บทความนี้ขอแนะนำบทความเรื่อง บูสเตอร์ซีท คืออะไร เหมือนคาร์ซีทไหม จำเป็นต้องใช้หรือเปล่า เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นการใช้คาร์ซีทอาจไม่พอดีสำหรับเด็กอีกต่อไป บูสเตอร์ซีท ที่ทำหน้าที่
เหมือนคาร์ซีทเลย คือเป็นเก้าอี้นิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็กแต่บูสเตอร์ซีทใช้สำหรับเด็กที่โตแล้ว จึงเป็นทางเลือกสำหรับเด็กโตที่จะช่วยเสริมความปลอดภัยได้เป็นอย่างดี แต่บูสเตอร์มีข้อดีอย่างไร และเมื่อไหร่ที่ควรให้ลูกใช้เบาะเสริมนี้ บทความนี้มีคำตอบมาฝากกัน
บูสเตอร์ซีท (Booster Seat) คืออะไร
บูสเตอร์ซีท (Booster Seat) หรือ เบาะนั่งเสริมความปลอดภัยภายในรถยนต์ นับเป็นคาร์ซีทสำหรับเด็กโตรูปแบบหนึ่งที่ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้สามารถรองรับกับสรีระร่างกายของเด็ก ช่วงอายุตั้งแต่ 3.5 – 12 ปี ได้โดยเฉพาะ เนื่องจากเด็กในช่วงวัยนี้มีพัฒนาการทางด้านการเจริญเติบโตของร่างกายที่ค่อนข้างก้าวกระโดด ซึ่งส่งผลต่อการมีรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป และการมีน้ำหนักตัวและส่วนสูงที่เพิ่มมากขึ้น จนทำให้ไม่สามารถนั่งอยู่ในคาร์ซีทสำหรับเด็กเล็ก และใช้งานสายรัดนิรภัยแบบ 5 จุด ได้อย่างพอดีเพื่อเสริมความปลอดภัยจากการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันในระหว่างการเดินทางด้วยรถยนต์ได้อย่างปลอดภัย
บูสเตอร์ซีทแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้
1.บูสเตอร์ซีทแบบมีเบาะหลัง (High Back Booster) บูสเตอร์ซีทประเภทนี้จะมีเบาะหลังสูงที่จะช่วยรองรับศีรษะของเด็ก เหมาะสำหรับรถที่ไม่มีพนักพิงศีรษะและพนักพิงต่ำ โดยจะช่วยให้ลูกนอนหลับบนรถได้อย่างสบายเพราะมีส่วนช่วยรองรับศีรษะ
2.บูสเตอร์ซีทแบบไม่มีเบาะหลัง (Backless Booster) บูสเตอร์ซีทประเภทนี้เหมาะสำหรับรถที่มีพนักพิงสูงที่ช่วยรองรับศีรษะของลูกได้ โดยบูสเตอร์ชนิดนี้จะเป็นเบาะเสริมเพียงอย่างเดียว ทำให้มีราคาถูกกว่าบูสเตอร์ซีทแบบมีเบาะหลังและสะดวกต่อการพกพามากกว่า
อายุเท่าไหร่ถึงเปลี่ยนมาใช้บูสเตอร์ซีท
ผู้เชี่ยวชาญบางท่านแนะนำว่าควรให้เด็กใช้บูสเตอร์ซีทจากการอ้างอิงตามอายุ ซึ่งอาจจะเป็นช่วง 3 – 10 ปี หรือ 4 – 8 ปี แต่ในความเป็นจริงควรพิจารณาจากส่วนสูงและน้ำหนัก เพราะบูสเตอร์ซีทเป็นคาร์ซีทเหมาะสำหรับเด็กที่มีความสูงตั้งแต่ 100 – 145 เซนติเมตร และน้ำหนัก 15 – 36 กิโลกรัม ช่วยให้ตำแหน่ง ที่นั่งของลูกอยู่ในระดับเหมาะสมกับสายเข็มขัดนิรภัยมากกว่าคาร์ซีทสำหรับเด็กเล็กหรือการนั่งบนเบาะปกติของรถยนต์
เคล็ดลับการใช้บูสเตอร์ซีทอย่างปลอดภัย
นอกเหนือจากการรู้จักบูสเตอร์ซีทแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จักเคล็ดลับการใช้บูสเตอร์ซีทที่ถูกต้อง เพื่อช่วยเสริมความปลอดภัยให้แก่เด็กและช่วยให้ลูกนั่งเบาะได้อย่างสบาย ไม่อึดอัด และไม่เป็นอันตราย โดยเคล็ดลับการใช้บูสเตอร์ซีท มีดังนี้
1. ทดสอบเบาะนั่งก่อน
วางบูสเตอร์ซีทไว้บนเบาะรถของคุณก่อน แล้วตรวจดูให้แน่ใจว่าบูสเตอร์ซีทราบไปกับเบาะรถหรือไม่ จากนั้นให้ลูกลองนั่งแล้วรัดเข็มขัดนิรภัยเพื่อดูพอดีกับตัวเด็กหรือไม่ ตรวจดูว่าลูกพิงพนักพิงได้หรือเปล่า โดยให้เข่างอที่ขอบเบาะนั่ง หากเล็กเกินไปก็จนไม่พอดีกับตัวเด็กก็อาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ ให้ลองดูว่าสายรัดพาดสะโพกลูกหรือเปล่า ไม่ได้พาดที่หน้าท้องและต้นขา รวมทั้งสายคาดนิรภัยต้องคล้องไว้ที่ไหล่ ไม่ใช่ที่คอ ต้นแขน หรือกึ่งกลางหน้าอก
