บทความนี้ขอแนะนำ “เป็นไข้เลือดออกตอนตั้งครรภ์อันตรายไหม ภัยร้ายที่ต้องเฝ้าระวัง” ไข้เลือดออก ไม่ใช่แค่ทำอันตรายกับคนทุกเพศทุกวัย เพราะหากคุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อนี้ ก็จะส่งผลอันตรายทั้งต่อตัวคุณแม่เองและลูกน้อยจนทำให้ถึงกับแท้งหรือตกเลือดได้ทั้งตอนตั้งครรภ์และขณะคลอด ซึ่งบทความนี้มีข้อมูลของไข้เลือดให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้เฝ้าระวังกันมาฝากกัน
ไข้เลือดออก คืออะไร
ไข้เลือดออก คือโรคที่เกิดจากไวรัสเดงกี (Dengue) ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งพบได้บ่อยมากในประเทศไทยที่มีจำนวนยุงลายเยอะมาก ทำให้ประเทศไทยสามารถพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้ตลอดปี แต่มักมีการระบายหนักในช่วงฤดูฝน ที่มีจำนวนยุงลายมากเป็นพิเศษ อาการของโรคไข้เลือดออกนั้นจะแสดงอาการได้ในเฉลี่ยหลังจากถูกยุงกัด 3-15 วัน (โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 5-6 วัน) โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ติดเชื้อแต่อาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก ไม่เพียงแต่มีความเสี่ยงของตัวเองเท่านั้น เชื้อยังอาจผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ และทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยผิดปกติ คลอดก่อนกำหนด หรือเสียชีวิตในครรภ์ได้ แต่ไม่ได้ไปทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิดของทารก ในคุณแม่ตั้งครรภ์อาจจะมีอาการทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่
อาการไข้เลือดออก ทั้งหมด 3 รูปแบบ
1.อาการที่มีเหมือนกันนั้นก็คือ จะมีไข้สูง และอาจมีผื่นเป็นปื้น และเกิดจุดแดง ๆ คล้ายหัดตามผิวหนัง อาการนี้โดยปกติมักเกิดในเด็กเล็กมากกว่า
2.อาการนี้จะมีไข้สูงเช่นกัน และจะมีอาการปวดทั่วร่างกาย เช่น ปวดรอบศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ และอาการปวดกระดูก โดยอาการของกระดูกจะมีความรุนแรงกว่าส่วนอื่น ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนกับกระดูกจะแตก และจะมีอาการที่มีผื่นขึ้นตามตัว และมีขุดเลือดออกตามผิวหนัง เมื่อทำการตรวจโดยแพทย์แล้ว จะพบได้ว่ามีเม็ดเลือดขาวต่ำ และมีเกล็ดเลือดต่ำ
3.นอกจากจะมีไข้สูง จะยังมีอาการปวดท้อง และมีอาการเบื่ออาหาร อาเจียน รวมไปถึงปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อร่วมด้วย รวมไปถึงมีอาการเลือดออกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือในอาการรุนแรง ยังอาจมีอาการเลือดออกในตับ ไต สมอง ฯลฯ ได้ด้วย โดยอาการเหล่านี้เป็นอาการรุนแรง และมีอันตรายถึงชีวิต ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
อาการของโรคไข้เลือดออก
อาการของโรคไข้เลือดออกนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นไปตามระยะ
* ระยะที่ 1
มีไข้สูงมากกว่า 38 องศา โดยเมื่อเวลาผ่านไป 3-4 วัน ไข้ก็ยังไม่ลดลง มีอาการปวดกระดูก เหมือนกระดูกจะแตก และปวดเบ้าตามาก และเริ่มมีอาการผื่นขึ้นตามผิวหนัง เป็นปื้น ๆ ในการรักษาอาการไข้เลือดออกในระยะแรกนี้ หากตรวจแล้วมีเกล็ดเลือดต่ำ ก็จะมีการให้เกล็ดเลือด และจะให้น้ำเกลือหรือผงเกลือแร่ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของเลือด และเพิ่มสารอาหาร เพื่อให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น
* ระยะที่ 2
มีจุดเลือดตามผิวหนัง โดยจะเป็นเหมือนรอยยุงกัด แต่จะมีสีเข้มและชัดเจนกว่า อาจมีเลือดกำเดาไหล หรือมีเลือดออกตามเหงือก หากมีความรุนแรง จะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด
