บทความนี้ขอแนะนำ บทความเรื่อง ธาลัสซีเมีย อันตรายแค่ไหน และจะสามารถมีลูกได้หรือเปล่า ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังวางแผนมีบุตร อาจเคยได้ยินชื่อโรคธาลัสซีเมียกันมาบ้าง ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก ซึ่งหากไม่มีการวางแผนครอบครัวให้ดีก็อาจมีโอกาสที่ลูกรักจะเป็นโรคนี้ไปด้วยเช่นกัน สำหรับคู่รักบางคู่ ที่ไม่รู้ว่าตนเองและคู่รักเป็นพาหะของ
โรคธาลัสซีเมียอยู่หรือไม่ บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้น รวมถึงไปหาคำตอบกันว่า ทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่เป็นโรคธาลัสซีเมียจะมีโอกาสมีลูกได้ไหม และควรทำอย่างไร เพื่อไม่ส่งต่อโรคนี้ไปสู่ลูกรักของเรา ติดตามได้เลย
โรคธาลัสซีเมีย คืออะไร
ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นกลุ่มโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายผลิตฮีโมโกลบินได้ไม่เพียงพอ หรือฮีโมโกลบินที่สร้างมีความผิดปกติ โดย
ฮีโมโกลบินที่ว่านี้ เป็นโปรตีนในเม็ดเลือดแดงที่มีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงร่างกาย ดังนั้นหากร่างกายผลิตฮีโมโกลบินได้ไม่เพียงพอ จะทำให้มีอาการซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย รวมถึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ภาวะโลหิตจางรุนแรง หรือภาวะหัวใจวาย ภาวะตับวาย หรือบางคนอาจเป็นโรคธาลัสซีเมียแฝง ซึ่งจะเป็นพาหะของโรคโดยไม่รู้ตัว เพราะธาลัสซีเมียแฝงจะไม่แสดงอาการและไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่จะสามารถถ่ายทอดยีนธาลัสซีเมียไปสู่ลูกน้อยที่กำลังจะเกิดได้
เป็นโรคธาลัสซีเมียสามารถมีลูกได้ไหม
ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงหากเป็นโรคธาลัสซีเมีย ก็สามารถมีลูกได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนวางแผนการตั้งครรภ์ เพื่อรับการตรวจคัดกรองของโรค และวางแผนการดูแลสุขภาพให้เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ โดยสามารถแบ่ง
โรคธาลัสซีเมียที่อาจเกิดในทารกออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่
– แอลฟ่า-ธาลัสซีเมีย (Alpha-Thalassemia)
เป็นธาลัสซีเมียชนิดที่ค่อนข้างรุนแรง สามารถก่อให้เกิดผลกระทบกับการสร้างฮีโมโกลบินและเม็ดเลือดแดงโดยตรง ทำให้เกิดภาวะซีดและภาวะบวมน้ำของทารก ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือเสียชีวิตหลังคลอดได้
– เบต้า-ธาลัสซีเมีย (Beta-Thalassemia)
เป็นธาลัสซีเมียชนิดที่มีความรุนแรงน้อยกว่าแอลฟ่าธาลัสซีเมีย โดยมักจะเริ่มมีอาการหลังคลอดไปแล้ว ทำให้มีอาการตัวเหลืองซีด ซึ่งเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของฮีโมโกลบินทำให้ต้องได้รับเลือดตั้งแต่เด็ก
ทำไมต้องตรวจหาธาลัสซีเมียก่อนแต่งงาน
ธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรมจากคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียสามารถถ่ายทอดไปยังลูกน้อยได้ ซึ่งการได้ตรวจคัดกรองก่อนแต่งงานหรือวางแผนจะมีลูกนั้น จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบว่าลูกมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ หากพบว่ามีคนใดคนหนึ่งหรือทั้งคู่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย คุณหมอก็จะสามารถวางแผนการวินิจฉัยและแนะนำการป้องกันได้อย่างเหมาะสม เพื่อวินิจฉัยว่าลูกมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคธาลัสซีเมียมากหรือน้อยแค่ไหน และตรวจวินิจฉัยอาการของโรคธาลัสซีเมียที่อาจเกิดขึ้นกับทารกว่ารุนแรงหรือไม่รุนแรง
ตรวจหาธาลัสซีเมีย มีวิธีอะไรบ้าง
1.การตรวจคัดกรอง
