บทความนี้ขอแนะนำ “ประโยชน์ของการกระโดดสำหรับเด็ก” การที่ลูกกระโดดไปมา อาจจะไม่ใช่การเล่นซนเท่านั้น แต่มันยังมีประโยชน์สำหรับตัวของเด็กแฝงอยู่ด้วย แต่คุณพ่อคุณแม่อาจจะเป็นกังวลมากกว่า เพราะกลัวว่าเขาอาจจะได้รับอันตรายจนได้รับบาดเจ็บ แต่ถ้าหากได้อ่านบทความนี้แล้วหล่ะก็ อาจจะทำให้ความคิดของคุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนไปเลยก็ได้
การกระโดดสำหรับเด็กสำคัญอย่างไร
การกระโดดไม่ได้สำคัญต่อวัยของเด็กเท่านั้น วัยผู้ใหญ่เองก็สำคัญ แต่ในเด็กนั้นการกระโดดไม่ใช่การเล่นซนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันมีประโยชน์แก่เด็กได้หลายอย่างเช่นกัน
– ทำให้เขาได้ออกกำลังกายไปในตัว เพราะเขาจะได้ขยับร่างกาย ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง
– การกระโดด ทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้วิธีการควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวเอง
– การกระโดดช่วยเสริมบุคลิกภาพของพวกเขาให้ดีมากยิ่งขึ้น รวมถึงการได้เพิ่มความยืดหยุ่นส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเหมาะสำหรับวัยที่กำลังเจริญเติบโต
– ช่วยทำสุขภาพจิตดี เพราะเมื่อเขากระโดดเท่ากับว่าเขานั้นได้อิสระ ทำให้เขาอารมณ์ดี สุขภาพจิตก็จะดีตามมาด้วยเช่นกัน
ประโยชน์ของการกระโดดสำหรับเด็ก
1.กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง
การกระโดดบนพื้นผิวที่เด้งได้ ไม่ว่าจะเป็นแทรมโพลีนหรือเสื่อโรงยิม มีส่วนช่วยลดความตึงของกล้ามเนื้อและข้อต่อของเด็กได้เป็นอย่างดี ทำให้ร่างกายเกิดความยืดหยุ่น ข้อต่อและกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวได้อย่างดีและเป็นอิสระ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง
2.รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
เพราะการที่เด็กกระโดดถือว่าเป็นการออกกำลังกาย และเด็กส่วนมากจะชอบทานขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน ช็อกโกแลต ลูกอม ไอศกรีม อาหารฟาสต์ฟู๊ด หรืออาหารที่มีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาลในปริมาณสูง ซึ่งการที่จะบังคับหรือแนะนำให้เขาออกกำลังคงเป็นเรื่องยาก แต่การกระโดดนอกจากจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง ยังเป็นการช่วยเผาผลาญแป้ง น้ำตาล ไขมันในร่างกายได้อีกด้วย และทำให้น้ำหนักของเขาอยู่เกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับวัยของเขา
3.ระบบน้ำเหลืองแข็งแรงยิ่งขึ้น
การกระโดดเป็นการกระตุ้นทำให้ระบบน้ำเหลืองทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังช่วยจัดการสารพิษในร่างกายของเด็กให้ถูกกำจัดออกไปด้วย รวมทั้งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายได้เพิ่มมากขึ้น
4.หัวใจแข็งแรง
เนื่องจากการกระโดดเป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ โดยการดีดตัวขึ้นจากพื้น ทำให้ร่างกายลอยอยู่เหนือพื้น เป็นหนึ่งในรูปแบบที่ช่วยทำให้หัวใจของเด็กๆ แข็งแรง แถมยังช่วยให้เลือดไหลเวียนไปทั่วทั้งร่างกาย
5.สุขภาพจิตดี
การกระโดดนอกจากช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยทำให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตสูบฉีดได้ดี แถมยังช่วยให้ออกซิเจนที่ได้รับเข้าไปเป็นจำนวนมากถูกสูบฉีดเข้าสมองของเด็กๆ ทำให้เกิดการตื่นตัวมากขึ้น และยังช่วยให้สมองปล่อยสารเอ็นดอร์ฟินออกมา ทำให้เด็ก ๆ มีความสุขมากขึ้นไปอีกด้วย
6.ส่งเสริมการเข้าสังคม
การที่คุณพ่อคุณแม่ได้พาเขาออกไปเที่ยวเล่นตามสวนสาธารณะ หรือสนามเด็กทั้งในอาคารและนอกอาคาร การที่เด็กได้วิ่งเล่นการกระโดดทำให้เด็ก ๆ อาจจะได้เจอกับเพื่อนใหม่สังคมมากขึ้น เพราะการกระโดด การเล่น ทำให้เด็ก ๆ สามารถพูดคุยกับเพื่อนใหม่ได้ง่ายขึ้น ทำให้เขารู้จักสังคมใหม่ ๆ มากขึ้นตามไปด้วย
ส่งเสริมการกระโดดของลูกได้อย่างไรบ้าง ?
