บทความนี้ขอแนะนำ บทความเรื่อง น้ำคร่ำ คืออะไร มีหน้าที่สำคัญต่อคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์อย่างไร น้ำคร่ำ คืออะไร มีหน้าที่ มีประโยชน์กับทารกในครรภ์หรือเปล่า และระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองกำลังมีอาการของน้ำคร่ำรั่ว หรือน้ำคร่ำแตก ต้องเช็กอย่างไรหรือมีสัญญานเตือนแบบไหน ไปทำความรู้จักน้ำคร่ำกัน
น้ำคร่ำ คืออะไร
น้ำคร่ำ (Amniotic fluid) เริ่มมีขึ้นมาพร้อม ๆ กับการตั้งครรภ์ของคุณแม่ น้ำคร่ำในช่วงอายุครรภ์ไตรมาสแรกจะถูกสร้างขึ้นมาจากถุงแอมเนี่ยนหรือถุงการตั้งครรภ์ และเมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ไตรมาส 2 เป็นต้นไป น้ำคร่ำจะมาจากปัสสาวะของทารกในครรภ์ ส่วนประกอบในน้ำคร่ำจะมีทั้งสารโซเดียม คลอไรด์ และเหล็ก น้ำคร่ำที่ถูกสร้างขึ้นในแต่ละวันจะมีปริมาณอยู่ที่ 700-900 ซีซี
น้ำคร่ำ สีอะไร
โดยปกติแล้วน้ำคร่ำนั้นจะเป็นสีเหลืองใส หรือสีใส แต่ในบางครั้งจะพบว่าภายในน้ำคร่ำนั้นจะถูกปนไปด้วยของเหลวที่มีลักษณะเป็นสีเขียว หรือสีน้ำตาล ซึ่งนั่นคือการขับถ่ายครั้งแรกของทารกในครรภ์ที่มีการถ่ายของเสียออกมาครั้งแรก ที่เรียกว่า meconium แต่การทำงานของลำไส้ครั้งแรกของทารกจะเกิดขึ้นหลังจากการคลอดแล้ว หากทารกได้มีการขับถ่ายครั้งแรกภายในครรภ์แล้ว จะทำให้ทารกได้รับของเสียจากร่างกายของตนเองผ่านเข้าสู่ปอดโดยน้ำคร่ำอีกด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการหายใจที่รุนแรง หรือที่เรียกว่า การสำลักเมโคเนียม โดยเฉพาะของเหลวที่มีความหนืดหรือมีความเข้มข้นมาก
หน้าที่ของน้ำคร่ำคืออะไร
ในระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์นั้น ลูกน้อยของคุณก็จะเจริญเติบโตอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำ ภายในมดลูกของคุณ โดยถุงน้ำคร่ำนั้นจะเริ่มก่อตัวในช่วงประมาณ 12 วันหลังจากที่คุณตั้งครรภ์ ซึ่งน้ำคร่ำมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
– ช่วยปกป้อง และห่อหุ้มทารกในครรภ์ โดยน้ำที่อยู่ภายในจะช่วยลดแรงกระแทกจากภายนอก ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนเบาะ หรือโช้คอัพนั่นเอง
– รักษาอุณหภูมิบริเวณรอบ ๆ ตัวทารกให้คงที่ และทำให้ทารกรู้สึกอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา
– ช่วยให้ปอดของทารกเติบโต และมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เนื่องจากทารกที่อยู่ในครรภ์นั้นจะหายใจผ่านของเหลว หรือน้ำคร่ำนั่นเอง
– ช่วยให้ระบบย่อยอาหารของทารกพัฒนาการยิ่งขึ้น เพราะทารกจะกลืนของเหล่าเข้าไปขณะที่อยู่ในครรภ์
– ช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกของพวกเขาพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเคลื่อนไหวร่างกายภายในน้ำคร่ำ
– ป้องกันไม่ให้สายสะดือถูกบีบรัด เพราะถ้าหากมีการบีบรัดอาจส่งผลถึงการขนส่งอาหารและออกซิเจนจากแม่ไปยังทารก และทำให้เกิดอันตรายได้
ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ของถุงน้ำคร่ำ
