บทความนี้ขอแนะนำ บทความเรื่อง ปัญหาสุขภาพของคุณแม่หลังคลอด ที่ต้องเผชิญและต้องรับมือ ความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและสภาพจิตใจ ไม่ได้เกิดในขณะตั้งครรภ์เพียงอย่างเดียว แต่เกิดกับภาวะหลังคลอดด้วย ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักๆ คือ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนในร่างกายของแม่ลดต่ำลงหลังคลอดบุตรในช่วงระยะเวลาพักฟื้นราว 5-6 สัปดาห์นี้ คุณแม่ควรทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อให้ร่างกายและสภาพจิตใจค่อยๆ กลับคืนสู่สภาพปกติ
ปัญหาของคุณแม่หลังคลอดมีอะไรบ้าง
1. ปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
ปัญหาเรื่องความอ้วน มาจากน้ำหนักตัวขึ้นเยอะในช่วงตั้งครรภ์ ทั้งที่เกิดจากการกินหรือฮอร์โมน การเคลื่อนไหวน้อย ไม่ได้ออกกำลังกาย ซึ่งแม้หลังคลอดไปแล้วเป็นเวลานานน้ำหนักก็ไม่ลดลง หุ่นพังมาก ทำให้คุณแม่หลังคลอดสูญเสียความมั่นใจ
2.ผมร่วงหลังคลอด
ขณะตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนของคุณแม่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการงอกใหม่ของเส้นผมเพิ่มมากขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงผมดกหนา แต่หลังคลอดบุตรแล้ว ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ผมจึงร่วงมากกว่าปกติ ซึ่งอาการผมร่วงจะหายได้เองใน 6 – 12 เดือน เมื่อฮอร์โมนคุณแม่กลับมาสู่ระดับปกติ
3.ท้องผูก
พบมากในคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสสุดท้าย อาจเป็นริดสีดวงทวารร่วมด้วย จากการที่มดลูกไปกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ที่ไหลกลับเข้าสู่หัวใจ ทำให้เลือดคั่งบริเวณส่วนล่างของร่างกาย นอกจากนั้นหลังคลอดคุณแม่มักเจ็บแผล ทำให้ไม่อยากถ่ายอุจจาระ อาจส่งผลให้ท้องผูกและเป็นริดสีดวงทวารได้
4.กลั้นปัสสาวะไม่ได้
จากการที่ขณะคลอดกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานของคุณแม่ยืดออก ยิ่งใช้เวลาคลอดนานกว่าปกติจะเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้สูง เมื่อไอ จาม หรือหัวเราะจะทำให้ปัสสาวะเล็ดออกมาได้ แต่ภาวะนี้จะค่อย ๆ หายไปและกลับมาเป็นปกติภายใน 3 สัปดาห์
5.ผิวแตกลาย
จากการที่ท้องขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่ง 90% ของคุณแม่หลังคลอดผิวหน้าท้องจะแตกลายเป็นริ้ว มักมีสีชมพูหรือสีแดงตามสภาพผิวหนังของแต่ละคน หลังคลอดริ้วรอยจะยังคงอยู่ แต่จะค่อย ๆ จางลงตามเวลา
6.หน้าท้องย้วย
จากการตั้งครรภ์ ทำให้กล้ามเนื้อและผนังหน้าท้องขยายยืดตามการขยายตัวของมดลูก หลังคลอดความหย่อนคล้อยยังคงอยู่เหมือนผิวแตกลาย แต่ถ้าคุณแม่ออกกำลังกายต่อเนื่องอาจกลับมาเป็นปกติ
7.ตัวบวมหลังคลอด
เพราะร่างกายพยายามปรับสมดุลน้ำในร่างกาย ซึ่งจะดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หลังคลอด
8.ปัญหาอาการปวด
อาการปวดมักเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นปวดหลัง ปวดเอว ปวดเข่า ปวดข้อเท้า เพราะการแบกรับน้ำหนักตัวเองและน้ำหนักของลูกในท้องมานานตลอด 9 เดือน คุณแม่บางเคสน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากหลายสิบกิโลกรัม ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เกิดความปวดตามที่ต่าง ๆ ตามมา
9.สภาพผิวแย่ลง
สภาพผิวของคุณแม่หลังคลอดจะเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนผิวปกติ แต่หลังคลอดผิวจะดูแห้งและหยาบกร้านขึ้น หรือคล้ำลงอย่างเห็นได้ชัด บางเคสเกิดฝ้า กระ ดูผิวแก่ลง มีริ้วรอย แต่งหน้าไม่ติด ผิวไม่ค่อยรับเครื่องสำอาง รูขุมขนกว้างขึ้น ทั้งหมดนี้เกิดจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังคลอด
10.อาการอ่อนเพลีย
ความอ่อนเพลียของคุณแม่หลังคลอดเกิดจากการเลี้ยงลูกเป็นเวลานาน ทั้งกลางวันและกลางคืน และในช่วงกลางคืนหากลูกตื่นกลางดึกก็ต้องอดหลับอดนอน
