บทความนี้ขอแนะนำ “Babymoon Trip พาลูกในครรภ์เที่ยว คืออะไร แล้วต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง” พาลูกในครรภ์เที่ยว อาจมีความคล้ายคลึงกับการฮันนีมูน นั่นคือ การไปพักผ่อนเพื่อเตรียมพร้อมก่อนคลอด โดยมีทารกในครรภ์ร่วมเดินทางไปด้วย แต่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ช่วงไหนถึงจะปลอดภัยและเหมาะที่สุดกับการไปเบบี้มูนครั้งนี้ล่ะ
Babymoon Trip คืออะไร
คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนอาจเคยได้ยินการไปเที่ยวแบบ “Babymoon” หรือ “Babymoon Trip” แต่อาจไม่เข้าใจความหมาย หากคุณแม่ยังตั้งครรภ์อยู่และไม่ได้อยู่ในช่วงที่สุ่มเสี่ยงจะถึงกำหนดคลอด สามารถเที่ยวแบบ Babymoon ได้ เพราะการเที่ยวแบบนี้ คือ การไปเที่ยวกับคนรัก โดยที่มีเจ้าตัวน้อยอยู่ในครรภ์ เหมือนกับการพาลูกไปเที่ยว ก่อนที่ลูกจะคลอดออกมาลืมตาดูโลกนั่นเอง ถือเป็นการเติมความหวาน และเป็นการเติมเต็มช่วงเวลาที่พิเศษของคู่รัก ก่อนที่หลังจากนี้จะต้องปรับตัว และให้เวลาส่วนมากกับทั้งการทำงาน และการดูแลทารกที่ถือว่าไม่ง่ายเลย
อายุครรภ์เท่าไหร่เหมาะต่อการไปเที่ยวแบบ Babymoon
ถ้าจะให้สบายตัวที่สุด แนะนำให้ว่าที่คุณแม่ให้ออกไปเที่ยวในช่วงไตรมาส 2 คือช่วง 14-28 สัปดาห์ เพราะเป็นช่วงที่อาการดีขึ้นจากการแพ้ท้อง เพราะในไตรมาสแรก ส่วนใหญ่คุณแม่จะคลื่นไส้อาเจียน ทานได้น้อย เหม็นทุกอย่าง อยากนอนอย่างเดียว พอเข้าไตรมาส 2 อาการแพ้เริ่มดีขึ้น อาหารเริ่มเป็นมิตร รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น และก็ยังอยู่ในช่วงที่ไม่อุ้ยอ้ายมากนัก เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 แถมถ้าเข้าไตรมาส 3 เที่ยวไปเที่ยวมา เกิดเจ็บท้อง เดี๋ยวจะได้คลอดนอกสถานที่กันพอดี
ก่อนไปเที่ยว Babymoon ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
1. กำหนดช่วงเวลาที่ใช่
นั่นก็คืออยู่ระหว่างที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 หรือ 14-28 สัปดาห์ เพราะอาการคลื่นไส้อาเจียนในช่วง 3 เดือนแรกจะค่อย ๆ ลดลง ท้องของคุณแม่ยังไม่ใหญ่มากในการทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าให้ล่วงเลยไปในสัปดาห์ท้าย ๆ เดินไปไหนก็จะค่อนข้างเหนื่อยง่าย และสายการบินก็อาจจะไม่อนุญาตให้คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้ายเดินทางแล้วด้วย
2.ปรึกษาคุณหมอก่อนทุกครั้ง
บางทริปถ้าไม่ชัวร์ว่าเราจะโอเคหรือเปล่า ให้ไปคุยกับคุณหมอที่เราฝากครรภ์ บางที่จำเป็นต้องขอใบรับรองแพทย์ว่าตั้งครรภ์ในการเดินทางว่าต้องผ่านเครื่องเอ็กซ์เรย์หรือเปล่า จะปลอดภัยกับลูกในท้องมั้ย หรือควรได้รับวัคซีนอะไรล่วงหน้า รวมทั้งอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
3.เลือกจุดหมายปลายทางที่ไม่ยากเกินไป
ขอให้เวลาเดินทางไม่นานมากเกินไป อย่างถ้าคิดจะขับรถ 10 ชั่วโมงจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ คุณแม่อาจต้องนั่งนานมากเกินไป ปวดหลัง ขาบวม แวะปัสสาวะบ่อย ถ้าจะขับรถเที่ยวให้ดูที่ไม่ไกลมากไป พยายามอย่าเลือกที่ที่ต้องเดินทางเกิน 5-6 ชั่วโมง มีน้ำ มีของว่างที่มีประโยชน์หยิบมากินได้ตลอดทาง ลองไปทะเลหรือภูเขาที่เน้นความสงบสบาย ไม่ผจญภัยมากเกินไปไว้ดีกว่า ระหว่างทางอย่าลืมคาดเข็มขัดนิรภัยไว้ด้วยเพื่อความปลอดภัย