สำหรับเด็กบางบ้านนั้นไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของพัฒนาการ แต่ที่ลูกของคุณไม่กล้าที่จะกระโดด หรือเริ่มต้นกระโดดด้วยตนเองอาจมีสาเหตุมาจากความกลัว หากคุณมั่นใจว่าพวกเขาอยู่ในวัยที่จะสามารถเริ่มกระโดดได้แล้ว ซึ่งเราควรส่งเสริมให้เขาได้กระโดดตามที่ใจของเขาอยากทำได้อย่างไรบ้าง
– คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรหงุดหงิด การที่เขากระโดดไม่ควรดุเขา หรือโวยวายมันอาจจะทำให้เขากลัว และขาดความมั่นใจ
– ช่วยพยุงพวกเขาโดยการถือมือ 2 ข้าง ช่วยยกขึ้นขณะที่พวกเขากำลังจะกระโดด
– จัดพื้นผิวที่จะกระโดดให้มีความอ่อนนุ่ม และเหมาะสำหรับการกระโดดขึ้นลง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ
– หาเทปกาวมาแปะบนพื้น และให้เขากระโดดตามเทปกาวที่แปะไว้
– กระโดดไปพร้อมกับพวกเขา จะดีแค่ไหนถ้าคุณพ่อคุณแม่กระโดดเล่นสนุกไปพร้อมกับเขา
– อย่าบังคับให้ลูกของคุณกระโดดก่อนถึงเวลา เพราะพัฒนาการของเด็กแต่ละคนนั้นต้องอาศัยความอดทนและการเรียนรู้จากสัญชาตญาณ การที่คุณบังคับให้ลูกกระโดดเร็วเกินไปอาจทำให้พวกเขาได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย และอาจจะทำให้เขากลัวการกระโดดและไม่กล้าเล่นสนุกอีกเลย
– เริ่มกระโดดลงขั้นบันได อาจทำให้พวกเขาเข้าใจในการกระโดดมากยิ่งขึ้น แต่ต้องระวังเรื่องของอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น
– เล่นกบกระโดด หรือกระต่ายกระโดด
– กระโดดเชือก หรือกระโดดยาง
– กระโดดจากวงกลมหนึ่งไปอีกวงกลมหนึ่ง
– หาแทรมโพลีน ที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับลูก มาช่วยในการกระโดด
บทส่งท้าย
การกระโดดอาจจะเป็นการเล่นซนในสายของคนทั่วไป แต่พอได้เห็นประโยชน์และข้อดีของการกระโดดไปแล้วนั้น ก็อาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เริ่มเปลี่ยนความคิด แล้วหันมาส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เขากระโดดมากขึ้นก็อาจจะเป็นได้ แต่ทุกอย่างต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ที่จะไม่ส่งผลอันตรายหรืออุบัติเหตุต่อลูกเด็ดขาด
เครดิตรูปภาพ www.parents.com jump-life.com www.healthline.com