บทความนี้ขอแนะนำ “ทารกแรกเกิด -1 ปี ควรนอนท่าไหนถึงจะดี หลับสบายไม่งอแง และปลอดภัย” จะให้ลูกนอนคว่ำหรือนอนหงายดีนะ เรื่อง ท่านอนลูก นั้นเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องขบคิด เพราะท่านอนแต่ละท่า ต่างก็มีข้อดีข้อเสียที่ต่างกัน มาดูกันดีกว่าว่า ท่านอนแบบไหน จึงจะดีต่อลูกของคุณมากที่สุด ทำให้ลูกนอนหลับสบายที่สุด ไม่สะดุ้งตื่นขึ้นมางอแงง่าย ๆ
ท่านอนลูก ที่เหมาะสมแต่ละช่วงอายุ
– แรกเกิด – 3 เดือน : นอนหงายและนอนตะแคง
โดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกที่กระดูกคอและกระดูกสันหลังของลูกยังไม่แข็งแรงพอ คุณพ่อคุณแม่ควรจัดศีรษะให้ลูกนอนสลับด้านบ่อยๆ ระหว่างหลับ เพราะจะทำให้ศีรษะทุยสวย และช่วยให้ลูกมองเห็นสภาพแวดล้อมได้ง่าย ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการชองลูกได้ ไม่ควรให้นอนคว่ำ เนื่องจากเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในขณะนอนหลับจากภาวะ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรืออาการหลับไม่ตื่นในเด็กทารก
– 4 – 6 เดือน : นอนคว่ำ
เมื่อกระดูกช่วงคอของทารกเริ่มแข็งแรง และขยับได้บ้าง เช่น ยกคอได้เล็กน้อย ฯลฯ คุณพ่อคุณแม่อาจปรับท่านอนตามวิธีจับลูกนอนคว่ำ วางแขนและขาให้อยู่ในท่าสบายตัว เอียงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้ใบหน้าและจมูกไม่จมไปกับหมอน แนะนำว่า หมอนควรแบนๆ ไม่ฟูและนิ่มมาก เพราะอาจจะหายใจไม่ออกได้ ยังช่วยลดการนอนสะดุ้งหรือผวาตื่นได้อีกด้วย ข้อดีของการนอนท่านี้คือ ทำให้นอนหลับสนิทไม่สะดุ้งตื่นง่าย แต่ด้วยความที่ยังคงมีความเสี่ยงเกิดอันตรายอยู่ จึงจำเป็นที่จะต้องมีคนดูแลช่วงนอนหลับเรื่อย ๆ
– 7-12 เดือน : นอนได้ทุกท่า
ทารกวัยนี้สามารถนอนได้ทุกท่า เพราะร่างกายค่อนข้างแข็งแรง และสามารถขยับร่างกายพลิกตัวเองได้ เพียงแต่ต้องจัดที่นอนให้เรียบร้อย มีราวและซี่กันเด็กตก เบาะและที่นอนพอดีกับเตียงไม่มีช่องว่าง มุมเสาเรียบป้องกันเด็กนอนดิ้นไปกระแทก และจากขอบบนที่นอนถึงราวกันตกควรมีความสูงไม่ต่ำกว่า 65 ซม. โดยรวมแล้ว ท่านอนเด็กแรกเกิดในช่วงนี้ไม่ได้มีอะไรน่ากังวลมากนัก เพียงแต่ต้องเลือกที่นอนเด็กให้เหมาะสม เพื่อความปลอดภัย เพราะเด็กเริ่มเคลื่อนไหวได้มากขึ้น
ข้อดี ข้อเสียของท่านอนแต่ละท่า
– นอนคว่ำ
ข้อดี : ศีรษะจะโหนก ทุย ดูสวย ลูกจะหลับสนิท ไม่สะดุ้ง หรือผวาตื่น
ข้อเสีย : ทำให้เห็นหน้าและการหายใจของลูกขณะหลับไม่ชัดเจน เพิ่มความเสี่ยงของภาวะ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรือโรคไหลตายในทารก โรคนี้มักพบในทารกอายุ 2-4 เดือน แต่ไม่มีสถิติการเสียชีวิตของทารกจากโรคนี้ในประเทศไทย
– นอนหงาย
ข้อดี : สังเกตการหายใจ หน้าตา ท่าทาง และลักษณะของลูกได้ชัดเจน ลดความเสี่ยงจากภาวะ SIDS ได้ ป้องกันการมีอะไรมาปิดใบหน้าของลูกได้ดีกว่า
