูก จนกว่าจะพบช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการปั๊มนมที่เหมาะกับคุณแม่แต่ละคนอย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วคุณแม่สามารถที่จะใช้รอบปั๊มนมพื้นฐานได้ ดังนี้
– ทารกแรกเกิด 1-3 เดือน ควรปั๊มนม 8-9 ครั้งในรอบ 24 ชั่วโมง โดยเริ่มจากเวลา05:00 น. 7:00 น. 09:00 น. 11:00 น. 13:00 น. 15:00 น. 17:00 น. 19:00 น. และ 12:00 น. หรืออาจจะปรับได้ตามต้องการ ขึ้นอยู่กับเวลาที่ปั๊มครั้งแรกของวัน
– ทารกอายุ 3 เดือน ควรปั๊มนม 5-6 ครั้งต่อวัน โดยเริ่มจากเวลา 06.00 น. 10.00 น. 14.00 น. 20.00 น. และ 23.00 น. หรืออาจจะปรับได้ตามต้องการ ขึ้นอยู่กับเวลาที่ปั๊มครั้งแรกของวัน
– ทารกอายุ 6 เดือน ควรปั๊มนม 4 ครั้งต่อวัน โดยเริ่มจากเวลา 6.00 น. 10.00 น. 14.00 น. และ 22.00 น. หรืออาจจะปรับได้ตามต้องการ ขึ้นอยู่กับเวลาที่ปั๊มครั้งแรกของวัน
เทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า
เพื่อให้สามารถปั๊มนมได้มากที่สุด และป้องกันไม่ให้มีน้ำนมไหลซึมระหว่างวัน คุณแม่สามารถปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้าได้ ดังนี้
1.ปั๊มมือและปั๊มด้วยเครื่อง บางครั้งปั๊มด้วยมืออาจบีบน้ำนมออกมาไม่หมด การใช้ที่ปั๊มสลับมาช่วยอีกแรงก็จะช่วยให้ปั๊มน้ำนมออกมาได้มากขึ้นและเกลี้ยงเต้า
2.เลือกใช้ที่ปั๊มนมเกรดโรงพยาบาลเท่านั้น เพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ และสามารถปั๊มน้ำนมได้ในปริมาณที่เหมาะสม อุปกรณ์ที่ไม่ได้คุณภาพอาจปั๊มน้ำนมได้ไม่เต็มที่
3.ระวังอย่าบีบที่หัวนมแรงเกินไป เพราะยิ่งหัวนมเกิดอาการเจ็บปวด จะทำให้น้ำนมไหลออกมาน้อย ไม่ว่าจะปั๊มด้วยมือหรือใช้เครื่องปั๊มนม ควรระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บที่หัวนมและลานนม
4.ขณะปั๊มควรสลับแรงบีบให้เร็วและช้า เพื่อให้มีลักษณะคล้ายกับตอนที่ทารกกินนม ก็จะมีจังหวะที่ดูดช้าและเร็วสลับกันไป เป็นการเลียนแบบการกินนมของทารก ทำให้ได้บรรยากาศของการให้นม ช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ปั๊มนมได้นานขึ้น เพลินขึ้น
5.ทำความสะอาดมือ อุปกรณ์ปั๊มนม และอุปกรณ์บรรจุนมให้สะอาดเสมอ เพื่อป้องกันสิ่งสกปรก เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส
6.ปั๊มนมไป ดูภาพลูกไป การดูภาพลูก วิดีโอเกี่ยวกับลูก หรือนั่งปั๊มนมอยู่ใกล้ ๆ ลูก เป็นการสร้างบรรยากาศของการให้นม ช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ปั๊มนมได้นานขึ้น เพลินขึ้น
7.กินอาหารให้เพียงพอ หลากหลาย และเหมาะสม เพื่อให้สารอาหารไปกระตุ้นการผลิตน้ำนม ทำให้มีน้ำนมอย่างเพียงพออยู่เสมอ
บทส่งท้าย
ในน้ำนมแม่จะมีสารอาหารที่สำคัญต่อพัฒนาการการเจริญเติบโตของร่างกาย พัฒนาการด้านสมองการเรียนรู้และจอประสาทตาของลูกน้อย ซึ่งการจะกระตุ้นให้ร่างกายของคุณแม่มีการผลิตน้ำนมได้อย่างเต็มที่ แนะนำกระตุ้นด้วยการให้ลูกเข้าเต้า และควบคู่ไปกับการปั๊มนม เพื่อที่คุณแม่จะได้มีน้ำนมให้ลูกได้ทานไปนาน ๆ
เครดิตรูปภาพ www.healthline.com www.enfamil.com rpgbestet.shop www.nm.org www.sassymamasg.com