บทความนี้ขอแนะนำ บทความเรื่อง มีวิธีปฏิเสธคนที่มาขออุ้มลูกของเรา ปฏิเสธอย่างไรดีให้เขาไม่เสียความรู้สึก ลูกน่ารัก ใครๆ ก็มาขออุ้ม แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักล่ะ พ่อแม่จะยอมให้อุ้มลูกได้อย่างนั้นหรือ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พ่อแม่จะไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า หรือแม่แต่ไม่อยากให้คนรู้จักมาอุ้มลูก แต่จะใช้วิธีพูดอย่างไรที่เป็นการถนอมน้ำใจ และไม่ทำร้ายจิตใจคนอื่น
ทำไมต้องปฏิเสธคนมาขออุ้มลูก
เหตุผลที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเลือกที่จะปฏิเสธคนมาขออุ้มลูก มีหลายปัจจัยมาก โดยทุกปัจจัยนั้น จะเน้นห่วงที่สุขภาพของลูก และสภาวะจิตใจของลูกด้วยเช่นกัน ซึ่งเหตุผลที่เราต้องเลือกปฏิเสธ อาจจะมีดังนี้
1.ภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่แข็งแรง เรื่องนี้สำคัญมาก ๆ เพราะเด็กเล็กมีระบบภูมิคุ้มกันที่ยังไม่แข็งแรง ลูกน้อยจึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ การสัมผัสกับคนแปลกหน้า อาจทำให้ลูกน้อยได้รับเชื้อโรคที่ไม่รู้ตัว
2.การปกป้องสิทธิส่วนบุคคล พ่อแม่มีสิทธิ์ที่จะปกป้องลูกน้อยของตนเอง การปฏิเสธคนมาขออุ้มลูก ก็เป็นการแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของ และสิทธิในการดูแลลูกอย่างใกล้ชิดที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ
3.ความไม่สะอาด เราไม่รู้เลยว่า คนที่ขออุ้มลูกอาจไม่ได้ล้างมือ อาจสูบบุหรี่ หรือมีเชื้อโรคติดมากับตัว ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกน้อยตามได้ หากปล่อยให้เขาสัมผัสลูกของเรา
4.ความปลอดภัย เด็กเล็กมักไม่อยู่นิ่งและคาดเดาไม่ได้ การให้คนอื่นอุ้มอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น ลูกอาจดิ้นหลุดมือ หรือจับแน่นเกินไปจนทำให้ลูกเจ็บได้
ไม่อยากให้คนอื่นอุ้มลูก ทำยังไงดี
คุณพ่อ คุณแม่หลายคน เกิดความกังวลทุกครั้งเมื่อต้องพาลูกน้อยวัยทารก และเด็กเล็กออกจากบ้าน กลัวว่าจะมีคนแปลกหน้ามาสัมผัส จับแก้ม จับมือ และกลัวเชื้อโรคที่อาจติดมาจากคนเหล่านั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นหวัด หรือเชื้อไวรัสอื่นๆ ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสทั่ว ๆ ไปจากคนที่มาสัมผัส ก็ทำให้เกิดอาการรุนแรงในทารกแรกเกิดได้ คุณพ่อ คุณแม่ก็อยากให้ลูกอยู่ห่างจากเชื้อโรค จะบอกคนอื่นที่มาเยี่ยมเยือนอย่างไรดี มีวิธีมาฝากกัน
1.อุ้มลูกไว้ใกล้ตัว การอุ้มลูกไว้ใกล้ตัวจะทำให้คนอื่นเข้ามาใกล้ได้ยากขึ้น เมื่อเทียบกับการให้ลูกอยู่ในรถเข็นเด็ก โดยอุ้มให้ลูกหันหน้าเข้าหาตัวมากที่สุด
