บทความนี้ขอแนะนำ “ปัญหาฟันผุในเด็ก ปัญหาเล็ก ๆ ที่อาจจะอันตรายกว่าที่คิด” เพราะเด็กต้องคู่กับขนมหวาน ก็เลยเป็นสาเหตุของฟันผุ แต่ฟันผุนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่ควรมองข้ามนะ เพราะมันอาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาได้ สุขภาพของช่องปากและฟันที่ดีของลูกนั้น เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนล้วนปรารถนา คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองควรที่จะต้องให้ความใส่ใจและดูแลเรื่องสุขภาพฟันของลูกกันตั้งแต่วัยเด็ก
ปัจจัยทำให้ เด็กฟันผุ
1.แบคทีเรีย
แบคทีเรียมีอยู่ในขี้ฟัน ทุกคนมีขี้ฟันเกิดขึ้นทุกๆ นาที การแปรงฟันให้สะอาดทุกวัน วันละ 2 ครั้ง จะช่วยลดปริมาณแบคทีเรียในช่องปากลง หากแปรงฟันไม่สะอาดจำนวนแบคทีเรียก็จะมีสะสมมากขึ้น นอกจากนี้ เด็กๆ ยังอาจได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุเพิ่มขึ้น จากผู้ใหญ่ที่มีฟันผุผ่านการเป่าอาหาร หรือชิมอาหารก่อนนำมาป้อนน้องได้ด้วยเช่นกัน
2.น้ำตาล
อาหารหลักของเด็กเล็กก็คือนม ซึ่งนมทุกชนิดมีน้ำตาลแลคโตสเป็นองค์ประกอบ ยิ่งถ้าเป็นนมรสหวานต่างๆ ด้วยแล้ว เด็กก็จะได้รับน้ำตาลซูโครสของโปรดแบคทีเรียเพิ่มเติมลงไปอีก ส่วนขนมหวานต่าง ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุ แต่จากการสอบถามคุณแม่ของเด็กเล็กวัยไม่ถึง 1 ปี มักจะปฏิเสธว่า ไม่ได้ให้ลูกทานขนมหวาน
3.ตัวฟัน
ตัวฟันที่สร้างมาแบบไม่แข็งแรงสมบูรณ์จะมีความเสี่ยงให้ผุง่ายกว่าปกติ ซึ่งจะทราบได้อย่างไรว่าฟันของลูกแข็งแรงหรือไม่นั้น คุณหมอฟันที่ตรวจฟันให้น้องสามารถบอกได้แต่โดยส่วนใหญ่แล้วฟันของเด็กถูกสร้างมาแข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งานได้อย่างปกติแน่นอน
4.การเลี้ยงดู
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กฟันผุมาจากการเลี้ยงดูของครอบครัว โดยเฉพาะในปัจจุบันมักฝึกให้ลูกดื่มนมจากขวดนม แล้วปล่อยให้เด็กนอนหลับไปพร้อมกับขวดนม จึงทำให้น้ำตาลที่อยู่ในน้ำนมหรือนมผงสามารถทำลายเคลือบฟันน้ำนมได้ รวมถึงการปล่อยให้เด็กกินขนมกรุบกรอบและขนมหวานตามใจชอบแล้วไม่ยอมแปรงฟัน
ผลกระทบเมื่อฟันผุ
ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกฟันผุขึ้นมาแล้ว เด็กจะมีอาการปวดฟันตามมา และอาจเกิดความเจ็บปวดมากจนทำให้ไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ ทำให้น้ำหนักตัวลดลง บางคนอาจถึงขั้นขาดสารอาหาร ซึ่งส่งผลต่อระดับการเจริญเติบโต พัฒนาการของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า และช่องปาก รวมทั้งกระดูกขากรรไกรได้ด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กที่มีฟันผุจะมีเชื้อโรคในช่องปากมาก เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ฟันแท้ที่จะขึ้นตามมาผุได้เช่นกัน
