บทความนี้ขอแนะนำ “ลูกติดเกมทำอย่างไรดี พร้อมวิธีรับมือที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้” หลายบ้านอาจเจอกับปัญหาลูกหลานกลายเป็นเด็กติดเกม และ มีพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อถูกห้ามเล่นเกม หรือ ถูกบังคับให้หยุดเล่นเกม ก่อนอื่นต้องดูบ่อเกิดของปัญหาก่อนว่า สมาชิกภายในบ้าน ดูแลเอาใจใส่เด็กเพียงพอหรือไม่ จนทำให้พวกเขาหันมาพึ่งพาเกม เป็นเพื่อนและเป็นกิจกรรมแก้เบื่อจนติดงอมแงม จนยากที่จะบอกลาเกมแสนสนุก มาดูวิธีการแก้ปัญหาเด็กติดเกมก่อนจะสายเกินไป
การติดเกมคืออะไร
อาการติดเกม คือ การที่ลูกคุณใช้เวลาเล่นเกมคอมพิวเตอร์ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า แบบไม่สนใจสิ่งอื่นใดในชีวิตรอบตัว 1 ใน 5 ของนักเรียนใช้เวลา 5 ชั่วโมง หรือ มากกว่านั้น ในแต่ละวันอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าเด็กละเลยการเรียน สังคมรอบข้าง รวมไปถึงการใช้เวลาอยู่กับครอบครัว
จิตแพทย์เด็กเตือนผู้ปกครองสังเกตสัญญาณเสี่ยงลูกติดเกม หากพบความผิดปกติเล่นเกมติดต่อกันนานหลายชั่วโมง อดหลับอดนอน กระทบชีวิตประจำวัน และ มีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว เมื่อต้องหยุดเล่นเกม แนะปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา
ลักษณะของเด็กติดเกมเป็นอย่างไร
1. ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้เล่นในเวลาที่กำหนด ทำให้ใช้เวลาในการเล่นนานติดต่อกันหลาย ๆ ชั่วโมง หรือเล่นนานขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มเป็นหลายชั่วโมงต่อวัน บางคนเล่นข้ามวันข้ามคืน
2. หากถูกบังคับให้เลิกหรือหยุดเล่นจะต่อต้าน หรือมีปฏิกิริยาหงุดหงิดไม่พอใจอย่างรุนแรง บางคนถึงขั้นก้าวร้าว อาละวาด
3. การเล่นของเด็กมีผลกระทบต่อหน้าที่ความรับผิดชอบของเด็ก เช่น เด็กไม่สนใจการเรียน ไม่สนใจที่จะทำการบ้าน หนีเรียนหรือแอบหนีออกจากบ้านเพื่อจะได้เล่นเกม การเรียนตกลงอย่างมาก ละเลยการเข้าสังคม หรือทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว
4. บางรายอาจมีปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โกหก ลักขโมย (เพื่อนำเงินไปเล่นเกม) ดื้อต่อต้าน แยกตัว เก็บตัว ฯลฯ
ลูกติดเกม ส่งผลกระทบอะไรได้บ้าง
1.ด้านการเรียน
เด็กจะไม่ค่อยอยากไปโรงเรียนหรืออาจจะไปโรงเรียนสาย เพราะจะทุ่มเทเวลาไปกับการเล่นเกมมากกว่า และแน่นอนว่าสุดท้ายแล้วก็จะส่งผลให้ผลการเรียนแย่ลง พร้อมกับอาจจะมีปัญหาทางด้านการเข้าสังคมกับเพื่อนในโรงเรียนตามมา
2.ด้านสุขภาพจิต
ปัญหาทางด้านสุขภาพจิตเป็นผลกระทบต่อเนื่องที่เมื่อเด็กมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม ก็จะทำให้เขารู้สึกแปลกแยก ไม่สามารถเข้ากับเพื่อนคนอื่นได้ จนอาจเกิดปมด้อยในใจขึ้น
3.ด้านสุขภาพร่างกาย
การทุ่มเทเวลาไปกับการเล่นเกมมากเกินไป จะทำให้เด็กไม่ค่อยสนใจเรื่องอาหารการกินและการพักผ่อน จนสุดท้ายจะทำให้สุขภาพทรุดโทรมและเกิดการป่วยได้
4.ด้านพฤติกรรม
การที่ลูกติดเกมมาก ๆ แนวโน้มพฤติกรรมจะเสี่ยงต่อความก้าวร้าว ไม่เชื่อฟัง และจะมีอารมณ์ฉุนเฉียวเมื่อถูกขัดจังหวะหรือถูกห้ามในการเล่นเกม
