บทความนี้ขอแนะนำบทความเรื่อง วิธีสต็อกนมแม่ เก็บอย่างไรหลังจากปั๊มนม ให้ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน ไม่เสีย เก็บได้นาน น้ำนมแม่เก็บไว้ได้นานแค่ไหน น้ำนมแม่ เก็บอย่างไรดี ใช้อะไรเก็บ และข้อควรระวังเรื่องการเก็บน้ำนมแม่มีอะไรบ้าง วันนี้เรามีคำตอบของทุกข้อสงสัยที่คุณแม่ให้นมอยากรู้มาฝาก
ประโยชน์ของนมแม่ต่อลูกน้อย
• ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรค
• ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคภูมิแพ้
• ลดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ปอดบวม และโรคหืด
• ช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมอง และพัฒนาการมองเห็นให้ดีขึ้น
• ไตขับของเสียน้อยกว่า
• ลดโอกาสท้องเสีย ลำไส้อักเสบ และช่วยให้ระบบขับถ่ายดี
• ลดโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ เมื่อโตขึ้น เช่น เบาหวาน อ้วน ไขมันในเลือดสูง ความดัน
• ฟันกรามล่างแข็งแรง เกิดฟันเกน้อยลง
คุณแม่หลังคลอดที่มีความจำเป็นที่ต้องสต็อกนมไว้ให้ลูก อาจจะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 สำหรับคุณแม่ Full Time ที่เลี้ยงลูกเองเต็มเวลา อยู่กับลูกตลอดเวลา อาจจะมีช่วงที่ต้องไปทำธุระ หรือไม่ได้อยู่กับลูก คุณแม่กลุ่มนี้สามารถมีสต็อกน้ำนมไว้ได้เล็กน้อย ไม่ต้องเยอะมาก
ซึ่งคุณแม่กลุ่มนี้สามารถทำสต็อกนมแม่เก็บไว้เมื่อไหร่ก็ได้ ในช่วงที่คุณแม่สะดวก
กลุ่มที่ 2 คุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน อาจจะต้องห่างลูกวันนึง 8 ชั่วโมง,12 ชั่วโมง หรืออาจจะนานกว่านั้น แต่หลังเลิกงานก็กลับมาอยู่กับลูก
กลุ่มที่ 3 คือคุณแม่ที่ไม่ได้อยู่กับลูก ต้องไปทำงานต่างจังหวัด หรือไปทำงานต่างประเทศ และให้ลูกอยู่กับญาติ หรือคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย ซึ่งคุณแม่ในกลุ่มนี้ต้องวางแผนในการสต็อกนมแม่ให้ดี และสามารถเริ่มปั๊มนมได้ทันทีเมื่อคุณแม่พร้อม
วิธีสต็อกนมแม่ไว้ได้นาน ไร้กลิ่นเหม็นหืน
1.ปั๊มนมให้กินต่อวัน
เริ่มแรกให้คุณแม่ปั๊มนมให้ลูกวันต่อวัน ยิ่งถ้าคุณแม่มั่นใจว่าตัวเองมีน้ำนมมากพอ และคาดหวังว่าลูกจะสามารถกินนมที่สต็อกไว้ได้หมดภายใน 4 วัน ก็แนะนำให้แช่นมที่ปั๊มไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา เพื่อให้ลูกได้กินอย่างสะดวก ซึ่งนมแม่สามารถอยู่ในตู้เย็นช่องธรรมดาได้นานถึง 4 วัน
2.เอานมแช่แข็งมาไว้ในตู้เย็น 12 ชั่วโมง
ทุกครั้งที่คุณแม่นำนมที่สต็อกจากตู้แช่แข็งมาให้ลูกกิน ควรเอานมแช่แข็งมาไว้ในตู้เย็นประมาณ 12 ชั่วโมง เพื่อให้นมละลาย อีกทั้งยังสามารถเอานมที่ละลายแล้วมาใส่ขวดแล้วให้ลูกกินเย็นๆ ได้เลย วิธีนี้ไม่ทำให้ลูกน้อยเกิดอาการท้องเสียหรือปวดท้อง แถมยังไม่ทำให้นมแม่มีกลิ่นเหม็นหืนอีกด้วย
