บทความนี้ขอแนะนำ “คนท้องเดินทางไกลได้ไหมอันตรายหรือเปล่า คนท้องเดินทางได้จนถึงกี่เดือน” คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ชอบการท่องเที่ยวและการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ อาจจะมีข้อสงสัยว่าตัวเองจะสามารถเดินทางไกล ๆ ได้ไหม นั่งรถนาน ๆ นั่งเครื่องบินได้ไหม คนท้องเดินทางได้จนถึงกี่เดือน คำถามนี้คงผุดขึ้นอยู่ในใจ บทความนี้มีข้อมูลมาฝากกัน
คนท้องเดินทางไกลได้ไหม การเดินทางของคนท้องในแต่ละช่วงอายุครรภ์
โดยปกติแล้วไม่มีข้อห้ามในการเดินทางสำหรับคนท้อง แต่สำหรับการเดินทางในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์นั้น อาจเป็นช่วงที่ค่อนข้างลำบากเล็กน้อยสำหรับคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องในช่วงระยะแรก ๆ เพราะอาจเกิดอาการอ่อนเพลีย หน้ามืดได้ง่าย ทั้งยังเป็นช่วงที่ไม่ควรเดินทางไกลเป็นเวลานาน ๆ เพราะอาจเสี่ยงต่อการแท้งได้ เพราะในช่วง 3 เดือนแรกนั้น ตัวอ่อนยังฝังตัวกับผนังมดลูกไม่แน่น เมื่อเดินทางไกลหรือได้รับแรงกระแทกจากการเดินทางก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาดังกล่าว
ส่วนการเดินทางในช่วงไตรมาสที่ 2 หรืออายุครรภ์ประมาณ 4-6 เดือนนั้น นับว่าเป็นระยะที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับคุณแม่ เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายปรับสภาพกับการตั้งครรภ์ได้แล้ว คุณแม่สามารถเดินทางระยะไกลได้ แต่หากต้องเดินทางในช่วงไตรมาสที่ 3 หรืออายุครรภ์ 7-9 เดือนจนถึงก่อนคลอดนั้น ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไกล และแนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทางทุกครั้ง เพราะอาจมีการคลอดก่อนกำหนดได้ แต่หากเป็นการเดินทางระยะใกล้ ๆ จากบ้านไปที่ทำงานหรือร้านค้า ก็สามารถทำได้ แต่ควรเลือกประเภทการเดินทางที่เหมาะสม เช่น รถยนต์ เป็นต้น
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนการเดินทางสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
– การเดินทางในครั้งนั้น ๆ จะต้องมีความปลอดภัยต่อครรภ์ของคุณ ไม่ผาดโผน การเดินทางไม่ขรุขระ หรือเกิดการสะเทือนมากจนเกินไป
– สำหรับคุณแม่ท้องอ่อน หรือคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องของปากมดลูก ต้องมั่นใจว่าสุขภาพของคุณพร้อมกับการเดินทางในครั้งนี้ เพราะหากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำ อาจจะทำให้คุณแม่เกิดอาการแท้งลูกได้ ในช่วงของการเดินทาง
– คุณควรจะต้องมีเพื่อนร่วมเดินทาง ที่สามารถดูแลคุณได้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากร่างกายของคุณอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหัน ไม่ว่าจะเป็นอาการหน้ามืด อาการกระตุก อาการเหนื่อยหอบ โดยเฉพาะหากคุณจะต้องเป็นผู้ขับขี่ยานพาหนะด้วยตัวของคุณเอง จำเป็นจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
– งดเว้นการเดินทางไกล ๆ โดยเฉพาะเส้นทางที่ต้องใช้การเดินทางติดต่อกันหลายชั่วโมง เพราะอาจทำให้คุณแม่อึดอัดและไม่สบายตัวสำหรับการเดินทาง หากจำเป็นจริงๆ ควรหยุดพักเป็นระยะทุกๆ 2 ชั่วโมงเพื่อยืดเส้นยืดสาย
การเดินทางของคนท้องบนยานพาหนะประเภทต่าง ๆ
1.รถยนต์ส่วนตัว
หากคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเดินทางด้วยรถยนต์ ควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง โดยรัดเข็มขัดให้สายล่างอยู่ต้นขา และสายบนพาดคล้องผ่านไหล่ พร้อมกับเลื่อนที่นั่งปรับเบาะพิงหลังให้รู้สึกสบาย อาจเตรียมหมอนอิงสําหรับหนุนหลังและหมอนรองคอ หากเดินทางไกลอาจเกิดความ ปวดเมื่อยได้ แนะนำว่าควรหยุดพักทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อเข้าห้องน้ำและยืดเส้นยืดสาย
2.รถโดยสารประจำทาง
ในกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องโดยสารรถประจำทางหรือใช้บริการขนส่งมวลชนเพื่อเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ นั้น ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ควรหลีกเลี่ยงรถที่มีคนหนาแน่น เพราะอาจถูกชนและกระแทกได้ โดยเฉพาะรถเมล์หรือรถไฟฟ้าที่มีคนเยอะ ๆ โดยควรระมัดระวังเวลาขึ้นลงบันไดหรือเดินเข้าออกจากตัวรถ ช่วงเวลาที่รถเบรกและออกตัว
