บทความนี้ขอแนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับ ทารกแรกเกิดตัวเหลือง อันตรายหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไรดี ลูกตัวเหลือง ภาวะที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในเด็กแรกเกิด สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ มาดูกันเลยว่าลูกตัวเหลืองเพราะอะไร เป็นแล้วจะอันตรายไหม
รู้จักกับภาวะตัวเหลือง
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดสามารถพบได้ในทารกทุกเชื้อชาติ สิ่งที่ทำให้ทารกดูตัวเหลืองนั้นเกิดจากสารที่เรียกว่า “บิลิรูบิน” ภายในร่างกาย ปกติแล้วบิลิรูบินจะถูกสร้างขึ้นในกระแสเลือดและกำจัดออกจากร่างกายโดยตับ ซึ่งเป็นกระบวนการตามธรรมชาติขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์นั้น บิลิรูบินจะถูกกำจัดผ่านทางรกไปยังตับของมารดา เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ตับของทารกต้องทำหน้าที่กำจัดบิลิรูบินด้วยตัวเอง
แต่เนื่องจากตับของทารกแรกเกิดยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ในช่วง 2-3 วันแรก ดังนั้นทารกโดยทั่วไปจึงมีภาวะตัวเหลืองที่สังเกตได้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว อาการตัวเหลืองจะเริ่มจากบริเวณใบหน้า แล้วกระจายไปยังส่วนอก ท้อง แขนและขา ตามระดับของบิลิรูบิน ทารกบางรายอาจสังเกตพบบริเวณตาขาวว่ามีสีเหลืองกว่าปกติ
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด
ภาวะตัวเหลืองเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่
1) ภาวะตัวเหลืองปกติ (Physiologic Jaundice) เกิดจากทารกที่อยู่ในครรภ์มารดามีความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงมากกว่า และเม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าของผู้ใหญ่ เมื่อเม็ดเลือดแดงของทารกแตกสลายและเปลี่ยนแปลงไปเป็นบิลิรูบินมากกว่าปกติจนเกินความสามารถในการกำจัดของร่างกาย เนื่องจากตับของทารกยังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้การกำจัดบิลิรูบินด้วยตับยังไม่สมบูรณ์ เกิดการสะสมของสารบิลิรูบินขึ้นในร่างกาย หากทารกไม่มีความผิดปกติอื่นร่วมด้วยสามารถหายได้เองภายใน 1 – 2 สัปดาห์
2) ภาวะตัวเหลืองผิดปกติเนื่องจากมีพยาธิสภาพ (Pathologic Jaundice) มีหลายสาเหตุ เช่น
– ภาวะหมู่เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน พบในคู่ที่แม่มีหมู่เลือดโอกับลูกมีหมู่เลือดเอหรือบี หรือคู่ที่แม่มีหมู่เลือด Rh ลบ และลูกมี Rh บวก
– ทารกที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง หรือภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอ็มไซม์ G6PD ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ
– ทารกมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมากกว่าปกติ โดยเฉพาะทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นเบาหวาน
– ตัวเหลืองที่สัมพันธ์กับการกินนมแม่ พบในทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว มักเกิดกับทารกที่ได้รับนมไม่เพียงพอ สาเหตุที่พบบ่อยคือ ท่าอุ้มให้ลูกดูดนมแม่ไม่ถูกต้อง หรือเกิดจากปัจจัยทางลูก เช่น ลูกเกิดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อย หรือมีภาวะลิ้นติด ทำให้ดูดนมแม่ได้ไม่ดี
– สาเหตุอื่น ๆ เช่น ภาวะตับอักเสบ โรคท่อน้ำดีตีบ ซึ่งทารกจะมีอาการตัวเหลืองร่วมกับอุจจาระสีซีด ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น
วิธีการสังเกตลูกตัวเหลือง
ทารกบางคนจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีตาและตัวเหลือง แต่ก็มีวิธีการสังเกตอย่างง่าย ๆ คือการนำทารกไปอยู่ในห้องที่มีแสงสว่างพอ และควรเป็นแสงสีขาว ใช้นิ้วมือกดลงบนผิวหนังเด็กหรือใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กดที่ผิวหนังพร้อมกับแยกออกจากกันเพื่อรีดเลือดออกจากหลอดเลือดฝอยบริเวณที่จะตรวจ สังเกตสีที่เกิดขึ้น ซึ่งปกติจะเห็นเป็นสีขาว แต่ถ้าเห็นเป็นสีเหลือง โดยเฉพาะถ้าเหลืองถึงขาหรือหน้าแข้ง ควรรีบพาทารกไปพบแพทย์
การรักษาภาวะตัวเหลือง
ภาวะตัวเหลืองสามารถรักษาได้โดย
1. ให้นมทารกให้บ่อยที่สุด ประมาณวันละ 8-12 ครั้งต่อวัน ซึ่งเป็นวิธีรักษาทารกตัวเหลืองโดยธรรมชาติ วิธีนี้จะเป็นการเร่งการขับถ่ายอุจจาระออกมา เนื่องจากสารเหลืองจะถูกขับออกมาพร้อมกับของเสียเหล่านี้ วิธีนี้เหมาะสำหรับทารกที่มีสารเหลืองไม่สูงมาก
2. รักษาด้วยยา หากทารกที่กินนมแม่แล้วอาการทารกตัวเหลืองยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะใช้ยาชีววัตถุที่สามารถรักษาตัวเหลืองในทารก เช่น อิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
3. การส่องไฟ หากสารเหลืองในทารกมีปริมาณมากผิดปกติ จะต้องใช้วิธีการส่องไฟ โดยเป็นการใช้หลอดไฟชนิดพิเศษเป็นคลื่นแสงสีฟ้าส่องให้ระดับสารสีเหลืองในทารกลดระดับลงจนอยู่ในระยะที่ปลอดภัย วิธีนี้จะเป็นการเปลี่ยนสารสีเหลืองในร่างกายให้เป็นสารที่ละลายน้ำได้ เพื่อให้สารสามารถถูกขับออกมาทางปัสสาวะและอุจจาระได้ง่ายขึ้น
4. การเปลี่ยนถ่ายเลือด หากใช้วิธีส่องไฟแล้วสารเหลืองในทารกยังไม่ลดลง หรือทารกเริ่มแสดงอาการทางสมอง จะต้องทำการเปลี่ยนถ่ายเลือดเพื่อลดระดับสารเหลืองลง โดยนำเอาเลือดที่มีสารเหลืองออกจากทารก และนำเลือดอื่นเข้าไปทดแทนเลือดที่เสียไป เพื่อทำให้สารเหลืองในทารกลดลงอย่างทันท่วงที โดยวิธีนี้เป็นวิธีที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้นจึงจะใช้เมื่อมีสารเหลืองสูงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อทารกเท่านั้น
บทส่งท้าย
สำหรับภาวะลูกตัวเหลืองสามารถเกิดขึ้นได้กับทารกแรกเกิดทุกคน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อย่ากังวลมากจนเกินไปนะคะ เพียงแค่ทำตามคำแนะนำและหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยบ่อย ๆ ก็พอ ซึ่งถ้ามีอาการตัวเหลืองไม่มาก ไม่กี่สัปดาห์อาการตัวเหลืองก็จะหายไปได้เอง
เครดิตรูปภาพ