ลมชักในเด็ก อันตรายกว่าคิด คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังอย่างมาก

บทความนี้ขอแนะนำ บทความเรื่อง ลมชักในเด็ก อันตรายกว่าคิด คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังอย่างมาก โดยทั่วไปของโรคลมชัก หากปล่อยให้ชักและไม่รักษา ส่วนใหญ่จะมีผลต่อพัฒนาการของผู้ป่วยในระยะยาว หรือถ้าลักษณะชักเป็นแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจอันตรายถึงชีวิตได้ 

“โรคลมชัก” หนึ่งในโรคทางระบบประสาทในเด็กที่พบได้บ่อย ซึ่งเป็นอาการชักที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของสมอง แต่ถึงอย่างนั้น แม้ไม่พบความผิดปกติทางกายภาพของสมองก็สามารถทำให้เกิดโรคลมชักได้ โดยโรคลมชักเป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเด็ก

โรคลมชักในเด็ก พ่อแม่รู้เท่าทัน ลูกน้อยก็ปลอดภัย

โรคลมชักในเด็ก หนึ่งในโรคที่สร้างความทุกข์ใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ สาเหตุการเกิดโรคนี้มีได้หลายอย่าง อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ความผิดปกติของระบบประสาท เคยเกิดอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมอง หรือเนื้องอกในสมอง เป็นต้น โดยรูปแบบการชัก อาจมีอาการได้ดัง

ต่อไปนี้

– ชักแบบเหม่อนิ่ง เด็กมักไม่ตอบสนองต่อการเรียก พบมากในเด็ก 5-10 ปี

– ชักแบบกระตุกแขนขาเป็นชุด ๆ พบมากในเด็ก 3 เดือน -1 ปี

– ชักแบบไม่รู้ตัว มีอาการเตือน ระหว่างชักจำอะไรไม่ได้

– ชักต่อเนื่อง อันตรายหากชักเกิน 30 นาที

สาเหตุของโรคลมชักในเด็ก 

ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่าโรคลมชัก คือ การทำงานผิดปกติของสมอง โดยอาจพบหรือไม่พบความผิดปกติจากภาพถ่ายรังสีก็ได้ ซึ่งสามารถแจกแจงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชักได้ ดังนี้

1.ความผิดปกติของขั้นตอนการสร้างสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ (congenital anomaly)

2.ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการทำงานหรือโครงสร้างสมอง (genetic disease)

3.ความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อน ก่อนคลอด ระหว่างคลอดหรือหลังคลอด เช่น การติดเชื้อในครรภ์ การขาดออกซิเจนระหว่างคลอด เป็นต้น

4.เกิดจากภูมิต้านทานของตัวเอง (autoimmune disease)

5.การมีก้อนเนื้องอกในสมอง หรือเซลล์ที่เจริญเติบโตเร็วในสมองในบางกลุ่มอาการของ

โรคบางโรค

6.การติดเชื้อในสมอง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาจากการติดเชื้อ

7.ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน

อาการของโรคลมชักในเด็ก

แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ

1.อาการชักแบบเฉพาะที่ ลักษณะอาการชักจะขึ้นอยู่กับจุดกำเนิดชักว่าอยู่ส่วนใดของสมอง เช่น ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ อาการชักมักจะมาด้วยอาการเกร็ง หรือกระตุก หรืออ่อนแรง หากจุดกำเนิดอยู่ที่ตำแหน่งการควบคุมความรู้สึก อาจมาด้วยอาการชา หรืออาการรับรู้มากกว่าปกติ เช่น ปวดเจ็บ หรือรู้สึกมีอะไรมาไต่ หากจุดกำเนิดอยู่ที่ตำแหน่งควบคุมการมองเห็น ก็อาจมาด้วยอาการมองเห็นที่ผิดปกติ เช่น มองเห็นแสง หรือมองไม่เห็น เป็นต้น

2.อาการชักแบบทั้งตัว เช่น เกร็ง กระตุกทั้งตัว หรือที่เราคุ้นเคยเรียกว่าลมบ้าหมู หรืออาการชักแบบเหม่อ เรียกไม่รู้ตัว เป็นต้น

ลูกชัก ต้องทำอย่างไร 

– คุณพ่อคุณแม่ หรือคนเลี้ยงต้องมีสติ ไม่ตื่นเต้น ให้ลูกนอนลงในที่โล่ง และสังเกตการชักให้ละเอียด (บันทึกภาพได้ยิ่งดี)

