บทความนี้ขอแนะนำ “วิธีดูแลเด็กบนรถ เมื่อต้องเดินทางไกล ให้ปลอดภัยที่สุดและนั่งอยู่ในรถอย่างมีความสุข” พ่อแม่ทุกคนต่างเคยประสบปัญหาเวลาเดินทางไปเที่ยว แต่ลูก ๆ กลับไม่มีความสุข พวกเขาเอาแต่ร้องไห้และไม่ยอมนั่งอยู่เฉยๆ สิ่งนี้นับเป็นเรื่องปกติ เพราะแม้กระทั่งสำหรับผู้ใหญ่เอง การที่ต้องนั่งอยู่ในรถเป็นเวลานานๆ ก็ทำให้รู้สึกอึดอัดได้เช่นกัน ต่างตรงที่ว่า เด็กๆ ที่ไม่ยอมอยู่นิ่งๆ สามารถทำให้ผู้ขับเสียสมาธิและอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ แต่การจะทำให้เด็ก ๆ นั่งนิ่ง ๆ ได้นั้นจะมีวิธีไหนบ้างนั้น บทความนี้มีข้อมูลมาฝากกัน
วิธีดูแลเด็กบนรถ เพื่อการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด
เมื่อต้องเดินทาง และต้องพาเจ้าตัวน้อยเดินทางไปด้วย การเดินทางครั้งนี้อาจแตกต่างไปจากเดิม เพราะเด็กเล็กเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากกว่าที่คิด และเพื่อการเตรียมรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีความปลอดภัยตลอดการเดินทาง เราจึงมีวิธีที่อยากให้ผู้ปกครองลองอ่านเพื่อเตรียมตัวกันก่อน ได้แก่ เตรียมความพร้อมของคน และรถ, ศึกษาเส้นทางก่อน, ตรวจสอบอุปกรณ์ให้พร้อม, ต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลเด็กเสมอ, ไม่ควรนำเด็กมานั่งตักขณะขับรถ, ระวังสิ่งของบนรถ และให้ลูกทำกิจกรรมดึงดูดความสนใจ
1. เตรียมความพร้อมของคน และรถก่อนเสมอ
เป็นการเตรียมตัวของคนขับ และผู้ที่จะนั่งโดยสารไปด้วย เช่น คนขับควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรนอนดึก เพื่อไม่ให้เกิดความง่วงจนเสี่ยงอุบัติเหตุ หากเป็นการเดินทางไกลผู้ที่นั่งไปด้วยก็ควรพักผ่อนให้เต็มที่ เผื่อสลับกันขับเพื่อลดความอ่อนล้า หากขับได้คนเดียว ก็ควรวางแผนการเดินทางให้ดี ควรมีจุดแวะพักตามปั๊มน้ำมันตามความเหมาะสม ส่วนรถก็ต้องตรวจเช็กสภาพให้ดี หากเจอปัญหาจะได้นำไปซ่อมให้เรียบร้อยก่อน เป็นต้น
2.ตรวจสอบอุปกรณ์ให้พร้อมก่อนเดินทาง
ก่อนออกเดินทาง จะต้องเผื่อเวลาเพื่อตรวจสอบอุปกรณ์ที่สำคัญบนรถก่อนเสมอ แน่นอนว่าในส่วนของลูกน้อยนั้นควรมีคาร์ซีท, หมวกกันน็อก และเข็มขัดนิรภัย ที่ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี พร้อมใช้งานได้ทันทีเมื่อต้องการ กรณีที่เกิดการชำรุดไม่ควรเสี่ยง เพราะส่งผลต่อความปลอดภัยของลูกโดยตรง หากพบปัญหาควรนำอุปกรณ์ไปซ่อมก่อน และค่อยออกเดินทาง ดังนั้นการตรวจสอบอุปกรณ์ก่อนออกเดินทาง 1 วันจึงเป็นทางเลือกที่ทำให้วางแผ่นได้ง่ายที่สุด
3.ศึกษาเส้นทางที่ดีที่สุดก่อน
การมีเด็กขึ้นรถไปด้วยคงไม่เหมือนกับการเดินทางของผู้ใหญ่ เพราะเด็กอาจก่อให้เกิดปัจจัยอื่น ๆ เช่น เสียงดัง หรือลูกงอแงที่อาจทำให้ต้องจอดรถพัก การให้ลูกอยู่ที่คาร์ซีทเป็นเวลานานไม่ใช่ผลดี จึงควรมีจุดพักรถที่ได้อุ้มลูกกินนม หรืออุ้มออกไปเดินพักผ่อนคลายเบื่อนอกรถบ้าง นอกจากนี้ระยะของการเดินทางก็สำคัญ ยิ่งไปถึงที่หมายเร็ว โอกาสที่จะเจอปัญหาระหว่างทางก็จะน้อยลงตามไปด้วย ทั้งหมดนี้คือสาเหตุว่าทำไมจึงควรศึกษาเส้นทางก่อนวันเดินทางจริงเสมอ
4.ไม่ควรนำเด็กมานั่งตักขณะขับรถ
