บทความนี้ขอแนะนำบทความเรื่อง อาการข้างเคียงหลังลูกน้อยฉีดวัคซีน ที่พ่อแม่ควรรู้และต้องเฝ้าระวัง การฉีดวัคซีน ของเด็กในช่วงวัยเเรกเกิดจนถึงช่วงอายุ 12 ปี นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อเเม่ไม่ควรละเลย เพราะการฉีดวัคซีนเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน โดยหลังจากฉีดวัคซีนเเล้วคุณพ่อคุณเเม่ควรสังเกตุอาการเบื้องต้นก่อนประมาณ 30 นาที เช่น หายใจลำบาก เพราะลูกน้อยอาจจะมีผลข้างเคียงจากวัคซีนเกิดขึ้นก็ได้ ถ้าเกิดมีอาการข้างเคียงคุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไรดี
สร้างภูมิคุ้มกันด้วย “วัคซีน” ตั้งแต่วัยแรกเกิด
การฉีดวัคซีนให้กับลูกน้อย เริ่มได้ตั้งแต่วัยแรกเกิดไปจนถึงอายุ 12 ปี โดยวัคซีนส่วนใหญ่จะผลิตมาจากเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่ถูกทำให้อ่อนแรงด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อเชื้อโรคที่อ่อนแรงจนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ถูกฉีดเข้าไป จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มขึ้นมาได้
กำหนดการฉีดวัคซีนของเด็กในแต่ละวัย
การฉีดวัคซีนในเด็กจะเป็นไปตามแบบแผนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ โดยสำนักโรคติดต่อมีการสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนได้ฟรีสำหรับเด็กทุกคนในปี 2561 จำนวน 9 ชนิด ซึ่งสามารถควบคุมโรคได้ถึง 11 โรค คือ วัคซีนวัณโรคหรือวัคซีนบีซีจี วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี วัคซีนโรคคอตีบ วัคซีนโรคไอกรน วัคซีนโรคบาดทะยัก วัคซีนโรคโปลิโอที่มีทั้งแบบชนิดรับประทานและชนิดฉีด วัคซีนโรคหัด วัคซีนโรคหัดเยอรมัน วัคซีนโรคคางทูม วัคซีนโรคไข้สมองอักเสบเจอี และวัคซีนโรคเอชพีวี นอกจากนี้ยังมีวัคซีนเสริมที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกฉีดเพิ่มเติมได้ตามคำแนะนำของแพทย์
อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนที่ต้องระวัง
อาการข้างเคียงหลัง การฉีดวัคซีนของลูกน้อย และวิธีดูแลที่ถูกวิธี หลังฉีดวัคซีนด้วยสภาพร่างกายของเด็กและชนิดของวัคซีนที่ได้รับ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนนั้นมีดังต่อไปนี้
1.ตุ่มหนอง
มักเกิดจากวัคซีนป้องกันวัณโรค หรือ บีซีจี (BCG) ที่ฉีดบริเวณสะโพกซ้าย ตุ่มหนองมักจะเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน ไปแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์ และจะพองๆ ยุบๆ อยู่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็จะหายไปเองแต่ต้องระวังรักษาความสะอาดอย่าให้ตุ่มหนองเกิดการติดเชื้อ ถ้าพบว่าต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงที่ฉีดวัคซีนบีซีจี อักเสบโตขึ้นหรือเป็นฝีให้มาพบแพทย์เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม
2.อาการปวด บวม แดงร้อน บริเวณที่ฉีดวัคซีน
เด็กอาจจะร้องกวนงอแงได้ ถ้ามีอาการปวดบวมให้ใช้เจลเย็น หรือผ้าชุบน้ำเย็นประคบบริเวณที่ปวดให้ทำทันที และรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตตามอลร่วมด้วยตามคำสั่งแพทย์จะช่วยบรรเทาอาการได้ หลัง 24 ชั่วโมงแล้ว ถ้าอาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้นให้มาปรึกษาแพทย์