– จับลูกนอนตะแคง หาวัสดุหนุนศีรษะลูก คลายเสื้อผ้า และหากมีอาหารในปากให้เอาออก

– ห้ามงัดปากลูกเด็ดขาด อย่าให้คนมามุง และระวังอย่าเอาสิ่งของเข้าปากลูก

– เช็ดเศษอาหาร น้ำลาย โดยไม่ต้องพยายามงัด หรือเปิดปาก

– รอจนลูกหยุดชัก โดยส่วนมาก อาการชักจะหยุดใน 2-3 นาที เช็กว่ามีบาดแผลหรือไม่ จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาล

แนวทางการรักษาโรคลมชัก

โรคลมชักยังเป็นโรคที่หาทางป้องกันไม่ได้ แต่สามารถป้องกันการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากอาการชักได้ แต่ทั้งนี้ก็มีการรักษาโรคลมชักหลักๆ อยู่ นั่นคือ การใช้ยากันชัก เพื่อรักษาและควบคุมให้มีอาการชักน้อยลง ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาเองเพราะจะกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ โดยทั่วไปการให้ยากันชักจะให้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี หรือนานกว่านั้น แล้วแต่แพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาการรักษาที่ต้นเหตุของการเกิดลมชักนั้นๆ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถรักษาจนหายขาดได้ แต่ในบางรายทำได้แค่เพียงยับยั้งไม่ให้เกิดอาการชักโดยรับประทานยาควบคุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผู้ป่วยถึงร้อยละ 70 ที่สามารถรักษาหรือควบคุมอาการได้ด้วยการใช้ยา

ผลกระทบของโรคลมชักในเด็ก

โรคลมชักส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อได้รับการวินิจฉัยล่าช้า หรือได้รับการรักษาและคำแนะนำที่ไม่เหมาะสม โดยอาการของโรคลมชักอาจส่งผลกระทบต่อเด็กในด้านต่อไปนี้

1.อุบัติเหตุจากอาการชัก เช่น หกล้ม จมน้ำ รถชน หรืออุบัติเหตุอื่น ๆ ที่เกิดจากการสูญเสียการควบคุมร่างกาย และอาการเหม่อที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

2.ปัญหาด้านพัฒนาการและการเรียนรู้​

3.ปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ อย่างความเครียด โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และการฆ่าตัวตาย เพราะอาการของโรคอาจทำให้เด็กรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนวัยเดียวกัน

บทส่งท้าย

โรคลมชักในเด็กอาจจะปรากฏขึ้นในช่วงอายุใดก็ได้ หากพ่อแม่เห็นสัญญาณของโรค อย่างอาการเหม่ออย่างฉับพลัน ยืนนิ่ง ไม่ตอบสนองต่อการเรียกชื่อ แขนหรือขาชักเกร็งกระตุก ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ เพราะการวินิจฉัยและเข้ารับรักษาเร็วอาจเพิ่มโอกาสในการรักษา ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ปกติ และลดความเสี่ยงของผลกระทบจากโรคจะได้ปลอดภัยแก่ตัวลูกด้วย

เครดิตรูปภาพ drlaxmikhanna.in www.memphisneurology.com www.vinmec.com www.samitivejhospitals.com

บทความ แม่และเด็ก

อาหารเด็ก/นม/ของเล่นเด็ก/คู่มือคุณแม่

บทความล่าสุด
Tag
ขวดนม Pigeon (1) ของเล่นเสริมพัฒนาการสำหรับเด็ก (32) คอกกั้นเด็ก (1) คาร์ซีท (1) คู่มือสำหรับคุณแม่ (182) จุกนม (1) ชุดคลุมท้อง (1) ชุดว่ายน้ำเด็ก (1) ตู้แช่นม (1) ทิชชู่เปียก (1) ที่ดูดน้ำมูก (1) นมกล่อง UHT (1) นมผง (1) น้ำยาซักผ้าเด็ก (1) น้ำยาล้างขวดนม (1) น้ำเกลือล้างจมูก (2) ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก (19) ฝากครรภ์ (1) รถเข็นเด็ก (1) รถไฟฟ้าเด็ก (1) รวมเรื่อง นม สำหรับเด็ก (1) สารพันปัญหา แม่และเด็ก (37) สารพันปัญหาแม่และเด็ก (174) อาหารสำหรับเด็ก (24) อาหารเสริมสำหรับเด็ก (3) อุปกรณ์ทำความสะอาดสำหรับเด็ก (10) อุปกรณ์เสริมสำหรับเด็ก (76) เครื่องนึ่งขวดนม (1) เครื่องปั๊มนม (1) เครื่องอุ่นนม (1) เคล็ดลับเลี้ยงลูก (2) เปล (1) เปลไกวไฟฟ้า (1) เสื้อผ้าเด็ก (5) แพมเพิส (1) โลชั่นเด็ก (1)