ต่อให้กำลังจอดรถติดไฟแดงอยู่ก็ตาม ทารกควรอยู่ที่คาร์ซีท ส่วนเด็กเล็กก็ควรอยู่ที่นั่งด้านหลังกับผู้ใหญ่ ไม่ควรให้เด็กอยู่บนตักของคนขับที่อาจเกิดจากการจับมานั่งเล่น หรือทำทีเหมือนกับการให้เด็กขับรถที่จอดนิ่ง เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เนื่องจากเด็กเล็กมีความซนมากกว่าที่คิด อาจเอื้อมมือไปกดปุ่ม หรือทำอะไรที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นระวังในเรื่องนี้ไว้ก่อน ไม่ประมาท จะดีต่อทุกคนบนท้องถนนที่สุด
5. ต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลเด็กเสมอ
การเดินโดยมีลูกน้อยไปด้วย จะยิ่งสะดวกสบายมากขึ้น หากมีผู้ใหญ่ที่สามารถดูแลลูกน้อยได้โดยเฉพาะ 1 คน ซึ่งจะคอยทำหน้าที่คอยสังเกตอาการของเด็กว่าเป็นอย่างไรบ้าง คอยเล่น คอยพูดคุยด้วย เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อ และรู้ปลอดภัยไม่เหงา ซึ่งควรเป็นบุคคลที่เด็กมีความคุ้นเคยดีอยู่แล้ว นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่บนรถตามลำพังด้วย เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ถ้าเป็นเด็กเล็ก แล้วผู้ปกครองไม่ได้ดับรถ ตั้งใจลงไปแค่ไม่กี่นาที เด็กที่ไม่รู้อาจกดล็อกรถ แล้วไม่สามารถสื่อสารให้ลูกปลดล็อกได้ เป็นต้น จึงควรพาลูกไปด้วยเสมอ หากผู้ปกครองต้องการออกจากรถ
6.ให้ลูกทำกิจกรรมดึงดูดความสนใจ
กรณีที่เดินทางไกล หากปล่อยให้ลูกนั่งเฉย ๆ อาจไม่ใช่เรื่องดี เพราะเด็ก ๆ อาจจะเบื่อได้ง่าย จึงต้องมีกิจกรรมให้ลูกทำด้วย ถ้าเป็นทารก ผู้ที่อยู่ใกล้ ๆ อาจชี้นิ้วไปที่วิวข้างนอก คอยถาม คอยพูดคุย เล่นของเล่น หรือจะเปิดการ์ตูนให้เด็กดูก็ได้ แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กที่พอสื่อสารได้แล้ว จะมีกิจกรรมที่สามารถทำได้หลากหลายกว่า เช่น ดูหนัง, ฟังเพลง แต่ไม่ควรให้เด็กดูจอที่มีขนาดเล็ก เพราะการสั่นของรถจะทำให้เด็กเกิดอาการตาลายได้นั่นเอง
7.ระวังสิ่งของที่อยู่ในรถให้ดี
ก่อนหน้านี้รถจะรกมากแค่ไหน แต่เมื่อจะนำลูกขึ้นรถไปด้วยจะต้องเก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อยที่สุด อย่าให้มีสิ่งของโดยเฉพาะของชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือของมีคมอยู่ใกล้กับที่นั่งของเด็ก เพราะเด็กอาจจะยื่นมือไปหยิบสิ่งของเข้าปากตอนที่ผู้ปกครองเผลอจนเกิดอันตรายตามมาได้ นอกจากนรี้อีกสิ่งหนึ่ง คือ วัตถุ หรือการตกแต่งรถด้วยของบางอย่างที่น่ากลัวอาจต้องเอาออกจากรถ เช่น ตุ๊กตาผีตัวเล็ก ๆ หน้ารถที่อาจทำให้ลูกหวาดกลัวจนเกิดความวุ่นวายทีหลังได้
8.การตั้งกฎให้กับเด็ก ๆ
เมื่ออยู่ในรถ พ่อแม่ควรตั้งกฎเมื่ออยู่บนรถและท้องถนน และต้องมั่นใจว่าเด็ก ๆ จะปฏิบัติตาม สำหรับเด็กที่โตพอที่จะเข้าใจสิ่งต่าง ๆ พ่อแม่ควรประกาศกฎเกณฑ์ขณะอยู่บนรถให้ชัดเจน เช่น ต้องเอ่ยคำขอก่อนเปิดกระจกหรือหลังคามูนรูฟ หรือเมื่อต้องการเปลี่ยนเพลง
9.หยุดรถในกรณีจำเป็น
ผู้ปกครองควรหยุดรถข้างทางในกรณีที่จำเป็น เช่น หากลูกๆทะเลาะกันและมีการขว้างปาสิ่งของ หรือหากลูกๆของคนมีอาการป่วยที่มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น ไม่เช่นนั้นผู้ปกครองอาจเสียสมาธิในการขับและอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ทางที่ดีควรจอดเพื่อดูแลสถานการณ์ตรงนั้นเสียก่อน
บทส่งท้าย
การเดินทางกับเด็ก ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินอย่างที่ผู้ปกครองกังวล หากเราเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ และมีสติอยู่ตลอดเวลาแล้ว ไม่ว่าการเดินทางไปไหน ๆ ก็ปลอดภัยอย่างแน่นอน
เครดิตรูปภาพ mommybites.com www.driving.co.uk www.tomcopelandblog.com