2.ใช้เป้อุ้มเด็ก การใส่ลูกไว้ในเป้อุ้มเด็กจะช่วยให้คุณแม่สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวก และยังเป็นการป้องกันลูกไม่ให้ถูกคนอื่นจับต้องได้ง่าย
3.หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน การเลือกไปในสถานที่ที่คนไม่พลุกพล่าน จะช่วยลดโอกาสที่ลูกจะถูกคนอื่นขออุ้ม
4.อ้างหมอ แค่บอกคนที่อยากสัมผัสหรือขออุ้มลูกน้อยว่า “ขอโทษจริงๆ นะ แต่หมอบอกว่าช่วงแรกเกิด อยากให้ระมัดระวังให้มากๆ หน่อย” ก็น่าจะเอาอยู่
5.บอกว่าลูกหลับหรือง่วง ไม่ว่าจะง่วงหรือไม่ ก็ให้เอาลูกหันมาซบกับอกเรา และรีบปลีกตัวออกมาให้ไวที่สุด
6.แกล้งบอกว่าลูกไม่สบาย หรือเป็นหวัด เป็นไข้ และถ้าคุณพ่อคุณแม่แกล้งไอด้วย ก็จะดูสมบทบาท คงไม่มีใครอยากจะติดเชื้อจากเราหรอก
เหตุการณ์ที่มักพบเจอ
– ขออุ้มหน่อย “ขออุ้มหนูหน่อยได้ไหมคะ?”
– ขอหอมแก้ม “ขอหอมแก้มหนูหน่อยนะ”
– ขอจับมือ “ขอจับมือหน่อย”
– หยิบของกินมาให้ลูก “หนูอยากกินอันนี้ไหมลูก”
– จู่โจมโดยไม่ขออนุญาต บางครั้งผู้ใหญ่ก็อาจจะดึงมือลูกไปจับ หอมแก้มลูก หรือหยิบของกินใส่ปากลูก โดยไม่ขออนุญาตจากพ่อแม่ก่อน
ในกรณีคนใกล้ชิด จะปฏิเสธอย่างไร
การปฏิเสธคำขออุ้มลูกจากคนใกล้ชิด เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แม้ว่าเราจะต้องปฏิเสธ แต่ก็อยากรักษาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดเอาไว้ เรามีคำแนะนำที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างเหมาะสมมาฝาก
1. สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา
บอกเหตุผลที่คุณไม่สะดวกให้คนอื่นอุ้มลูก เช่น ลูกกำลังง่วงนอน ลูกไม่ค่อยสบาย หรือคุณกลัวว่าลูกจะตกใจ เลือกใช้คำพูดที่สุภาพและเข้าใจกัน เช่น “ขอโทษนะคะ ตอนนี้น้องไม่ค่อยสบายเลยค่ะ” หรือ “น้องกำลังง่วงนอนมากเลยค่ะ”
2. หลีกเลี่ยงการโต้เถียง
หากอีกฝ่ายพยายามที่จะโต้เถียง ให้คุณยืนยันในความต้องการของคุณอย่างสุภาพ เช่น
“ตอนนี้น้องยังเล็กอยู่ค่ะ เลยต้องระวังเป็นพิเศษ”
3. สร้างทางเลือกอื่น
อาจเบี่ยงเบนเปลี่ยนเรื่องคุยไปเป็นเรื่องอื่นที่น่าสนใจ หรือแนะนำให้เล่นกับของเล่นแทน เช่น “ดูสิคะ น้องชอบเล่นตุ๊กตาตัวนี้มากเลยค่ะ ลองเล่นตุ๊กตากับน้องดูไหมคะ น่ารักมาก ๆ เลย” หรือ “น้องชอบเล่านิทานให้ฟังค่ะ ลองเล่านิทานให้น้องฟังดูไหมคะ น้องจะชอบมากเลย” ”
บทส่งท้าย
การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การปฏิเสธคำขออุ้มลูกอาจทำให้บางคนรู้สึกไม่พอใจ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือสุขภาพและความปลอดภัยของลูกน้อย การตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณของความเป็นแม่คือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด
เครดิตรูปภาพ
www.vinmec.com www.bountyparents.com.au www.yahoo.com nutricia.com.au