และถ้าหากฟันผุมากขึ้น อาจเกิดการติดเชื้อลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของขากรรไกร และใบหน้า ลำคอ หรือทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความต้านทานเชื้อโรคในตัวเด็กมีน้อยกว่าผู้ใหญ่นั่นเอง
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุ
1.ป้องกันแบคทีเรีย
ดูแลทำความสะอาดปากและฟัน อาจจะเริ่มทำความสะอาดช่องปากของเด็กได้ตั้งแต่ในช่วง 2-3 วันหลังแรกเกิด ได้เลย โดยหลังจากการให้นมเด็กแล้วควรจะใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ เช็ดคราบนมและคราบจุลินทรีย์ที่เกาะติดสันเหงือกของเด็ก วิธีนี้จะช่วยให้เด็กมีความคุ้นเคยกับการทำความสะอาดในปาก
ถ้าในเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยรู้เรื่องแล้วไม่ยอมแปรงฟัน สุขภาพช่องปากถือว่าสำคัญมาก อาจจะต้องมีการบังคับในช่วงแรก ๆ เพื่อฝึกให้เขาทำเป็นประจำจนชิน เพื่อให้ช่องปากสะอาด ห่างไกลจากแบคทีเรียตัวร้าย
2.ควบคุมการกินน้ำตาล
อาหารหลักของเด็กเล็กช่วงขวบปีแรกคือนม ในนมทุกชนิดมีน้ำตาล การดูดนมแล้วหลับไปหรืออมนมคาบค้างก็จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ยิ่งเป็นนมขวดหรือนมผสมน้ำผึ้ง ฟันผุก็จะยิ่งรุนแรงรวดเร็วมาก ดังนั้นควรต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำตาลจะดีกว่า
3.เคลือบฟันด้วยฟลูออไรด์
การใช้ฟลูออไรด์อย่างเหมาะสมก็เป็นอีกวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุ การใช้ฟลูออไรด์อาจมีทั้งแบบฟลูออไรด์เสริมสำหรับรับประทาน ซึ่งในกรณีนี้ควรให้ทันตแพทย์หรือกุมารแพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย และแนะนำให้เนื่องจากในเด็กแต่ละคนและแต่ละช่วงอายุควรได้รับในขนาดที่แตกต่างกัน
ทำอย่างไรถึงให้ลูกอยากแปรงฟัน
ในเด็กที่อายุ 2 ขวบ ขึ้นไป เขาสามารถรับรู้ถึงสิ่งต่าง ๆ ได้แล้ว และเริ่มมีการปฏิเสธในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากจะทำแล้วซึ่งการแปรงฟันก็เป็นปัญหาที่หลายบ้านพบเจอ เพราะลูกไม่อยากแปรงฟัน จนร้องไห้งอแง ซึ่งวิธีที่จะทำให้ลูกน้อยยอมแปรงฟันก็คือ อาจจะเขามีส่วนร่วมในการช่วยเลือกแปรงสีฟันของตัวเอง ให้เขาได้เลือกแปรงในแบบที่ตัวเองชอบ อาจจะเป็นตัวการ์ตูนที่เขาชื่นชอบก็ได้ ให้เขาได้เลือกยาสีฟันด้วยตัวเอง เพราะปัจจุบันยาสีฟันของเด็กก็มีหลากหลายรูปแบบ กล่องมีสีสันสดใส ล่อตาล่อใจเด็ก ๆ ได้ดีทีเดียว
บทส่งท้าย
โรคฟันผุในเด็กเป็นปัญหาสุขภาพที่ผู้ปกครองต้องใส่ใจและดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องไม่ละเลยการทำความสะอาดช่องปากให้เด็ก สอนเด็กให้เรียนรู้เรื่องการแปรงฟันอย่างถูกวิธีเพื่อให้เด็กเคยชิน เพราะการแปรงฟันมีความสำคัญมาก เพราะถ้าละเลยแล้วเกิดปัญหาตามมาทีหลัง อาจจะแก้ปัญหาได้ยากกว่าเดิมก็ได้
เครดิตรูปภาพ chatsdental.com.au breastfeeding.support www.houstonspediatricdentist.com