เป็นการตรวจเลือดเบื้องต้นเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เช็กว่าค่าความเข้มข้นของเลือด และขนาดของเม็ดเลือดแดงผิดปกติหรือไม่ เป็นการตรวจที่มีค่าใช้จ่ายน้อยและใช้ตรวจได้ในโรงพยาบาลทั่วไป มีขั้นตอนการตรวจที่ไม่ยุ่งยาก สามารถทราบผลได้ว่าเป็นพาหะธาลัสซีเมียหรือไม่ แต่ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียชนิดใด หากคุณพ่อคุณแม่ได้รับผลตรวจเป็นบวก ก็อาจต้องเข้าสู่กระบวนการ ตรวจชนิดของฮีโมโกลบิน เพื่อหาว่าเป็นพาหะธาลัสซีเมียชนิดใด
2.การตรวจชนิดของฮีโมโกลบิน
เป็นการตรวจหาฮีโมโกลบินชนิดต่าง ๆ ว่ามีชนิดใดที่ขาดไป และเพื่อแยกได้ว่าเป็นพาหะธาลัสซีเมียชนิดใด แต่การตรวจด้วยวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการตรวจคัดกรอง และสามารถตรวจได้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือโรงเรียนแพทย์
3.การตรวจ DNA
เป็นการตรวจเลือดที่มีความเฉพาะเจาะจงและใช้ขั้นตอนในการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และแพทย์ผู้ชำนาญในการตรวจ DNA ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่ได้ผลชัดเจน แม่นยำ และดีที่สุด สามารถทราบได้ถึงชนิดของพาหะธาลัสซีเมีย ความเสี่ยงของโรค และอาจคาดคะเนความรุนแรงของโรคธาลัสซีเมียที่อาจเกิดขึ้นกับทารกได้ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน
โรคธาลัสซีเมีย อันตรายไหม ส่งผลอะไรกับลูกบ้าง
1.กรณีที่คุณพ่อและคุณแม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียทั้งคู่ โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคธาลัสซีเมีย 100 เปอร์เซ็นต์
2.กรณีที่คุณพ่อและคุณแม่เป็นพาหะธาลัสซีเมียด้วยกันทั้งคู่ โอกาสที่ลูกจะเป็นปกติ 25 เปอร์เซ็นต์ โอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะธาลัสซีเมีย 50 เปอร์เซ็นต์ และโอกาสที่ลูกจะป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย
25 เปอร์เซ็นต์
3.กรณีที่คุณพ่อหรือคุณแม่คนใดคนหนึ่งเป็นพาหะธาลัสซีเมีย ส่วนอีกคนปกติ โอกาสที่ลูกจะเป็นปกติ 50 เปอร์เซ็นต์ และเป็นพาหะธาลัสซีเมีย 50 เปอร์เซ็นต์
4.กรณีที่คุณพ่อหรือคุณแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคธาลัสซีเมีย ส่วนอีกคนปกติ โอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะธาลัสซีเมีย 100 เปอร์เซ็นต์
5.กรณีที่คุณพ่อหรือคุณแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคธาลัสซีเมียส่วนอีกคนเป็นพาหะธาลัสซีเมีย โอกาสที่ลูกจะป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย 50 เปอร์เซ็นต์ และเป็นพาหะธาลัสซีเมีย 50 เปอร์เซ็นต์
ป้องกันธาลัสซีเมียได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์
หากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มียีนธาลัสซีเมียแฝง แนะนำให้รีบพาคุณสามีมาตรวจด้วย หลังจากวินิจฉัยแล้วว่าหญิงตั้งครรภ์และสามีเป็นคู่เสี่ยงต่อการมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ทั้งคู่ควรรับคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ และต้องให้ข้อมูลว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคชนิดใด มีความรุนแรงและการดำเนินโรคเป็นอย่างไร มีการรักษาอะไรบ้าง โอกาสเสี่ยงที่จะมีลูกเป็นโรคเท่าใด มีทางเลือกในการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ได้อย่างไรบ้าง อายุครรภ์ที่ตรวจได้ รวมทั้งข้อดีและข้อเสียของแต่ละวิธี และทางเลือกเมื่อทราบว่าทารกเป็นโรค ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจเลือดวิเคราะห์สารพันธุกรรมโรคธาลัสซีเมียหรือฮีโมโกลบินผิดปกติ เพื่อใช้สำหรับวินิจฉัยโรคแก่ทารกในครรภ์ต่อไป
บทส่งท้าย
การตรวจหาพาหะธาลัสซีเมียก็ยังจำเป็นอยู่ โดยเฉพาะเมื่อพ่อแม่กำลังวางแผนที่จะมีลูก ซึ่งการเข้ารับการตรวจอาจช่วยให้แพทย์ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือกับพ่อแม่ได้มากขึ้น จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียได้ดีที่สุด
เครดิตรูปภาพ
yeditepehastaneleri.com www.medclique.org www.onlymyhealth.com yougoodsar.best