2. เช็กความพร้อมของลูก
คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าลูกพร้อมนั่งบูสเตอร์ซีทแล้วหรือยัง เพราะมีคุณพ่อคุณแม่ไม่น้อยที่ชอบให้ลูกนั่งเบาะเสริมก่อนวัย ทำให้ไม่สามารถใช้งานเบาะนิรภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากปล่อยให้ลูกใช้บูสเตอร์ซีทก็อาจเป็นอันตรายแก่เขา เพราะไม่สามารถใช้สายรัดตัวได้ ยิ่งหากลูกชอบเล่นซน หรืออยู่ไม่นิ่งอยู่แล้ว ก็อาจเสี่ยงที่เข็มขัดนิรภัยหรือสายคาดไหล่จะหลุด จนทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้
3. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าบูสเตอร์ซีทอยู่ในจุดที่ถูกต้อง
โดยปกติแล้ว ตำแหน่งที่ปลอดที่สุดสำหรับเบาะรองนั่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณตรงกลางของเบาะหลัง เพื่อที่จะได้ป้องกันการชนจากด้านข้าง คุณพ่อคุณแม่จึงต้องตรวจสอบให้ดีว่าบูสเตอร์ซีท
อยู่ในจุดที่ถูกต้องหรือเปล่า แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่มีลูกสองคนก็แนะนำให้ติดตั้งบูสเตอร์ซีทบริเวณตรงกลาง และด้านซ้ายของเบาะหลัง เพื่อให้สามารถเห็นได้ว่าลูกปลอดภัยดี ไม่มีอะไรผิดปกติ
4.พยายามให้ลูกใช้บูสเตอร์ซีทเสมอ
หากลูกของคุณชอบนั่งรถไปกับปู่ย่า ตายาย หรือญาติผู้ใหญ่ แนะนำให้ซื้อบูสเตอร์ซีทแยกไว้อีกหนึ่งที่นะคะ เพื่อให้ลูกติดการนั่งเบาะนิรภัยและเคยชินกับการนั่งเบาะ รวมถึงอย่าลืมบอกให้ลูกคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่นั่งเพื่อความปลอดภัย เพียงเท่านี้ก็จะช่วยเรื่องความปลอดภัยและทำให้ลูกติดการนั่งเบาะนิรภัยเสมอ
5.ใช้คลิปหนีบเข็มขัดนิรภัย
หากบูสเตอร์ซีทมาพร้อมกับคลิปหนีบเข็มขัดนิรภัย คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกใช้คลิปหนีบเสริมด้วย และตรวจดูให้แน่ใจว่าเข็มขัดพาดผ่านลำตัวลูกอย่างถูกต้องหรือเปล่า แนะนำว่าไม่ควรใช้ตัวปรับเข็มขัดนิรภัยที่ไม่ได้มาพร้อมเบาะรองนั่งนะคะ เพราะอาจไม่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่คุณพ่อคุณแม่มีอยู่
เมื่อไหร่ที่ลูกควรเลิกใช้บูสเตอร์ซีท
– เห็นว่าลูกนั่งหลังพิงพนักได้แล้ว
– เห็นว่าลูกงอเข่าพ้นขอบเบาะได้แล้ว
– เห็นว่าลูกนั่งในท่านั่งสบายตลอดระยะเวลาในการเดินทาง
– เห็นว่าสายเข็มขัดนิรภัยด้านล่างพาดบริเวณต้นขาและสะโพกของลูกได้พอดี
– เห็นว่าสายเข็มขัดนิรภัยที่พาดหน้าอกของลูก พาดอยู่กลางบ่าพอดี ไม่พาดใกล้คอหรือใกล้แขนลูก
บทส่งท้าย
การใช้บูสเตอร์ซีทถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็ก ๆ เป็นอย่างมาก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่ทุกคนที่ใช้รถยนต์และมีเด็ก ๆ ลูกหลานโดยสารบนรถด้วยนั้น ควรให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ ตั้งแต่การเลือกคาร์ซีทหรือบูสเตอร์ซีทที่เหมาะสม กับแต่ละช่วงอายุของเด็ก ซึ่งพิจารณาได้จากน้ำหนักและส่วนสูงว่าเหมาะกับคาร์ซีทแบบไหน เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ บนท้องถนนตลอดการเดินทาง
เครดิตรูปภาพ