บทความนี้ขอแนะนำ “อย่าปล่อยให้ลูกต้องทรมานกับอาการหอบ หืด วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น และการรับมือที่ถูกต้อง” อาการหอบหืดในเด็ก โรคร้ายใกล้ตัวลูกน้อย ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม บางครั้งลักษณะอาการเช่นนี้อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่คิดว่าเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย แต่หากปล่อยปละละเลยทิ้งเอาไว้นานเด็กๆ ก็มีโอกาสเป็น “หอบหืดเรื้อรัง” แทนที่จะรักษาหายได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
เข้าใจอาการหอบ หืด
เด็กที่เป็นหอบ หืด หลอดลมจะไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ เช่น เมื่อไหร่ที่เจอสารที่แพ้ อย่างฝุ่นละออง ขนสัตว์ หลอดลมจะเกิดการเกร็งตัวและหดเล็กลง แต่เยื่อบุข้างในจะบวมขึ้นและมีเมือกเหนียว ๆ ซึ่งทำให้หลอดลมที่หดเกร็งนั้นเล็กลงไปอีกสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเด็ก ๆ จะเริ่มหายใจยากขึ้น ทำให้ต้องหายใจถี่ ๆ ถ้าบางคนที่มีอาการค่อนข้างหนักก็จะทำให้ขาดออกซิเจน และอาการจะดีขึ้นเมื่ออาเจียนออกมา แต่ในบางรายอาจจะเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาที่ต้นเหตุ
โรคหอบหืดเด็ก เกิดจากอะไร
1. กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นภูมิแพ้ โอกาสที่เด็กจะเป็นโรคนี้ก็จะมีมากขึ้น
2. การติดเชื้อทางระบบหายใจ เช่น ไซนัสอักเสบหรือเป็นหวัด
3. การออกกำลังกายมาก ๆ หรือหักโหม อาจทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อย และเป็นตัวกระตุ้นให้โรคหอบหืดกำเริบได้
4. สิ่งกระตุ้นต่าง ๆ โดยการหายใจเข้าไป หรือยาที่รับประทาน เช่น ฝุ่น, ตัวไรฝุ่น, เกสรดอกไม้, ควันบุหรี่, มลพิษในอากาศ, ขนและรังแคสัตว์ เป็นต้น อีกทั้งยังอาจเกิดจากการรับประทานอาหาร เช่น ไข่, นม และอาหารทะเล เป็นต้น
5. การเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น อากาศร้อนจัด, เย็นจัด หรือฝนตก เป็นต้น
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นหอบหืด อาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต
ในเด็กอาจต้องอาศัยการสังเกตอาการ เพราะเด็กไม่สามารถบอกอาการเองได้ ทำให้ได้รับการวินิจฉัยเป็นหลอดลมอักเสบหรือปอดบวมบ่อยๆ โดยลักษณะหรืออาการที่อาจเป็นโรคหืด มีดังนี้
1.ในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี เด็กที่มีอาการ ไอ หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อยบ่อย ๆ เกิน 3 ครั้งขึ้นไป
2.ได้ยินเสียงหายใจวี๊ด
3.ไอนาน ๆ หายใจเสียงวี๊ดนาน ๆ หลังจากติดเชื้อ
4.อาการไอ หรือหายใจวี๊ด มักเป็นตอนกลางคืน หรือหลังได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น สารก่อภูมิแพ้ ออกกำลังกาย หัวเราะ ร้องไห้
5.อาการไอ หรือหายใจวี๊ด เกิดขึ้นเองโดยที่ไม่มีไข้หรือการติดเชื้อในทางเดินหายใจ
6.มีประวัติปอดติดเชื้อ หรือหลอดลมอักเสบบ่อย ๆ
7.ภายหลังจากที่ได้รับการพ่นยาขยายหลอดลมเเล้วไอลดลง
8.มีประวัติ คุณพ่อคุณแม่หรือพี่น้องเป็นโรคหืด
9.เด็กมีอาการของภูมิแพ้ เช่น ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้หรือเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือเคยทดสอบภูมิแพ้แล้วผลเป็นบวกต่อสารก่อภูมิแพ้ในอาการหรืออาหารบางชนิด
10.ในเด็กที่อายุมากกว่า 6 ปี สามารถตรวจสมรรถภาพปอดแล้วพบผลผิดปกติ
ในเด็กที่เป็นโรคหืด หากลูกมีอาการหอบ หรือหืดจับต้องทำอย่างไร
1.หากลูกน้อยมีอาการหอบในช่วงที่กำลังวิ่งเล่น หรือออกกำลังกาย ให้หยุดพักทันที โดยให้นั่งพักบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่ร้อนจนเกินไป
2.พ่นยา หรือรับประทานยาแก้หอบตามที่แพทย์สั่ง ถ้ามียาขยายหลอดลมแบบพ่นชนิดออกฤทธิ์เร็ว ให้พ่น 2 พัฟ ซ้ำได้ 3 ครั้ง ห่างกัน 20 นาที หากอาการดีขึ้นให้พ่นยาทุก 4-6 ชั่วโมง ต่ออีกประมาณ 24-48 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที
3.ให้ลูกน้อยสูดลมหายใจเข้าทางจมูก และหายใจออกทางปาก โดยค่อย ๆ เป่าลมออกจากปอดทีละน้อยให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
4.หาน้ำอุ่น ๆ ให้พวกเขาดื่ม
วิธีดูแลเมื่อลูกเป็นโรคหอบหืด
1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการหอบหืดกำเริบ เช่น ฝุ่น, ตัวไรฝุ่น, เกสรดอกไม้, ควันบุหรี่, มลพิษในอากาศ, ขนและรังแคสัตว์ เป็นต้น
2.หลีกเลี่ยงให้ลูกอยู่ในที่ร้อนจัด หรือเย็นจนเกินไป เพราะอาจทำให้อาการหอบหืดกำเริบได้
3.ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตัวลูกน้อยได้
4.ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยา หรือซื้อยามากินเองโดยเด็ดขาด
5.ผู้ปกครองควรพกยาพ่น หรือยาที่ลูกต้องกินติดตัวไว้เสมอ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้หยิบออกมาใช้ได้ทันที
6.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว และออกกำลังกายแต่พอดี เช่น ว่ายน้ำ หรือโยคะ เป็นต้น
การป้องกันการเกิดโรคหืด
– หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ สารก่อภูมิแพ้และสารอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการ
– การคลอดปกติ
– การให้นมแม่อย่างน้อยจนถึงอายุ 4-6 เดือน
– หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับป่วยเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อในช่วงอายุ 1 ปีแรก
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ สารระคายเคือง โดยเฉพาะควันบุหรี่
บทส่งท้าย
หากคุณพ่อคุณแม่ทราบแน่ชัดแล้วว่าลูกมีอาการเป็นหอบ หืด ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้อาการหอบ หืด กำเริบได้ ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ถ้าปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ได้ดี อาจจะหายขาด หรืออาการอาจจะบรรเทาลงได้ หากลูกมีอาการเข้าข่ายให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย จะได้หาวิธีป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ จะดีกว่า
เครดิตรูปภาพ www.yourhealth.net.au www.sunwaymedical.com