บทความนี้ขอแนะนำ “เด็กเล็กกินปลาได้ไหม และปลาชนิดไหนบ้างที่เด็กเล็กทานได้บ้าง” คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คน คงจะกังวล เมื่อลูกเริ่มรับประทานอาหารที่หลากหลายมากขึ้น ลูกจะแพ้หรือเปล่า อาหารชนิดนี้จะเริ่มทานตอนไหน จะเป็นอันตราย หรือมีสารปนเปื้อนหรือไม่ ยิ่งเป็นอาหารทะเลแล้ว ยิ่งกังวลเข้าไปใหญ่ และปลา ถือเป็นแหล่งอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ เพราะนอกจากจะให้โปรตีนที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตแล้ว ยังมีโอเมก้า 3 ที่สำคัญต่อสมองและการมองเห็นอีกด้วย เมื่อทารกทานปลาจะดีแค่ไหน และทานปลาชนิดไหนได้บ้างบทความนี้มีคำตอบมาฝากกัน
เด็กเล็กกินปลาได้ไหม
จะเห็นได้ว่าการให้อาหารเสริมกับลูกน้อยนั้น ควรมีความหลากหลาย และปลา (ทั้งปลาน้ำจืดและปลาทะเล) ก็เป็นอีกเมนูหนึ่ง ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของทารก แต่เรามักจะได้ยินมาว่าไม่ควรทานอาหารทะเลก่อนอายุ 1 ขวบ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดการแพ้อาหารได้ ซึ่งในต่างประเทศนั้น มีงานวิจัยว่า เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย ทารกสามารถทานปลาทะเลและปลาน้ำจืดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป
ปลามีประโยชน์ต่อทารกอย่างไร
แม้ว่าอาหารหลักของทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีนั้นยังคงเป็นนมแม่อยู่ แต่การได้รับอาหารเสริมหลังอายุ 6 เดือนแล้ว อาหารเสริมจะเป็นตัวช่วยรองมาจากนมแม่ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอต่อร่างกาย และหลากหลายมากขึ้น ซึ่งในปลาอุดมไปสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้
1.วิตามินดีและธาตุเหล็ก วิตามินดีมีความสำคัญต่อกระดูกที่แข็งแรงและการพัฒนาสมอง และธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุสำคัญที่มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายหลายอย่าง รวมถึงการลำเลียงออกซิเจน เนื่องจากวิตามินดีและธาตุเหล็กที่มีอยู่ในนมแม่นั้นเริ่มไม่เพียงพอสำหรับเด็กทารกวัย 6 เดือนขึ้นไปแล้ว การเสริมอาหารเสริมให้ลูกน้อยโดยเน้นให้ทานอาหารที่มีวิตามินดีและธาตุเหล็กสูงจึงเป็นสิ่งที่ควรแนะนำ
2.โปรตีน ปลายังเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยม ซึ่งโปรตีนเป็นสารอาหารสำคัญที่สร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อในร่างกาย ช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง ในปลายังมีสังกะสีในปริมาณที่ดีต่อสุขภาพ สังกะสีเป็นแร่ธาตุอีกชนิดหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงและการเจริญเติบโตของเซลล์
3.กรดไขมันโอเมก้า 3 ปลาบางชนิดมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการสำหรับทั้งทารกและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กทารก กรดไขมันโอเมก้า 3 มีความสำคัญต่อการทำงานของสมอง ดวงตา และภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง อีกด้วย
4.วิตามินบี 12 และไอโอดีน เป็นสารอาหารอีก 2 ชนิดที่พบในปลาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสมองที่แข็งแรงและเซลล์เม็ดเลือดแดงในทารก
อยากให้ลูกน้อยเริ่มทานปลาควรทำอย่างไร