3.อาการไข้ ตัวร้อน
มักเกิดในวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ซึ่งฉีดเมื่ออายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 18 เดือน และ 4 ปี ผู้ปกครองควรช่วยเช็ดตัวเด็กด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาดๆ พักผ้าตามซอกคอ, ข้อพับต่างๆ และอาจให้รับประทานยาตามคำสั่งแพทย์ร่วมด้วย แต่ถ้ามีอาการไข้เกินกว่า 2 วัน ควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจซ้ำ
4.ผื่นขึ้น
เกิดจากเชื้อที่อยู่ในวัคซีน เช่น หัดเยอรมัน อีสุกอีใส อาจเกิดขึ้นหลังจากฉีดไปแล้ว 5-7 วัน รวมอาการมีไข้ด้วย แต่หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ก็จะหายไปเอง หรือเด็กบางคนอาจจะมีอาการแพ้รุนแรง โดยจะมีอาการบวมรอบตา รอบคอ หายใจไม่ออก ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ในทันทีนะ
5.อาการชัก
สาเหตุของการชักมักไม่ได้เกิดจากผลของวัคซีนโดยตรง แต่มักจะเกิดจากการที่มีไข้สูงหลังฉีดวัคซีน วิธีป้องกันคือหลังจากฉีดวัคซีนแล้วผู้ปกครองต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีไข้ต้องเช็ดตัวลดไข้/รับประทานยา อย่าปล่อยให้ไข้สูงเพราะจะทำให้เกิดอาการชักได้
: วิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกมีอาการชัก ให้จับเด็กนอนหันหน้าไปด้านข้าง เพื่อป้องกันการสำลัก เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายและไม่ควรนำสิ่งของ เช่น ช้อน, นิ้วมือ ใส่เข้าไปในปากเด็ก เพราะจะยิ่งทำให้สำลักและรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลทันทีและที่สำคัญเมื่อพาเด็กไปฉีดวัคซีนครั้งต่อไป ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าเด็กมีอาการชักหลังจากฉีดวัคซีน
การดูแลลูกหลังฉีดวัคซีนแล้วมีไข้
1. คุณพ่อคุณแม่ควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัด เพราะจะทำให้หลอดเลือดตีบและระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ยาก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการหนาวสั่นได้ ควรป้อนยาลดไข้ทันทีเมื่อมีไข้ร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้ ยาลดไข้จะออกฤทธิ์ลดไข้หลังรับประทานยา 30 นาทีและออกฤทธิ์สูงสุด 1 ชั่วโมง คงสภาพได้ 4 ชั่วโมง ดังนั้นหากไข้สูงระหว่างมื้อยา ให้เช็ดตัวลดไข้ หากมีอาการหนาวสั่นควรให้ความอบอุ่นก่อนแล้วจึงเช็ดตัว
2. ให้ลูกดื่มน้ำมากๆ ควรเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำผลไม้ กระตุ้นให้ดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปจากพิษไข้
3. ใส่เสื้อผ้าโปร่ง สวมใส่สบาย ประเภทผ้าฝ้าย ไม่ควรใส่เสื้อผ้ายืดเพราะไม่ระบายความร้อน ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหนาหรือห่มผ้าหนา ๆ
4. อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
5. คุณแม่ควรดูแลวัดไข้ซ้ำทุก ๆ 4ชั่วโมง เพื่อป้องกันไข้กลับเป็นซ้ำ หากมีไข้อีกแนะนำให้ทำตามเดิม เน้นการเช็ดตัวลดไข้ หากคุณแม่ละเลยลูกอาจชักจากภาวะไข้สูงได้
บทส่งท้าย
ดังนั้นหลังการฉีดวัคซีนไม่ว่าลูกจะมีอาการอะไรเกิดขึ้นก็ตาม หากปฏิบัติตามคำแนะนำด้านบนแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อจะได้ตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป
เครดิตรูปภาพ