ข้อเสีย : ลูกจะตื่นง่าย อาจทำให้ศีรษะแบบ
– นอนตะแคง
ข้อดี : สามารถสังเกตการหายใจ และใบหน้าของลูกได้ดีกว่าการนอนคว่ำ และรูปศีรษะนูนสวยกว่าการนอนหงาย
ข้อเสีย : ถ้านอนตะแคงด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ก็อาจทำให้รูปศีรษะเบี้ยวได้เช่นกัน ความเสี่ยงต่อภาวะ SIDS ต่ำกว่าการนอนคว่ำ แต่ยังคงมีอยู่
ทารกนอนตะแคง ได้ไหม ท่านอนตะแคงทารกที่ถูกต้อง เป็นอย่างไร
ทารกสามารถนอนตะแคงได้ แต่ควรที่จะนอนตะแคงสลับกับการนอนหงาย เป็นท่าที่เหมาะกับการพัฒนากล้ามเนื้อคอที่ยังไม่แข็งแรง ทำได้เพียงมองซ้ายขวา และฝึกให้ทารกสังเกตสิ่งรอบ ๆ ตัว โดยท่านอนตะแคงที่ถูกต้องควรจับลูกนอนสลับซ้ายขวาไปมา และควรมีหมอนข้างให้ทารกกอดเพื่อป้องกันไม่ให้ทารกหน้าคว่ำ อีกทั้งการนอนตะแคงข้างซ้ายขวาจะทำให้ทารกมีหัวที่สวยทุย
ท่านอนเด็กทารก กับโรคไหลตายในทารก
โรคไหลตายในทารกเป็นภัยเงียบที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นการเสียชีวิตอย่างกะทันหันและไม่ทันคาดคิดของเด็กทารกที่มีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่ง SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) ภาวะไหลตายในเด็กทารก หรือเรียกอีกชื่อ “Crib Death” การเสียชีวิตขณะนอนเปล มักจะเกิดขึ้นขณะที่ทารกกำลังนอนหลับและนอนบนเปล
ทารกที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 6 เดือนแรก หรือทารกที่คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดต่ำ ไม่ว่ากำลังหลับหรือตื่นอยู่ก็ตาม สาเหตุมักเกิดขึ้นขณะทารกนอนหลับเนื่องจากมีการปิดกั้นระบบทางเดินหายใจของทารก ซึ่งการที่ทารกนอนคว่ำก็มีส่วนให้เกิดภาวะนี้ ดังนั้น วิธีป้องกันหรือลดความเสี่ยงคุณพ่อคุณแม่ควรจัดท่านอนให้ถูกต้อง ด้วยการให้ลูกนอนในท่าทางที่นอนหงายอยู่เสมอ และคุณแม่ไม่ควรที่จะสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์หรือหลังคลอดก็ตาม
การนอนหลับ ดีต่อพัฒนาการทางสมองของลูกน้อยยังไง
ขณะที่ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่กำลังนอนหลับ สมองก็ยังมีการพัฒนาอย่างตลอดเวลา อย่างต่อเนื่องเพราะในช่วงที่ลูกน้อยกำลังนอนหลับเป็นช่วงที่สมองกำลังสร้างและเชื่อมต่อเซลล์สมองนับล้าน ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และความทรงจำที่ดีของลูก เพื่อให้ลูกได้เริ่มทำกิจกรรมได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและตลอดทั้งวัน
บทส่งท้าย
เพราะท่านอนนั้นสัมพันธ์กับพัฒนาการทางด้านร่างกายของลูก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม ควรให้ลูกนอนในท่าที่เหมาะกับวัยของเขา เพื่อให้สัมพันธ์กับพัฒนาการทางด้านร่างกาย และเพื่อความปลอดภัยของตัวลูกน้อยเองด้วย และที่สำคัญควรสร้างสภาพแวดล้อมห้องนอนให้สะอาดอากาศถ่ายเทสะดวก
เครดิตรูปภาพ pampers.co.uk newbornbaby.com.au www.babysensemonitors.com