บทความนี้ขอแนะนำ “โรคไข้เลือดออก ภัยเงียบของลูกน้อยจากยุงลายตัวร้าย” เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ภัยร้ายอีกหนึ่งอย่างที่มาพร้อมกับฝนก็คือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งถือว่าเป็นชนิดหนึ่งที่ร้ายแรงเอาเรื่องเหมือนกัน เพราะอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ และเป็นโรคจากสัตว์ตัวเล็ก ๆ ยุงลายนั้นมีความไวอยู่มาก บางครั้งเมื่อกัดเราแล้ว เรายังตบยุงไม่ทันเลยด้วยซ้ำก็บินหนีไปเสียแล้ว แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวรับมือให้ดี ลูกน้อยของเราก็จะปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกได้
ไข้เลือดออก
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี (dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เดงกี 1, 2, 3 และ 4 โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งยุงลายนั้นจะเกิดมากจากสถานที่ที่เป็นแหล่งน้ำขัง น้ำเสีย ซึ่งส่วนใหญ่จะพบอย่างมากในฤดูฝน ดังนั้นเมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ที่ต่อมน้ำลายไปกัดคน เท่ากับว่าคนคนนั้นรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปเต็ม ๆ และจะมีอาการไข้ประมาณ 2-7 วัน ซึ่งถ้าหากตัวที่มีเชื้อไวรัสยังไม่ถูกฆ่าตาย ก็ยังจะสามารถไปกัดคนอื่น ๆ ต่อไปได้อีกเรื่อย ๆ
วิธีสังเกตอาการไข้เลือดออก
1.มีไข้สูง 38-40 องศา เป็นเวลาติดตามกันนานกว่า 3-7 วัน ทานยาลดไข้และเช็ดตัวไข้ก็ยังไม่ลดลง
2.มีอาการหนาวสั่น
3.ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามลำตัว
4.อ่อนเพลีย ซึมลง ไม่มีแรงอยากนอนอย่างเดียว
5.เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
6.เริ่มมีผื่นแดงขึ้นตามลำตัว ข้อพับ แขนและขา
อาการของไข้เลือดออก แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
1.ระยะแรก (ระยะไข้สูง) เมื่อเริ่มเป็นจะมีอาการไข้สูงถึง 38-40 องศาเซลเซียส แม้ว่าจะทานยาลดไข้ เช็ดตัวแล้วอาการไข้ก็ยังไม่ลด และจะมีไข้อยู่ 2-7 วัน มีอาการหนาวสั่น เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามลำตัว แขน ขา มีผื่นขึ้นตามร่างกาย มีอาการซึม อ่อนเพลีย คลื่นไส้ หากเกิดอาการที่กล่าวมานั้นควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ทันท่วงทีดีกว่า
2.ระยะวิกฤติ (ระยะ 3 วันอันตราย อาจเสี่ยงกับอาการช็อคได้) อาการนี้จะเกิดในช่วง 3-6 วัน หลังจากที่มีอาการไข้สูงมาสักระยะแล้ว แต่ไข้ก็จะเริ่มลดลงแล้ว แต่ก็จะมีอาการอ่อนเพลียมากขึ้น และซึมมากขึ้น อยากจะนอนหลับอย่างดี ไม่มีเรี่ยวแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัวมากขึ้น รวมถึงมีอาการปวดท้อง ท้องอืด และในกรณีที่อาการรุนแรงมากอาจจะถึงขั้นช็อคและหมดสติได้
3.ระยะฟื้นตัว เป็นระยะที่ไข้ลดลงแล้ว อาการเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ ชีพจรและความดันโลหิตคงที่มากขึ้น การไหลเวียนของโลหิตค่อย ๆ ดีขึ้นและกลับสู่สภาวะปกติ การปัสสาวะเริ่มดีขึ้น อยากทานอาหารมากขึ้น ร่างกายเริ่มฟื้นตัวขึ้น เริ่มมีแรง มีพละกำลังมากขึ้น สดใสมากขึ้น แต่บางรายอาจจะมีอาการคันตามตัว ตาแขน ตามขา ตามฝ่ามือร่วมด้วย
การตรวจวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก
นอกจากแพทย์นั้นจะซักประวัติอาการ และอาการแสดงแล้ว จะมีการตรวจด้วยการวินิจฉัยโรคด้วยห้องปฏิบัติเข้ามาร่วมด้วยเช่น เจาะเลือดเพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติเม็ดเลือดขาว ความเข้มข้นเลือดและจำนวนเกล็ดเลือด
วิธีการรักษา
1.หากในช่วงระยะเวลา 3 วัน ไข้ยังไม่ลด คุณหมอจะเจาะเลือดเพื่อดูเกล็ดเลือดว่าเข้าข่ายการเป็นไข้เลือดออกหรือไม่
2.ทานยาลดไข้ เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นตามร่างกาย เพื่อให้ไข้ลด เพื่อป้องกันการเกิดไข้ขึ้นสูงจนช็อค
3.ทานยาตามอาการ เช่น ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน (แต่ยานั้นต้องได้รับจากแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยาทานเอง)
4.ไม่ควรรับประทานยาแอสไพรินและยากลุ่ม NSAID เด็ดขาดเพราะอาจทำให้เลือดออกง่ายและมากขึ้น
5.ดื่มน้ำเกลือแร่ ดื่มน้ำผลไม้ หรือพยายามจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำในร่างกาย ทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีแดง สีดำ เพราะถ้ามีอาการอาเจียนจะทำให้การวินิจฉัยของแพทย์ซับซนได้
6.หากอาการหนักควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ทันท่วงที ป้องกันการเกิดอาการช็อค
7.ในบางรายที่คุณหมอแนะนำให้รักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ได้รับน้ำเหลือเข้าสู่เส้นเลือดด้วย และรักษาตามอาการ
วิธีป้องกันลูกจากยุงลาย
1.เวลากลางวันควรอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อยู่ในที่มืด
2.นอนกางมุ้ง
3.เวลากลางคืนควรอยู่ในบ้าน ปิดประตู หน้าต่าง เพื่อป้องกันยุงลาย
4.สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพราะยุงนั้นสามารถกัดเจาะเสื้อผ้าเข้าไปถึงผิวหนังภายใต้เสื้อผ้าได้
5.ใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงจากธรรมชาติ เช่น ตะไคร้หอม การบูร
6.กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น ภาชนะที่มีน้ำขังให้เททิ้งและคว่ำภาชนะ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำดื่มน้ำใช้ให้มิดชิด
7.เลี้ยงปลาสำหรับกินลูกน้ำยุงลาย เช่น ปลาหางนกยูง
บทส่งท้าย
โรคไข้เลือดออกถือว่าเป็นภัยใกล้ตัว ที่ไม่ใช่เฉพาะเด็กเท่านั้นที่เป็น ผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นไข้เลือดออกได้เหมือนกัน ฉะนั้นก็ควรอยู่ให้ห่างจากสถานที่มืดชื้น หรือมีน้ำขัง และคอยสังเกตอาการของลูกให้ดีว่า ถ้าหากเขา เริ่มมีไข้ตัวร้อน คลื่นไส้อาเจียน ควรรีบพาไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ จะดีกว่า จะได้รักษาได้ทันท่วงที และห้ามซื้อยารับประทานเองเด็ดขาด คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรชะล่าใจเมื่อลูกเริ่มป่วย เพราะบางทีอาจจะช้าไม่ทันการก็ได้
เครดิตรูปภาพ