3.นมที่ละลายต้องกินให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง
โดยปกติคุณแม่ควรแบ่งปริมาณนมที่ลูกกินให้เหมาะสม เพื่อที่จะให้ลูกได้กินนมโดยไม่เหลือ เนื่องจากนมที่ละลายแล้ว จะต้องให้ลูกกินให้หมดภายในเวลา 24 ชั่วโมง หากเกินเวลากว่านั้น ไม่ควรนำกลับไปแช่ใหม่ แต่สามารถนำนมไปแช่เย็นเพื่อกินในมื้อถัดไปได้ แต่ก็แนะนำให้กินให้หมดภายใน 24 ชั่วโมงจะดีที่สุด
4.นมที่ละลายแล้วห้ามแช่แข็งใหม่
สำหรับนมที่คุณแม่นำออกมาจากช่องแช่แข็ง หากลูกดื่มไม่หมด ไม่ควรนำไปแช่แข็งใหม่ แต่ควรเททิ้งโดยไม่ต้องเสียดาย เพราะการเอานมที่ละลายแล้วไปแช่แข็งใหม่ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกน้อยได้
5.ปิดและรีดปากถุงเก็บน้ำนมให้สนิท
เมื่อคุณแม่เก็บน้ำนม ควรปิดและรีดปากถุงให้สนิท ที่สำคัญต้องให้อากาศออกมากที่สุด เพื่อให้ถุงน้ำนมมีการขยายได้เมื่อนมกลายเป็นน้ำแข็ง
6.วางถุงนมในแนวราบ เพื่อให้นมแข็งตัวเร็ว
เมื่อคุณแม่จะเก็บน้ำนมในตู้แช่แข็ง ให้วางถุงนมในแนวราบ และวางบนถาดสแตนเลส จากนั้นให้เทน้ำเย็นราดก่อนที่จะเอาไปแช่แข็ง การทำแบบนี้เพื่อให้นมแม่ที่เก็บไว้แข็งตัวได้เร็วที่สุด และยังช่วยลดกลิ่นเหม็นหืนอีกด้วย
7.สามารถเก็บนมแม่รวมกันได้ภายใน 24 ชั่วโมง
ในกรณีที่คุณแม่ปั๊มนมได้ไม่มาก สามารถเก็บนมที่ปั๊มได้ในเวลาที่ต่างกันไว้ในถุงเดียวกันได้ แต่ถ้าใส่นมในถุงเก็บนมแล้ว ให้เอาไปแช่ตู้เย็น เมื่อปั๊มนมในคราวต่อไปก็นำกลับมาใส่ในถุงเดิมได้ ทั้งนี้คุณแม่สามารถเก็บนมรวมกันได้ภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น
ระยะเวลาการเก็บรักษานมแม่
– อุณหภูมิห้อง (27-32 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 3-4 ชั่วโมง
– อุณหภูมิห้อง (16-26 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 4-8 ชั่วโมง
– กระติกน้ำแข็งที่มีน้ำแข็งตลอดเวลา (15 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 24 ชั่วโมง
– ตู้เย็นช่องธรรมดา (0-4 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 3-5 วัน และควรเก็บไว้ด้านในสุดของตู้เย็น
– ช่องแช่แข็ง ตู้เย็นแบบประตูเดียว (-15 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 2 สัปดาห์
– ช่องแช่แข็ง ตู้เย็นแบบประตูแยก (-18 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 3-6 เดือน
– ช่องแช่แข็งเย็นจัด ตู้เย็นชนิดพิเศษ (-20 องศาเซลเซียส) เก็บได้นาน 6-12 เดือน
บทส่งท้าย
สำหรับคุณแม่ที่มีความตั้งใจจะปั๊มนมเพื่อให้ลูกมีน้ำนมได้กินหลายเดือน แนะนำให้ลองใช้วิธีนี้กัน นอกจากจะสามารถรักษาน้ำนมได้ดีแล้ว ยังช่วยให้ลูกน้อยได้กินนมแม่ที่ไม่มีกลิ่นเหม็นหืนอีกด้วย
เครดิตรูปภาพ parenting.firstcry.com lansinoh.com milk-drunk.com