บทความนี้ขอแนะนำ “ท้องผูกในช่วงตั้งครรภ์ เรื่องใกล้ตัวที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม” คุณแม่ตั้งครรภ์แล้วท้องผูกสามารถเกิดขึ้นได้เกือบทุกคนและเกือบจะตลอดช่วงการตั้งครรภ์เลยหากคุณแม่ตั้งครรภ์แล้วท้องผูกจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ยิ่งถ้าเป็นช่วงที่ครรภ์ใหญ่แล้วยิ่งรู้สึกอึดอัดมากกว่าเดิม ดังนั้นจะมีวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เรามีข้อมูลมาฝากกัน
สาเหตุที่ทำให้ คนท้องท้องผูก
– ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนไหวได้น้อยลง อาหารเคลื่อนผ่านลำไส้ช้าลง จนอาจส่งผลให้คนท้องท้องผูกได้
– ยาและอาหารเสริม ยาหรืออาหารเสริมบางชนิดที่อาจกระตุ้นให้คนท้องท้องผูกได้ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินรวมบางชนิด ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ยาลดกรด ยาแก้ปวดบางชนิด
ท้องผูกขณะตั้งครรภ์อันตรายหรือไม่
อาการท้องผูกขณะตั้งครรภ์ไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ แต่บางครั้งอาการท้องผูกก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาอื่นๆ ที่อาจเป็นอันตรายได้หากมีอาการท้องผูกร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น ปวดท้อง ท้องผูกสลับท้องเสียอย่างต่อเนื่อง ถ่ายเป็นมูกหรือเลือด
นอกจากนี้การขับถ่ายที่ลำบากมากขึ้นจากอาการท้องผูกยังอาจทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนัก อาจมีเลือดออก และทำให้คุณแม่เกิดความรู้สึกเจ็บบริเวณทวารหนักได้ แต่ส่วนใหญ่จะดีขึ้นและหายได้เองหลังคลอดบุตร แต่หากอาการเจ็บป่วยรุนแรงมากขึ้นหรือมีเลือดออกบริเวณทวารหนักมาก ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วเพื่อความปลอดภัยของแม่และลูกในครรภ์
ท้องผูกสาเหตุที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนักของคุณแม่ตั้งครรภ์
เมื่อตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายไปเบียดเส้นเลือดดำที่ทวารหนัก จึงเป็นที่มาของริดสีดวงทวารหนัก ซึ่งมีลักษณะอาการ คือ เป็นก้อนยื่นออกมาจากทวารหนัก ขณะอุจจาระทั้งมีเลือดสดออกมาตามหลังอุจจาระรอบๆ ทวารหนักเปียกแฉะ และคัน หากมีการอักเสบจะเจ็บปวดบริเวณทวารหนักได้ และกลายเป็นปัญหาสร้างความไม่สบายใจให้คุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อหลีกเลี่ยงริดสีดวงทวารหนักได้ โดยการป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องผูก
การรักษาอาการคนท้องท้องผูก
หากคนท้องมีอาการท้องผูกรุนแรง คุณหมออาจสั่งจ่ายยาดังต่อไปนี้ด้วย
– ยาเพิ่มกากในอุจจาระ ซึ่งช่วยสร้างเนื้อและเพิ่มน้ำในอุจจาระ เพื่อให้อุจจาระสามารถเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น ยาชนิดนี้อาจไม่ได้ผลเสมอไปและอาจมีผลข้างเคียง เช่น มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องอืด เป็นตะคริว
– ยาช่วยหล่อลื่นอุจจาระ เป็นยาเคลือบอุจจาระและลำไส้เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำและทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวง่ายขึ้น การใช้ยาชนิดนี้เป็นเวลานานอาจลดการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค
– ยาที่ทำให้อุจจาระนิ่มหรืออ่อนตัว เป็นยาที่มีส่วนประกอบของน้ำมันซึ่งช่วยให้อุจจาระนิ่ม ลื่น และเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม หากคนท้องใช้ยาชนิดนี้เป็นเวลานานอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ทารกแรกเกิดมีภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
– ยาที่ช่วยดูดซึมน้ำกลับเข้ามาในลำไส้ ช่วยให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายง่ายขึ้น อาจมีผลข้างเคียง เช่น ท้องอืด ปวดท้อง
– ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ช่วยกระตุ้นเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร เพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหวเร็วขึ้น อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง ท้องอืด
อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานยารักษาอาการท้องผูกทุกชนิด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่อาจกระทบกับตนเองและทารกในครรภ์
วิธีดูแลสุขภาพป้องกันอาการท้องผูก
1.รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์มากขึ้น การเพิ่มอาหารที่มีไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหารในมื้ออาหารจะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่ายและช่วยให้อาการท้องผูกดีขึ้น ควรรับประทานไฟเบอร์ที่มาจากผัก ผลไม้ หรือธัญพืชไม่ขัดสีให้ได้อย่างน้อย 25-30 กรัมต่อวัน เช่น ลูกพรุน ฝรั่ง ผักโขม อัลมอนด์
2.ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ เพื่อช่วยให้ใยอาหารดูดซับน้ำได้ดี ทำให้อุจจาระพองตัว นุ่ม และเบ่งออกได้ง่าย รวมไปถึงลดการอุดตันของลำไส้ ป้องกันอาการท้องอืด จากการรับประทานใยอาหารมากเกินไป และป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ เมื่อร่างกายขาดน้ำ ลำไส้จะมีการดูดน้ำจากอุจจาระที่ตกค้างกลับเข้าสู่ร่างกาย ทำให้อุจจาระแข็ง ถ่ายออกลำบาก
3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ คุณแม่ที่ออกกำลังกายน้อยจะยิ่งเสี่ยงต่ออาการท้องผูกได้ ดังนั้นแม้จะตั้งครรภ์ก็ควรหมั่นออกกำลังกายเบา ๆ ด้วยการเดิน ว่ายน้ำ โยคะ หรือออกกำลังกายตามความเหมาะสมภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 20-30 นาที เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบลำไส้
4.ปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้อาหารเสริมธาตุเหล็ก เนื่องจากการรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการท้องผูกได้ในคุณแม่ที่มีอาการท้องผูกมาก การปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนปริมาณยาธาตุเหล็ก และเน้นการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงอย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดอาการท้องผูกได้
5. คุณแม่ตั้งครรภ์ควรออกมาเดินสูดอากาศบริสุทธิ์บ้าง หรือพยายามเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันบ่อยๆ เพื่อช่วยเพิ่มการบีบตัวของลำไส้มากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อและระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติมากขึ้น
6. ปรับพฤติกรรมการขับถ่ายให้ตรงเวลา ไม่กลั้นอุจจาระเมื่อเกิดอาการปวดโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ ท่านั่งในการถ่ายอุจจาระก็สำคัญ การนั่งถ่ายบนโถส้วมชักโครกควรโค้งตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย อาจมีเก้าอี้ตัวเล็กรองบริเวณขา เพื่อชันเข่าขึ้นมาเล็กน้อย ทำให้หัวเข่าอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าสะโพก ซึ่งเป็นท่าที่ช่วยให้สะดวกต่อการขับถ่าย
7.ใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ หากท้องผูกยังไม่บรรเทาด้วยวิธีการต่าง ๆ ข้างต้น คุณแม่อาจใช้ยาบางชนิดที่มีขายตามทั่วไปตามร้านขายยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องผูก เช่น ผงไฟเบอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยในการทำงานของระบบสำไส้และทำให้อาการท้องผูกลดลง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพื่อความปลอดภัย
บทส่งท้าย
อาการท้องผูกในคุณแม่ตั้งครรภ์แม้จะไม่ส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่ก็อาจจะส่งผลเสียในด้านสุขภาพของคุณแม่ได้ด้วย ดังนั้นหากเริ่มมีอาการท้องผูกก็ให้เริ่มปรับเปลี่ยนการทานอาหาร และปฏิบัติตัวตามวิธีข้างต้นเพื่อช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นอาการท้องผูกรุนแรงจะดีกว่า
เครดิตรูปภาพ www.thehealthsite.com momlovesbest.com nouvelles.umontreal.ca www.momtricks.com www.geisinger.org