บทความนี้ขอแนะนำบทความเรื่อง ท้องแฝดหรือเปล่า สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณแม่อาจจะตั้งครรภ์ลูกแฝด การตั้งครรภ์แฝดถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับคุณแม่ที่ต้องการมีลูกแฝด ซึ่งการที่คุณจะมีลูกแฝดได้นั้นอาจจะมีความเกี่ยวกับพันธุกรรมของคนในครอบครัว หากคุณแม่ท่านไหนที่กำลังสงสัยว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์อยู่ไม่ บทความนี้มีวิธีสังเกตมาฝากกัน
ครรภ์แฝด (Multifetal Pregnancy)
ครรภ์แฝด หมายถึง การตั้งครรภ์ที่เกิดทารกในครรภ์มากกว่า 1 คนขึ้นไป ได้แก่ แฝดคู่ (Twins) แฝดสาม (Triplets) แฝดสี่ (Quadruplets) เป็นต้น โดยครรภ์แฝดมีผลทำให้เพิ่มภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ทั้งต่อมารดาและทารก โดยพบว่ายิ่งจำนวนทารกมากขึ้นโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนก็ยิ่งสูงขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบอัตราการตายปริกำเนิดของแฝดสองและแฝดสาม พบว่าสูงกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยวเป็น 5 และ 10 เท่าตามลำดับ
ครรภ์แฝดมีกี่ชนิด
ครรภ์แฝดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ แฝดแท้และแฝดเทียม
1.แฝดแท้ เป็นฝาแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องของพันธุกรรม เกิดหลังจากอสุจิผสมกับไข่แล้วเกิดการแบ่งตัว จึงทำให้เกิดเป็นแฝดเพศเดียวกันและมีหน้าตาเหมือนกัน (ในกรณีที่เป็นไข่ใบเดียวกัน ไม่สามารถกำหนดได้ว่าตัวอ่อนจะเกิดการแบ่งตัวในขั้นตอนไหน)
2.แฝดเทียม แฝดคู่นี้จะเกิดจากไข่คนละฟองและอสุจิคนละตัวกัน ซึ่งเด็กที่เกิดมาอาจมีหน้าตาไม่ค่อยคล้ายกันเท่าไหร่นัก รวมทั้งอาจมีเพศที่แตกต่างกันได้ด้วย และเนื่องจากว่าเด็กเกิดจากไข่คนละฟอง เด็กจึงไม่ค่อยมีภาวะแทรกซ้อนหลังจากการเกิดเท่าไหร่
โอกาสในการท้องเด็กแฝด มีมากแค่ไหน
การที่คน ๆ หนึ่งท้องลูกแฝด ว่ากันว่าสาเหตุหลัก ๆ มาจากพันธุกรรม หากบรรพบุรุษ หรือญาติ ๆ ของเราเคยมีลูกแฝด หรือเป็นแฝดกันมาก่อน โอกาสที่เราจะมีลูกแฝดก็มีมากขึ้น นอกจากนี้ อายุของคุณแม่ ก็มีส่วนทำให้ท้องเด็กแฝดได้ด้วย หากคุณแม่มีอายุมาก และท้องมาแล้วหลายครั้ง
ก็อาจจะท้องเด็กแฝดได้ในครั้งต่อ ๆ ไป ทั้งนี้ หากทานยาคุมติดต่อกันนาน 3 ปี หรือตั้งท้องโดยการผสมเทียมหรือทำเด็กหลอดแก้ว ก็อาจทำให้มีลูกแฝดได้ด้วยเช่นกัน
สัญญาณบ่งบอกว่ากำลังมีครรภ์แฝดคืออะไร
1.ท้องลูกแฝดอาจทำให้ค่าต่างๆ ในเลือดสูงกว่าคุณแม่ท้องลูกคนเดียว
คุณแม่ท้องลูกแฝดจะมีระดับฮอร์โมน HCG หรือฮอร์โมนในการตั้งครรภ์ มีค่าสูงมากกว่าคนอื่น อยู่ที่ระดับ 200 mlU โดยคุณหมอก็จะสันนิษฐานว่าคุณแม่อาจจะตั้งครรภ์ทารกแฝดก็เป็นได้ นอกจากนี้ การตรวจหาสาร AFP ในคุณแม่ท้องแฝดก็จะพบว่ามีค่าสูงขึ้นกว่า 2 เท่าสำหรับการตั้งครรภ์ทั่วไปอีกด้วย
2.น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในระหว่างตั้งครรภ์ให้คุณลองสังเกตตัวเองว่ามีน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก เนื่องจากเป็นช่วงที่ทารกจะมีการเจริญเติบโต จึงทำให้คุณแม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็อาจเกิดมาจากการทานอาหารด้วยก็ได้
3.แพ้ท้องหนักและนาน
