บทความนี้ขอแนะนำ “ทารกจะเริ่มดื่มน้ำได้เมื่อไหร่ ทารกจำเป็นต้องดื่มน้ำหรือเปล่า ?” อาจจะเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนยังสงสัยว่าทารกสามารถดื่มน้ำได้หรือไม่ จำเป็นต้องดื่มน้ำตามหรือเปล่า เพราะในสมัยยุคคุณปู่คุณย่าให้ทานน้ำ จึงเป็นข้อถกเถียงที่อาจจะไม่สามารถหาคำตอบได้ ซึ่งในบทความนี้มีคำตอบมาฝากกัน
ทารกจำเป็นต้องดื่มน้ำหรือเปล่า
เรื่องนี้องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ทารกแรกเกิดควรให้ทานแต่นมคุณแม่เพียงอย่างเดียว ยังไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำเปล่าหรือให้อาหารเสริมใด ๆ เพราะว่าในน้ำนมแม่มีส่วนผสมของน้ำอยู่ถึง 80% แล้ว ซึ่งเป็นปริมาณน้ำและสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของทารกอยู่แล้ว จึงไม่ควรให้ทารกดื่มน้ำเปล่าอีก เพราะถ้าดื่มน้ำตามอีกจะทำให้ทารกได้รับปริมาณน้ำเกินกว่ากำหนดและมากเกินไป และอาจจะส่งเสียต่อร่างกายของทารกได้ แต่ถ้ามีความคิดว่าอยากให้ทารกดื่มน้ำเปล่าเพื่อล้างปาก แนะนำให้ใช้ผ้าอ้อมสะอาดพันที่นิ้ว ชุบน้ำต้มสุกสะอาด เช็ดเหงือก ช่องปาก กระพุ้งแก้ม ให้ลูกน้อยหลังอาบน้ำก็พอ
ทารกเริ่มดื่มน้ำเปล่าได้ตอนไหน
หลังจาก 6 เดือนแรกผ่านไปนั้น คุณแม่จึงสามารถให้ลูกเริ่มดื่มน้ำเปล่าที่สะอาด ในอุณหภูมิห้องได้ แต่ก็อย่าให้มากกว่า 60 – 120 มิลลิลิตรต่อวัน และไม่กระทบกับการดื่มนมของลูก เนื่องจากการดื่มนมแม่นั้นเป็นอาหารหลักสำหรับเด็กวัยทารก ไปจนถึง 12 เดือน หลังจากนั้น เมื่อลูกอายุได้หนึ่งขวบ คุณแม่สามารถหัดให้ลูกดื่มน้ำ หรือนมจากแก้วได้ ถ้าหากลูกเริ่มทานอาหารเสริมจากนมแม่อื่น ๆ บ้างแล้ว สามารถให้ลูกจิบน้ำระหว่างมื้ออาหาร เพื่อช่วยในการขับถ่าย และลดอาการท้องผูก
ทารกดื่มน้ำอันตรายถึงชีวิตจริงหรือไม่
การป้อนน้ำให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน อาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนี้
1.มีโอกาสติดเชื้อทางเดินอาหาร
เพราะภูมิต้านทานของทารกยังน้อย จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางอาหารได้ง่าย ดังนั้นเด็กอายุต่ำกว่า 6-12 เดือน ไม่ควรกินน้ำกรอง หรือน้ำขวด โดยไม่ได้ผ่านการต้มก่อน เพราะทั้งน้ำและภาชนะที่ใส่น้ำอาจจะสะอาดไม่เพียงพอ
2.ขาดสารอาหารที่จำเป็น
เมื่อป้อนน้ำให้เด็กเล็กในปริมาณมาก มักจะทำให้เด็กกินนมแม่หรือนมผสมได้น้อยลง จึงทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อร่างกาย ถึงขั้นขาดสารอาหารได้
3.ภาวะน้ำเป็นพิษ
ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน การป้อนน้ำให้เด็กมากเกินไปจะทำให้ไตของเด็กซึ่งยังทำงานไม่เต็มที่ ไม่สามารถกรองของเหลวได้ทัน อีกทั้งอาจจะไปเจือจางความเข้มข้นของโซเดียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญของร่างกายที่ช่วยรักษาสมดุลน้ำระหว่างภายในและภายนอกเซลล์ เด็กที่ได้รับน้ำมากเกินกว่าร่างกายจะปรับสมดุลได้ อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อสมอง เกิดสมองบวมและเสียชีวิตได้