วิธีป้องกันเด็กติดเกม
1.คุยกับเด็กเพื่อกำหนดกติกากันล่วงหน้า ว่าเด็กสามารถเล่นเกมได้ในวันใดบ้าง วันใดเล่นไม่ได้ เล่นได้ครั้งละไม่เกินกี่ชั่วโมง ตั้งแต่เวลาใดถึงเวลาใด ก่อนจะเล่นต้องรับผิดชอบทำอะไรให้เสร็จเรียบร้อยก่อนบ้าง หากเด็กไม่รักษากติกา เช่น เล่นเกินเวลา ไม่ทำการบ้านให้เสร็จก่อน ฯลฯ เด็กจะถูกทำโทษอย่างไร (แนะนำให้ใช้วิธีริบเกม หรือตัดสิทธิการเล่นเป็นเวลาระยะหนึ่งหากเด็กไม่ทำตามกติกาที่ตกลง)
2.วางตำแหน่งคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมในที่โล่ง มีคนเดินผ่านไปมาบ่อยๆ ไม่ควรตั้งไว้ในห้องนอนหรือห้องที่ปิดมิดชิด เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้ติดตามเฝ้าดูได้ เป็นการป้องกันมิให้เด็กเก็บตัว แอบเล่นคนเดียวในห้อง หรือแอบเล่นทั้งคืน
3.วางนาฬิกาขนาดใหญ่ไว้หน้าเครื่อง หรือในตำแหน่งที่เด็กสามารถมองเห็นได้ชัดเจน
4.ให้คำชมแก่เด็กเมื่อเด็กสามารถรักษาเวลาการเล่น ควบคุมตังเองไม่ให้เล่นเลยเวลาที่กำหนดได้
5.ใช้ความเด็ดขาดหากเด็กไม่รักษากติกา เช่น ริบเกมโดยไม่ใจอ่อน ถอดสายโมเด็มออก ฯลฯ
6.จัดหากิจกรรมที่สนุกสนานอย่างอื่นให้เด็กทำ หรือมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัว
7.หลีกเลี่ยงการใช้เกมเป็นเสมือนพี่เลี้ยงเด็ก
8.สอนให้เด็กรู้จักการแบ่งเวลา รู้จักใช้เวลาอย่างเหมาะสม
ลูกติดเกม แก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง
1.เข้าหาลูกของเราโดยใช้ความสัมพันธ์และท่าทางที่เป็นมิตร
2.วางกติกาการเล่นเกมให้ชัดเจนก่อนที่จะให้ลูกเล่นเกม
3.พยายามจริงจังกับกติกาที่วางไว้ หลีกเลี่ยงการผ่อนปรนหรือปล่อยให้กติกาหละหลวม
4.ใช้กิจกรรมที่น่าสนใจอื่น ๆ ที่ลูกสนใจเข้ามาทดแทน เพื่อลดเวลาในการเล่นเกมลง และควรชมเชยหากลูกสามารถทำกิจกรรมนั้นได้ดี
5.เน้นการปรับแก้ไขอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรัดลูกจนเกินไป
6.เน้นการดูแลในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด คอยให้คำแนะนำให้ใช้งานอย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์
7.ทุกคนในครอบครัวควรหาข้อตกลงในการใช้โทรศัพท์มือถือร่วมกัน เวลาใดใช้ได้หรือเวลาใดใช้ไม่ได้ สถานที่ใดควรใช้หรือไม่ควรใช้ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยีอย่างพอดี
8.ชักชวนลูกไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ เช่น ไปแคมป์ เป็นต้น เพื่อให้ไปเจอคนใหม่ ๆ สถานที่ใหม่ ๆ
9.ปรับประเภทของเกม ให้เป็นเกมที่เน้นพัฒนาสมองแทน
10.ควรขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการจัดการต่าง ๆ จากจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางโดยตรง
บทส่งท้าย
การแก้ปัญหาเด็กติดเกมให้ดีขึ้น ไม่ใช่ความรับผิดชอบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเปลี่ยนและปรับด้วยกันทั้งสองฝ่าย ทั้งเด็กและพ่อแม่ รวมถึงคนรอบข้างที่บ้านและที่โรงเรียน ปัญหาต่าง ๆ น่าจะเริ่มต้นแก้ไขด้วยความเข้าใจ และมาเปิดใจคุยกัน เพื่อให้ทุกอย่างไม่สายเกินไป
เครดิตรูปภาพ shanghaimamas.org www.thesun.co.uk encouragingdiscipline.com techsavvymama.com