อาการแพ้ท้องนั้นเป็นอาการโดยทั่วไปที่สามารถพบได้ แต่อาการแพ้ท้องก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับแม่ท้องทุกคน ในส่วนของแม่ที่ตั้งท้องแฝดนั้น มีแนวโน้มที่จะมีอาการแพ้ท้องอย่างหนัก และแพ้ท้องนานกว่าปกติ เนื่องจากมีการตั้งครรภ์ตัวอ่อนสองตัว ทำให้ร่างกายมีฮอร์โมน HCG (human chorionic gonadotropin) สูง ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าว เป็นฮอร์โมนตั้งครรภ์ที่อาจทำให้คุณแม่รู้สึกคลื่นไส้ได้ตลอดเวลา อาการคลื่นไส้ อาเจียนนาน เกิดนานกว่า 14 สัปดาห์ อาจเป็นไปได้ว่าคุณแม่กำลังอุ้มท้องแฝด
4.มีขนาดครรภ์ที่ใหญ่ผิดปกติ
คุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์เดี่ยวโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเห็นหน้าท้อที่ชัดเจนในช่วง 5 เดือน แต่การตั้งครรภ์แฝดจะมีขนาดหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ท้อง 3 เดือนแต่มีขนาดหน้าท้องเท่า 5 เดือน หากเป็นแบบนี้คุณแม่สันนิษฐานได้เลยว่าอาจจะตั้งครรภ์แฝดก็ได้
5.ลูกดิ้นเร็วมากกว่าปกติ
เมื่ออายุครรภ์เริ่มมากขึ้นทารกก็จะมีการเจริญเติบโตและมีการเคลื่อนไหวไปมา แต่ในกรณีของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดนั้นหากสังเกตบ่อย ๆ จะเห็นว่าลูกในท้องมีการดิ้นที่แรงกว่าและบ่อยกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว นั่นก็เพราะว่าทารกสองคนมีการขยับตัวพร้อมกันนั่นเอง
6.หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
เมื่อเราเหนื่อย หรือทำกิจกรรมหนัก ๆ หัวใจจะเต้นเร็วกว่าปกติเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับแม่ท้อง หัวใจจะทำงานหนักขึ้น เพราะเกิดการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงลูกน้อย ยิ่งหากเป็นครรภ์แฝด หัวใจจะทำงานหนักมากยิ่งขึ้น จึงเป็นข้อสังเกตได้ว่าเป็นการตั้งครรภ์แฝด หัวใจจะเต้นเร็วกว่าปกติ จนรู้สึกตัวได้
7.มีอาการอ่อนเพลียอย่างหนัก
ช่วงระยะแรกของการตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่อาจมีการเปลี่ยนแปลงและผันผวน ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าได้ง่าย โดยเฉพาะคุณแม่ที่อุ้มท้องแฝด อาจรู้สึกว่าเหนื่อยหรือเพลียมากกว่าคนท้องโดยทั่วไป
ผลกระทบต่อตัวคุณแม่เมื่อมีครรภ์แฝด
– มักจะมีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ
– โลหิตจาง คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดมีโอกาสที่จะเป็นโรคโลหิตจางได้มากกว่าครรภ์เดี่ยวเนื่องจากร่างกายต้องหมุนเวียนไปเลี้ยงดูลูก 2 คนพร้อมๆ กัน
– ความดันโลหิตสูงและครรภ์เป็นพิษ การตั้งครรภ์แฝดครั้งแรกมีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรงมากกว่าครรภ์เดี่ยวถึง 5 เท่า
– มีน้ำคร่ำมากหรือแฝดน้ำ คือ น้ำคร่ำจะมีมากกว่า 2 ลิตร ซึ่งคนทั่วไปที่ตั้งครรภ์เดี่ยวจะพบ 1% เท่านั้น แต่ครรภ์แฝดพบได้ถึง 12% ซึ่งมากกว่าครรภ์เดี่ยวถึง 10 เท่า น้ำคร่ำมากยังมีส่วนสัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนด รกลอกตัวก่อนกำหนด และการตกเลือดหลังคลอดอีกด้วย
– ไม่สบายตัว เคลื่อนไหวลำบาก เพราะต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้น เช่น ปวดหลัง ปวดขา เดินไม่ไหว หายใจไม่อิ่ม เส้นเลือดขอด ริดสีดวงทวาร ซึ่งจะมีอัตราการเกิดได้มากกว่าคุณแม่ครรภ์เดี่ยว
บทส่งท้าย
การตั้งครรภ์ในทางการแพทย์อาจจะมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย ดังนั้นหากทราบว่าตั้งครรภ์แฝดคุณแม่ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารให้ครบห้าหมู่ และพยายามปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยและแข็งแรงของตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ด้วย
เครดิตรูปภาพ www.morulaivf.co.id parenting.firstcry.com willowwomenscenter.org