ลูกกินนมผสมน้ำได้ไหม
น้ำเปล่า ต่างจากนมผงชง หรือนมแม่ เพราะไม่มีสมดุลที่ดีของอิเล็กโทรไลท์ เช่น โซเดียม และโพแทสเซียม หากลูกดื่มน้ำเข้าไปมาก ๆ อาจทำให้ร่างกายไม่สมดุล โซเดียมต่ำเกินไป นำไปสู่ภาวะสมองบวม และเกิดอาการชักได้ในบางกรณี การเติมน้ำลงไปในนมผงมากขึ้น อาจทำให้ประหยัดนมผงไปได้มาก แต่จะทำให้ทารกได้รับน้ำมากเกินไป จนเป็นอันตรายต่อทารกได้
การป้องกันภาวะขาดน้ำในสภาพอากาศร้อน
ถ้าหากลูกมีอายุต่ำกว่า 6 เดือน และยังไม่สามารถดื่มน้ำได้ คุณแม่อาจจะให้ลูกดื่มนมแม่บ่อยมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำในร่างกาย และหากต้องให้นมบ่อย ๆ คุณแม่เองก็ต้องดื่มน้ำให้มากขึ้นกว่าเดิม ในระหว่างให้นม อาจจะใช้ผ้ารองระหว่างตัวคุณแม่กับลูก เพื่อลดการเสียดสีระหว่างผิวหนังได้ ถ้าหากผ้าอ้อมของลูกเปียกชื้นบ่อย ๆ ก็แสดงว่าลูกได้รับปริมาณน้ำอย่างเพียงพอ และไม่เสี่ยงต่อการขาดน้ำแล้ว
การให้ลูกดื่มน้ำชดเชยน้ำที่เสียไป กรณีเจ็บป่วย
ในกรณีที่ลูกอยู่ในวัยที่สามารถดื่มน้ำได้เป็นปกติแล้ว หากลูกอาเจียน หรือท้องร่วงรุนแรง เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณจะให้ลูกดื่มน้ำ เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายลูกเสียไป แต่การให้ลูกดื่มน้ำเปล่าในกรณีเช่นนี้ อาจจะทำให้ระดับโซเดียมในร่างกายของลูกลดต่ำลงก็ได้ ควรให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไปแทนที่จะให้ลูกดื่มน้ำเปล่า ซึ่งข้อนี้ต้องอยู่ในคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
ลูกสามารถดื่มน้ำอื่น ๆ ได้หรือไม่
อาหาร และเครื่องดื่มที่เข้าสู่ร่างกายของลูกในวัยทารก ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงทั้งสิ้น หากลูกอายุต่ำกว่า 12 เดือน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ลูกดื่มเครื่องดื่มอื่น ๆ เช่น น้ำผลไม้ โซดา น้ำหวานต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยิ่งไม่ควรให้ลูกดื่มไม่ว่าจะช่วงอายุเท่าไหร่ก็ตาม น้ำที่เหมาะสมกับลูกนั้นควรจะเป็นนมและน้ำเปล่าเพียงเท่านั้น
บทส่งท้าย
ในกรณีที่ลูกน้อยยังอายุไม่ถึง 6 เดือน ไม่ควรให้เขาทานน้ำเปล่าเลย เพราะมันส่งผลเสียต่อร่างกายของลูกน้อยและร้ายแรงอาจจะเสียชีวิตได้ ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรบอกปู่ย่าตายาย หรือผู้ใหญ่ให้รับรู้ถึงเรื่องด้วย เพราะโลกของเราเปลี่ยนไป เชื้อโรคร้ายก็มากขึ้น แนวทางการแพทย์ก็เปลี่ยนไป การเลี้ยงลูกในสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน เพราะบางอย่างเพียงเล็กน้อยก็อันตรายต่อเด็กทารกได้
เครดิตรูปภาพ www.parents.com www.walesonline.co.uk momlovesbest.com www.breastfeedingbasics.com
credit : slothub888s