* ระยะที่ 3
ไข้จะลดลง ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกถึงภาวะช็อกที่กำลังใกล้เข้ามา ความดันต่ำลง แต่หัวใจจะมีอัตราการเต้นเร็วขึ้นมาก คนไข้จะมีอาการกระสับกระส่าย เหงื่อออกมากกว่าปกติ
* ระยะที่ 4
เป็นอาการระยะสุดท้าย มีภาวะช็อกขั้นรุนแรง มีความดันที่ต่ำมาก จนแทบจะไม่สามารถวัดได้ และส่งผลให้เลือดจะไม่ไปเลี้ยงตับ ไต และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จนนำไปสู่การเสียชีวิต
โรคไข้เลือดออก ส่งผลอย่างไรต่อลูกในครรภ์บ้าง
– ไตรมาสแรก (12 สัปดาห์แรก)
เป็นขั้นที่อันตรายมาก ถ้าหากคุณแม่เป็นไข้เลือดออกในช่วงนี้ จะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ลูกในครรภ์เสี่ยงต่อการแท้งได้
– ไตรมาสสอง (12-28 สัปดาห์)
หากคุณแม่ตรวจพบโรคไข้เลือดออกในช่วงนี้ อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะทำให้ลูกน้อยที่คลอดออกมามีน้ำหนักน้อย แต่ลูกจะปลอดภัย เพราะว่าเชื้อไวรัสยังไม่สามารถเข้าถึงลูกน้อยได้
– ไตรมาสสาม (29-40 สัปดาห์)
เป็นช่วงที่มีความอันตรายมาก เพราะถ้าคุณแม่ท้องเป็นไข้เลือดออกในช่วงเวลานี้ โดยหากเป็นไข้เลือดออกในระยะที่ 2 เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว อาจจะติดโรคไข้เลือดออกผ่านทางสายสะดือได้ และอันตรายยิ่งกว่า ถ้าหากเป็นไข้เลือดออกในระยะที่ 3-4 จะส่งผลให้ลูกน้อยเสียชีวิตในครรภ์ได้ หากคลอดเองคุณแม่ก็จะมีอาการตกเลือด และถ้าหากผ่าคลอด ก็จะเกิดอาการเสียเลือดมาก จนส่งผลให้อาจเสียชีวิตได้
การรักษาไข้เลือดออก ขณะตั้งครรภ์
สำหรับแม่ท้องแล้วการรักษาไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป คือรักษาตามอาการ ไม่มียาเฉพาะเจาะจงที่ใช้กับโรคไข้เลือดออก การรักษามุ่งเน้นแก้ภาวะขาดน้ำ และภาวะช็อก โดยการให้สารน้ำ หากมีไข้สูงห้ามให้แอสไพรินหรือยาจำพวกเอ็นเสด เช่น ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) มีลอกซิแคม (Meloxicam) ฯลฯ แต่ควรใช้ยาลดไข้พาราเซตามอลแทน ซึ่งปกติสามารถให้ได้ในคนท้อง ข้อควรระวังคือ หากไม่จำเป็นไม่ควรจะผ่าตัดคลอดเพราะอาจเสียเลือดมากจากเกล็ดเลือดต่ำ กรณีที่ต้องทำ แพทย์จะต้องทำด้วยความระมัดระวัง พร้อมเตรียมเลือด น้ำเหลืองพลาสม่า และเกล็ดเลือดให้พร้อม
การป้องกันโรคไข้เลือดออก
1.นอนในมุ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนในมุ้งแม้จะเป็นในเวลากลางวัน
2.กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ทั้งในบ้าน หรือบริเวณรอบบ้าน รวมไปถึง กำจัดภาชนะแตกหักที่มีการขังน้ำ เช่น แจกัน ยางรถเก่า กระถางต้นไม้
3.เลี้ยงปลากินลูกน้ำ เพราะจะสามารถป้องกันการเพิ่มจำนวนของยุงที่มาวางไข่ในน้ำได้
4.ปิดฝาโอ่ง หรือภาชนะต่าง ๆ ให้มิดชิด หรือใส่ทรายเคมี เพื่อกำจัดลูกน้ำในภาชนะที่เก็บน้ำ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
5.ทาครีมกันยุง ครีมกันยุง สามารถป้องกันยุงกัดได้ดี
บทส่งท้าย
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดขึ้นและพบได้บ่อยในประเทศไทยตลอดปี และมีอาการที่แตกต่างกันไปตามในระยะของโรค ซึ่งมีความอันตรายอย่างมากต่อคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ยุงกัดเป็นวิธีที่ดีที่สุด ยุงลายที่นำเชื้อไข้เลือดออกมักกัดตอนกลางวัน คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรอยู่ในห้องที่มีมุ้งลวด หากต้องทำกิจกรรมในห้องตอนกลางวัน การใช้ยากันยุงแบบโลชั่น ครีมหรือแบบสเปรย์ก็สามารถช่วยได้
เครดิตรูปภาพ www.amazon.de www.gleneagles.com.sg parenting.firstcry.com