3.รถมอเตอร์ไซค์
คุณแม่ตั้งครรภ์หลาย ๆ คนมีความจำเป็นต้องใช้รถมอเตอร์ไซค์ในการเดินทาง ซึ่งในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรก สามารถนั่งซ้อนท้ายหรือขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้โดยปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ขรุขระ หรือที่ที่ต้องเกิดการกระแทก เพราะอาจเกิดการแท้งได้ แต่ถ้าอายุครรภ์ตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยง เพราะท้องของคุณแม่เริ่มโตขึ้น จะทำให้นั่งทรงตัวได้ลำบาก แต่หากมีความจำเป็นจริง ๆ ควรสวมหมวกกันน็อคด้วยทุกครั้ง
4.เรือ
แนะนำว่าควรเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่มากกว่าการเดินทางด้วยเรือขนาดเล็ก เช่น เรือหางยาวหรือเรือเร็วที่มีแรงกระแทกสูง แต่ทั้งนี้การเดินทางด้วยเรือค่อนข้างมีความเสี่ยงและเกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุได้ง่าย โดยเฉพาะทางขึ้น-ทางลง เพราะพื้นเรืออาจเปียกและทำให้ลื่นได้ คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรระมัดระวังให้มาก หากไม่ชำนาญหรือมีอาการเมาเรือง่ายก็ควรหลีกเลี่ยง
5.รถไฟ
การเดินทางด้วยรถไฟไม่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่เพิ่งตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก เพราะรถไฟมีแรงกระแทกค่อนข้างสูง จึงอาจเสี่ยงต่อการแท้งได้ แต่หากตั้งครรภ์ในช่วง 4-6 เดือน ก็สามารถขึ้นรถไฟได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องดูแลตัวเองให้มาก ๆ โดยหลีกเลี่ยงตู้รถไฟที่มี คนเยอะ ๆ และควรเลือกที่นั่งริมทางเดินที่สามารถเข้าออกได้สะดวก
6.เครื่องบิน
ในการเดินทางด้วยเครื่องบินนั้น สำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 28 สัปดาห์ สามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้โดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ แต่ถ้ามีอายุครรภ์ 29 สัปดาห์ขึ้นไป ต้องมีใบรับรองแพทย์และเอกสารแจ้งการตั้งครรภ์ ส่วนคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 35 สัปดาห์ หรือ 7 เดือนขึ้นไปห้ามขึ้นเครื่องบินโดยเด็ดขาด เพราะอาจมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้
การเตรียมตัวเพื่อการเดินทาง เมื่อคุณตั้งครรภ์
– ทานอาหารเบา ๆ ก่อนการเดินทาง จะช่วยลดความเสี่ยงของอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือความรู้สึกไม่สบายในช่วงของการเดินทางได้
– เตรียมอุปกรณ์ในการเดินทาง การเตรียมเอกสารการตั้งครรภ์ ใบสั่งแพทย์ ยาประจำตัว ขนมเพื่อสุขภาพ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ จำเป็นอย่างมากในการเดินทาง ทั้งนี้ เผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
– รักษาความชุ่มชื้นให้ตนเองเสมอ ด้วยการดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น และคลายร้อน
– สวมเสื้อผ้าที่เบาสบาย จะทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย และไม่รู้สึกเครียดเมื่อต้องใช้เวลานานในการเดินทาง
– สุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากคนตั้งครรภ์ มักจะเข้าห้องน้ำบ่อย จึงมักจะประสบปัญหาของการต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะ จึงจำเป็นต้องพกเจลล้างมือ สเปรย์ฆ่าเชื้อ ทิชชู่เปียก ขณะเดินทาง
บทส่งท้าย
การเดินทางระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่คนท้องทุกคนสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องดูให้เหมาะสมกับประเภทการเดินทางและอายุครรภ์ของคุณแม่ ยิ่งหากเป็นการเดินทางไกลด้วยแล้วก็ควรเตรียมเสบียงอาหารหรือยารักษาโรคไปด้วยเผื่อในกรณีฉุกเฉิน ก่อนการเดินทางก็ควรเช็คสุขภาพร่างกายของคุณแม่พร้อมจะเดินทางไกลไหมเพื่อความปลอดภัย
เครดิตรูปภาพ www.mountelizabeth.com.sg www.momjunction.com www.cruisecritic.com.au www.cloudninecare.com