บทความนี้ขอแนะนำ “ลูกน้อยสำลักนม เกิดจากอะไร มีวิธีสังเกตอาการอย่างไรและต้องรับมือด้วยวิธีไหน ก่อนอันตรายถึงชีวิต” ลูกสำลักนม เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทารกทุกคน โดยคุณพ่อคุณแม่ไม่ทันระวังด้วยซ้ำ ซึ่งอาการสำลักนมในเด็กเล็กนั้น อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ แล้วคุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีสังเกตการ และรับมืออย่างไรบ้างนั้นไปดูกัน
ลูกสำลักนมเกิดจากอะไร
1.เกิดปัญหาเกี่ยวกับ อวัยวะการกลืน เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงผิดปกติ ทำให้เกิดการอุดตัน สำลัก การไอ หรือการหอบ ขณะที่ลูกกินนม
2.ลูกน้อยมีพัฒนาการล่าช้า หรือ มีปัญหาเรื่องของปอดและหัวใจ
3.แม่ดึงเต้านมออก ขณะที่ลูกกำลังดื่มนม
4.น้ำนมไหลเร็วเกินไป ลูกน้อยกลืนไม่ทัน
5.ลูกน้อย มีแก๊สในท้องเยอะ
6.แม่ให้นมผิดท่า ไม่ถูกวิธี ซึ่งคุณแม่ต้องเปลี่ยนเพื่อที่จะได้ดีขึ้น
7.แม่ให้นมลูกกินเกินความต้องการ
8.กรณีให้ดื่มนมจากขวด ลูกสำลักก็เพราะใช้จุกนมผิดขนาด ทำให้นมไหลออกมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นนมผงทารกก็สามารถสำลักได้
9.จุกนมผิดขนาด มีรูที่ใหญ่เกินไป ไม่เหมาะสำหรับช่วงวัย ทำให้น้ำนมไหลออกมามากกว่าปกติ อาจส่งผลทำให้ ทารกเกิดอาการทางเดินหายใจอุดกั้นเฉียบพลัน และเสียชีวิตได้
ปัจจัยภายในที่เกิดจากตัวเด็กเอง
– เด็กแรกเกิดที่มีปัญหาอวัยวะเกี่ยวข้องกับการดูดกลืนผิดปกติ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ ช่องต่อระหว่างทางเดินอาหารกับระบบทางเดินหายใจมีปัญหา หรือภาวะหูรูดทางเดินอาหารที่ยังปิดได้ไม่สมบูรณ์
– เด็กแรกเกิดที่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจหรือปอด ทำให้ต้องหายใจเร็วขึ้น จึงมีโอกาสในการสำลักมากกว่าเด็กทั่วไป
– ปัญหาเรื่องพัฒนาการที่ล่าช้า หรือมีประวัติชัก ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการสำลักได้ง่ายขึ้น
อาการสำลักนม
– หากสำลักไม่มาก เด็กจะมีอาการไอเล็กน้อยเหมือนจะขย่อนนมออกมา แล้วจะหายได้เอง
– หากสำลักมากจะมีอาการไอหนัก เสียงหายใจครืดคราดผิดปกติ ไอจนหน้าเขียว ซึ่งควรรีบพาไปพบหมอโดยด่วน
วิธีสังเกตอาการ ลูกสำลักนม
1.ในระหว่างที่ลูกดูดนมจากขวดนั้น แรก ๆ ลูกจะมีอาการไอ เหมือนกับจะขย้อนนมออกมา หากสำลักไม่มาก อาจจะไอเพียงเล็กน้อย 2 – 3 ครั้งก็จะหายเอง คุณแม่ควรลูกนั่งเอามือประคองหน้าลูกไว้ ค่อย ๆ ลูบหลังเบา ๆ อีกครั้งเพื่อให้ลูกรู้สึกสบายตัวขึ้น
2.กรณีที่ลูกมีอาการสำลักนมมาก เด็กจะมีอาการไอแรง จนหน้าแดง หรือมีเสียงหายใจที่ผิดปกติ มีเสียงครืดคราดขณะหายใจ หากมีอาการเช่นนี้ คุณแม่ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัย
3.กรณีที่ลูกกินอาหาร เช่น ขนม หรือผลไม้ ไปก่อนที่จะกินนม เมื่อเกิดอาการสำลัก จะมีอาการตัวเขียว หรือมีอาการข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา เช่น ไอไม่หยุด หายใจผิดปกติ มีเสียงหายใจครืดคราด หากลูกมีอาการเช่นนี้ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกสำลักนมบ่อย ๆ