11.ไม่มีอารมณ์ทางเพศ
เมื่อคุณแม่หลังคลอดต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเลี้ยงลูกตลอดทั้งวัน ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คุณแม่หลังคลอดไม่มีอารมณ์ทางเพศ และบางส่วนอาจเกิดจากการโฟกัสในเรื่องการดูแลลูกมากเกินไปจนลืมเรื่องส่วนตัว หรือเกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงทำให้ไม่มีอารมณ์ทางเพศและไม่อยากมีเพศสัมพันธ์
คุณแม่หลังคลอดมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างไร
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ในคุณแม่หลังคลอดที่พบบ่อยได้แก่
1.ภาวะเครียด ไม่ใช่แค่คุณแม่ คุณพ่อก็เครียดด้วย จากการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป พักผ่อนไม่พอ อ่อนเพลีย กังวลเรื่องการเลี้ยงลูก และอาจมีปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมอื่น ๆ มากระตุ้น ทำให้เครียดได้ง่าย
2.ภาวะเศร้าหลังคลอด (Postpartum Blue) เป็นความเครียดขั้นกว่าจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน มักเกิดขึ้นกับคุณแม่มือใหม่ที่ปรับตัวหลังคลอดได้ไม่ค่อยดี อาการจะหงุดหงิด เศร้า เสียใจ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย โดยจะเกิดขึ้นประมาณ 5 วันหลังคลอด และหายไปเองภายใน
2 สัปดาห์
3.โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) เป็นความเครียดขั้นสูงสุด อยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรง มีอาการหลากหลาย เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ร้องไห้บ่อย อ่อนไหวง่าย หงุดหงิด ความผูกพันกับลูกหายไป บางครั้งอยากทำร้ายตัวเอง ทำร้ายลูก เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้าต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยจะมีอาการตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน บางรายเป็นปี จึงควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนและเหมาะสม
คุณแม่หลังคลอดควรเพิ่มการดูแลตนเองอย่างไร
1.หลังคลอดบุตรควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อช่วยเสริมสร้างร่ายกาย และสารอาหารให้เพียงพอที่จะสร้างน้ำนมให้ลูก นอกจากนี้ การรับประทานผัก ผลไม้จะช่วยไม่ให้ท้องผูก ซึ่งส่วนมากแล้วคุณแม่จะมีอาการท้องผูก ในสัปดาห์แรกเพราะกลัวเจ็บแผล ไม่กล้าเบ่งอุจจาระ มารดาที่ให้นมบุตรควรรับประทานอาหารให้ครบถ้วน และควรดื่มน้ำ หรือนมเพิ่มมากขึ้น
2.เพิ่มการพักผ่อน เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวเร็ว เพราะการนอนหลับอย่างเพียงพอช่วยให้ร่างกายเยียวยาตัวเอง ควรได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ อย่างน้อย วันละ 6-8 ชั่วโมง โดยเฉพาะช่วง 2 สัปดาห์แรก
3.การทำความสะอาดร่างกาย คุณแม่สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ โดยการตักน้ำอาบ หรืออาบฝักบัว ไม่ควรอาบน้ำแบบแช่ในอ่างน้ำ หรือว่ายน้ำเนื่องจากปากมดลูกยังปิดไม่สนิท อาจทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในน้ำเข้าทางช่องคลอดแล้วลุกลามสู่โพรงมดลูก ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ การสระผมสามารถทำได้ตามปกติ หรือตามความเหมาะสม ภายหลังอุจจาระ หรือปัสสาวะควรล้างให้สะอาดและซับให้แห้งแล้วจึงใส่ผ้าอนามัย ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยเมื่อเปียกชุ่ม หรืออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
บทส่งท้าย
ทั้งหมดนี้คือภาวะหลังคลอดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ คุณแม่ควรสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเองอยู่เสมอ ทั้งทางร่างกายและอารมณ์ หากคุณแม่หลังคลอดคนใดมีอาการผิดปกติ หรือเป็นนานเกินไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที
เครดิตรูปภาพ www.awarenessdays.com edition.cnn.com www.unthsc.edu