4.เตรียมอุปกรณ์ในการเดินทางให้พร้อม
มีของจำเป็นหลายอย่างที่แม่ท้องจะต้องเตรียมตัวก่อนออก Babymoon Trip ที่ควรเช็ก ก่อนว่ามีครบหรือไม่ก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 1 วัน หากขาดเหลืออะไรจะได้หาซื้อเตรียมไว้ก่อน ไม่ควรวางใจที่จะไปหาจากร้านค้าข้างหน้าตอนเดินทาง เพราะอาจไม่มีขายก็ได้ ของที่ต้องเตรียม ตัวอย่างเช่น
– สมุดฝากครรภ์ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำติดตัวไว้ตลอด เนื่องจากหากเกิดเหตุฉุกเฉินข้อมูลในสมุดฝากครรภ์ สีชมพูนี้จะมีข้อมูลที่คุณหมอใช้พิจารณาในการรักษาอาการต่าง ๆ ได้
– หากเดินทางไปต่างประเทศไม่ควรลืมใบรับรองแพทย์ เพื่อใช้แสดงตัวในกรณีต่าง ๆ เช่น การต้องรับการเอกซเรย์ เป็นต้น
– ยาประจำตัว หรือยาอื่น ๆ ที่แพทย์ยังสั่งให้ทานอยู่ รวมไปถึงยาสามัญทั่วไป เช่น พาราเซตามอล เป็นต้น และอย่าลืมยาทากันยุง หรือครีมต่าง ๆ ที่ใช้ในช่วงตั้งครรภ์
5.เตรียมข้อมูลให้พร้อม
ถ้าคุณแม่มองไว้ว่าจะไปในประเทศ ก็ให้ดูว่าแถบที่เราไปพักมีโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดคือที่ไหน รวมทั้งเวลาไปต่างประเทศก็เช่นกัน และควรทำประกันการเดินทาง ดูข้อมูลว่าสถานทูตไทยอยู่ที่ไหน เบอร์ติดต่ออะไร เพราะถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้มีสติและไม่ต้องร้อนรนในการหาความช่วยเหลือ
6.เดินทางให้ราบรื่นที่สุด
หลายๆ สายการบินจะค่อนข้างอำนวยความสะดวกให้คุณแม่ตั้งครรภ์อยู่แล้ว อย่างที่บอกว่าให้เตรียมใบรับรองทางการแพทย์ว่าเราปลอดภัยบินได้ชัวร์ คุณแม่เองก็อย่าลืมเข้าไปดูกฎการบินต่าง ๆ เลือกที่นั่งริมทางเดินให้สะดวกกับการลุกไปเข้าห้องน้ำ และมั่นใจคอยดื่มน้ำอยู่ตลอด
7.แจ้งเจ้าหน้าที่ว่ากำลังตั้งครรภ์
ไม่ใช่แค่ให้คนอื่นรับทราบเตรียมพร้อมความปลอดภัยระหว่างเดินทางเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่บางคนพอรู้ว่านี่คือทริปเบบี้มูน คุณแม่อาจได้รับอัพเกรดที่นั่งหรือห้องพัก บางที่อาจเตรียมเซ็ตของขวัญรับขวัญเด็กเล็ก ๆ น้อย ๆ สร้างความประทับใจให้ว่าที่คุณแม่คนใหม่มีความสุขที่สุดจริง ๆ
กิจกรรมที่ควรทำเมื่อเที่ยวแบบ Babymoon
กิจกรรมในระหว่างที่พาลูกในครรภ์เที่ยวนั้นอาจขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล แต่อาจต้อระวังการทำกิจกรรมที่ผาดโผน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น กิจกรรมที่อาจทำได้ขณะที่พาลูกในครรภ์เที่ยวอาจมีดังนี้
– เที่ยวพิพิธภัณฑ์หรือแกลลอรี่
– สปา
– จองร้านอาหารบรรยากาศดี ๆ สำหรับมื้อค่ำ
– เที่ยวชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
– เที่ยวทะเล
– ถ่ายรูปเล่น พักผ่อนตามธรรมชาติ
บทส่งท้าย
การจัดทริปก่อนคลอดอาจช่วยให้ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่มีเวลาในการอยู่ด้วยกัน พักผ่อนก่อนการคลอดลูก ได้ใช้เวลาส่วนตัวกับคู่รักอีกครั้งอย่างเต็มเปี่ยม เป็นการเติมความหวานของชีวิตคู่ เพื่อเป็นแรงผลักดันต่อไปในการดูแลทารกน้อยในอนาคต
เครดิตรูปภาพ www.mother.ly health.clevelandclinic.org www.sandals.com