1.ช่วง 6 เดือนแรกควรให้ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว และเริ่มต้นให้อาหารเสริมตามวัยที่เหมาะสม คือเมื่ออายุ 4-6 เดือนไปแล้ว เพราะทักษะการดูดกลืนของลูกทำงานได้ดีมากขึ้นกว่าช่วงแรกเกิด สามารถชันคอตั้งตรงได้ดี โอกาสที่จะเกิดการสำลักก็มีน้อยลง
2.คุณแม่ต้องปรับการไหลของปริมาณนมให้เหมาะสม ในกรณีที่ลูกต้องกินนมจากอกแม่ อาจจะกดบริเวณลานนม เพื่อเบรกความแรงของนมที่ไหลไปให้ลูกกิน
3.เปลี่ยนท่าให้นมลูกให้ถูกต้อง โดยให้ตัวน้องเอียง 45 องศาเวลาดูดนม โดยที่ให้เอาหมอนหนุนแขนแม่แล้วให้น้องนอนบนหมอนอีกที เวลาดูดควรมีฟองอากาศเล็ก ๆ ในขวดสูงประมาณ 2-3 มิลลิเมตรก็พอ ซึ่งก็คือ เป็นการดูดที่เป็นจังหวะพอดี
4.ไม่แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ ค้ำขวดนม เพราะจะทำให้นมไหลลงมาเร็วและแรงเกินไปได้
5.จับลูกเรอทุกครั้งหลังจากดูดนมเสร็จแล้ว สำหรับลูกน้อยวัยแรกเกิด จนถึง 2 เดือน ควรใช้วิธีอุ้มลูกนั่งตัก ใช้มือประคองช่วงขากรรไกรเพื่อประคองศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างลูบหลังโดยการลูบขึ้นเบา ๆ โดยที่ให้อุ้มนั่งให้ตัวตรงหรือโน้มมาด้านหน้า และต้องประคองคอให้ดี สำหรับเด็กที่คอแข็งแล้ว ให้ใช้วิธีอุ้มพาดบ่าใช้มือประคอง ลูบหลังขึ้นเบา ๆ แล้วสังเกตุอาการว่า มีเสมหะหรือไม่ เวลานอนมีเสียงจากคอหรือไม่ มีไข้หรือไม่
6.ตรวจเช็กสภาพจุกนมและเปลี่ยนจุกนมตามระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช้จุกนมที่มีขนาดใหญ่และไหลเร็วจนเกินไป
7.หากปรับแล้วยังไม่ได้ผล แนะนำให้พาลูกน้อยไปหาหมอ เพื่อตรวจหาสาเหตุการสำลักต่อไป
ทำอย่างไร ถ้าลูกสำลักนม
– ห้ามอุ้มเด็กขึ้นทันทีที่เกิดการสำลักนม
– จับเด็กนอนตะแคง โดยให้ศีรษะเด็กต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้นมไหลย้อนกลับไปที่ปอด
– ถ้าเด็กยังรู้สึกตัว แต่ไม่หายใจ ทำท่าเหมือนร้องแต่ไม่มีเสียง แปลว่ามีการอุดตันทางเดินหายใจแบบสมบูรณ์ ถ้าไม่รีบช่วยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ วิธีช่วยให้จับเด็กคว่ำหน้า หัวต่ำ แล้วเอามือเคาะหลังประมาณ 5 ครั้ง
– ถ้ายังไม่หายใจ ให้ทำ Chest thrust (รัดกระตุกที่หน้าอก) 5 ครั้ง โดยให้เด็กนอนหงายอยู่ในท่าหัวต่ำกว่าลำตัว ผู้ช่วยเหลือให้ใช้สองนิ้วกดลงไปแรง ๆ บนหน้าอกของเด็ก ทำสลับไปจนกว่าจะหายใจหรือร้องได้
ลูกสำลักนม อันตรายแค่ไหน
การที่ทารก สำลักนมนั้น อาจทำให้เสียชีวิตได้ และอันตรายเป็นอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการสำลักนมของทารก เนื่องจากเด็กทารกยังไม่สามารถบอกได้ และคุณพ่อคุณแม่เอง ก็ควรดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด
บทส่งท้าย
ลูกสำลักนม อาการที่จะทำให้เกิดอันตรายที่ไม่คาดฝันได้ แต่ก็สามารถป้องกันได้ หากรู้เท่าทันและเตรียมรับมือเมื่อลูกสำลักนมได้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรป้อนนมในปริมาณเหมาะสม อย่าปล่อยให้เด็กนอนดูดนมคนเดียว เพราะทารกนั้นยังไม่สามารถพูด บอก หรือช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังอย่างใกล้ชิด
เครดิตรูปภาพ www.shutterstock.com www.vinmec.com kiindred.co