ถุงน้ำคร่ำนั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เหมือนเป็นตัวกำหนดชีวิตของทารกในครรภ์เลยก็ว่าได้ ถ้าหากเกิดความผิดปกติที่ถุงน้ำคร่ำ หรือตัวน้ำคร่ำเองก็อาจส่งผลต่อทารกได้ โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นเกี่ยวกับน้ำคร่ำมีดังต่อไปนี้
1.ภาวะน้ำคร่ำมากเกินไป เป็นภาวะที่ไม่ต้องทำการรักษาหากอาการไม่รุนแรงมากนัก แต่อาจจะต้องลดของเหลวในครรภ์ด้วยการเจาะน้ำคร่ำออก หรือให้ยาเพื่อลดปริมาณปัสสาวะที่ทารกผลิตออกมา
2.ภาวะน้ำคร่ำน้อยเกินไป สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาสใดก็ได้ของการตั้งครรภ์ แต่ไตรมาสที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือช่วงของ 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และความเสี่ยงสูงที่ทารกในครรภ์นั้นจะพิการตั้งแต่กำเนิด สูญเสียทารกในครรภ์ หรือคลอดก่อนกำหนด
3.ภาวะเส้นเลือดอุดตันน้ำคร่ำ เป็นภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันและเป็นเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ สาเหตุของ AFE ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างสมบูรณ์ปัจจุบันมีการประเมินว่า AFE เกิดขึ้นในหนึ่งกรณีสำหรับการตั้งครรภ์ทุก ๆ 8,000-30,000 ครั้ง
4.ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ หรือการติดเชื้อภายในน้ำคร่ำ (IAI) มีอาการอักเสบเฉียบพลันของ amnion และ chorion ภาวะนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในเยื่อหุ้มของทารกในครรภ์ น้ำคร่ำ และรกที่ไหลจากช่องคลอดเข้าสู่มดลูก
5.น้ำคร่ำรั่ว เป็นอาการที่พบได้ยาก คุณแม่จะต้องคอยสังเกตดี ๆ ว่าเป็นน้ำคร่ำหรือว่าปัสสาวะ เพราะโอกาสที่ท้องจะไปกดทับกระเพาะปัสสาวะจนทำให้ปัสสาวะเล็ดออกมาก็เป็นได้ แต่ถ้าหากน้ำที่ไหลออกมาจากช่องคลอดนั้นไม่มีกลิ่น และไม่มีสี อาจเป็นอาการของน้ำคร่ำรั่วได้ ควรพบแพทย์ในทันที
น้ำคร่ำแตก ช่วงใกล้คลอด จะมีอาการให้เห็นช่วงไหนได้บ้าง
น้ำคร่ำแตกคือหนึ่งในสัญญาณเตือนว่าคุณแม่กำลังอยู่ในช่วงอาการใกล้คลอด คืออายุครรภ์ใน 4 สัปดาห์สุดท้าย (37-40 สัปดาห์) อาการถุงน้ำคร่ำแตกช่วงใกล้คลอด หรือเรียกว่าน้ำเดินจะมีน้ำใสไหลออกมาจากช่องคลอด พร้อมกับมดลูกเริ่มมีการหดรัดตัวเพื่อดันให้ศีรษะของทารกลงไปอยู่ตรงบริเวณอุ้งเชิงกราน น้ำคร่ำแตกมีความเป็นไปได้ 80% ว่าคุณแม่อาจต้องได้คลอดลูกใน 12 ชั่วโมง
น้ำคร่ำแตก อาการเป็นอย่างไร
น้ำคร่ำแตกจะมีน้ำคล้ายปัสสาวะแต่สีจะใสกว่า และไม่มีกลิ่นออกมาทางช่องคลอดของคุณแม่ ลักษณะการไหลของน้ำคร่ำที่แตก คือจะไหลเหมือนมีของหล่นโพละออกมาในทีเดียว หรือบางครั้งน้ำคร่ำแตกจะไหลออกมาช้า ๆ ก็ได้เช่นกัน
บทส่งท้าย
จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของน้ำคร่ำนั้นมีดีต่อทารกและคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก เพราะช่วยปกป้องทารกในครรภ์ ช่วยรักษาอุณหภูมิให้ทารกอบอุ่น แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นกับน้ำคร่ำของเราได้อีก ยังไงก็ขอให้คุณแม่ระวังด้วยนะคะ ถ้าหากรู้สึกผิดปกติก็ขอให้รีบเข้าพบแพทย์ทันทีนะ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน
เครดิตรูปภาพ
www.imumz.com en.wikipedia.org www.asiaone.com torontek.com completewomenscare.net