เมื่อเริ่มต้นให้ลูกน้อยทานปลาให้คุณพ่อคุณแม่ปรุงให้ปลาสุก เสียก่อน จากนั้นนำมาบดหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ลูกน้อยเคี้ยวสะดวก โดยอาจจะเสิร์ฟพร้อมกับผักไปด้วยเพื่อสารอาหารที่ครบถ้วน เมื่อทดลองให้ลูกทานปลาแล้วให้สังเกตว่าลูกน้อยมีอาการแพ้ปลาหรือไม่ โดยหากมีอาการแพ้ลูกน้อยจะมีผื่น ท้องเสีย อาเจียน มีอาการบวม หรือมีอาการหายใจลำบากทันทีที่ทาน ซึ่งหากลูกน้อยมีอาการเหล่านี้ให้พาไปพบคุณหมอโดยด่วน
ซึ่งถ้าหากลูกไม่มีอาการแพ้ การให้ลูกทานปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งก็จะช่วยให้ลูกมีเชาวน์ปัญญาที่ดีกว่าเด็กที่ไม่ทานปลา หรือทานน้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ก่อนจะให้ลูกทานปลาก็อย่าลืมว่าจะต้องปรุงให้ปลาสุกก่อนเท่านั้น
ควรให้ลูกกินปลาอะไรดี
แม้ปลาจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทารกจะสามารถทานปลาได้ทุกชนิดได้บ่อย ๆ อย่างปลอดภัย เนื่องจากในปลาทะเลบางชนิดนั้นมีการปนเปื้อนของสารปรอท จากแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนของโลหะหนัก ยิ่งตัวใหญ่ก็จะยิ่งมีโอกาสมีสารปรอทสะสมในร่างกายสูง ปัจจุบัน มีคำแนะนำจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาแบ่งปลาออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่ม Best Choice เป็นกลุ่มของปลาที่ปลอดภัย มีการปนเปื้อนของสารปรอทต่ำ ควรทาน 2 – 3 มื้อต่อสัปดาห์ เช่น
– ปลาแซลมอน
– ปลาจวด
– ปลาทู
– ปลากะพงขาว
– ปลาดุก
– ปลาแมกเคอเรลแอตแลนติก
– ปลาจาระเม็ด
– ปลาคอด
– ปลาทูน่า
– ปลาลิ้นหมา
– ปลานิล
– ปลากระบอก
2.ปลากลุ่ม Good Choices ปลาที่ปลอดภัยรองลงมา ควรรับประทานอาทิตย์ละ 1 ครั้ง
– ปลาไน
– ปลาหิมะ
– ปลาเก๋า
– ปลาแฮลิบัต
– ปลาอีโต้มอญ
– ปลากะพงแดง
3.กลุ่ม Choices to Avoid คือปลากลุ่มที่มีการปนเปื้อนของสารปรอทสูง ควรหลีกเลี่ยง
– ปลาฉลาม
– ปลาอินทรี
– ปลากระโทงดำ
– ปลากระโทงดาบ
– ปลาไทล์ฟิชจากอ่าวเม็กซิโก
คำแนะนำการทำเมนูปลาให้เด็กทานได้ง่ายขึ้น
– ต้องใช้ปลาสดใหม่เพื่อให้เกิดกลิ่นคาวน้อยที่สุด เลือกความความใสของตาปลา เกล็ดขึ้นเงา ไม่มีหลุดลอกเป็นแผ่น เหงือกออกแดงชมพูไม่ซีด กดแล้วไม่มีรอยบุ๋มตามน้ำหนัก
– ล้างปลาให้สะอาดและขัดด้วยเกลือรึมะนาวได้เพื่อช่วยขจัดความคาว
– สามารถใช้สมุนไพรและนมสดช่วยกลบกลิ่นคาวได้ หากเด็กๆ สามารถรับกลิ่นสมุนไพรได้ก็ใช้ได้หมดทั้งใบมะกรูด ตะไคร้ ขิง ใบเตย แต่หากลูกไม่ชอบกลิ่นสมุนไพรก็สามารถใช้นมสดในการหมักได้ ซึ่งวิธีการ คือการนำชิ้นเนื้อปลานำไปแช่ทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วจึงนำไปประกอบอาหารต่อ
– เวลานำไปนึ่งหรือต้มให้สุก ควรรอให้เนื้อปลาสุกดีเสียก่อนจึงค่อยจับพลิกหรือคน เพราะไม่งั้นกลิ่นคาวก็อาจจะทำให้คลุ้งขึ้นมาได้
– ปริมาณเนื้อปลาที่เด็กอายุเกิน 6 เดือนควรได้จากการทานคือ 1 ช้อนโต๊ะต่อวัน ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นก็สามารถเพิ่มไปถึง 3 ช้อนโต๊ะได้ในช่วงวัยเกินขวบ
บทส่งท้าย
ปลาเป็นแหล่งโภชนาการที่ดีสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพราะอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาสมองและระบบประสาทของลูกน้อย นอกจากนี้ยังมีวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น สังกะสี เหล็ก และไอโอดีน เต็มไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย แล้วปลาก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดีในการทำให้ลูกได้กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย
เครดิตรูปภาพ images.newscientist.com daydaynews.cc