บทความนี้ขอแนะนำ “อาการที่บ่งบอกว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ ในระยะ 3 เดือนแรกที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้” อาการคนท้อง เป็นกลุ่มอาการที่จะบอกให้คุณแม่ทราบและสังเกตตัวเองได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่า นี่ฉันอาจจะกำลังตั้งครรภ์รึเปล่านะ แต่อาการคนท้องระยะแรก ๆ ที่สามารถสังเกตได้มีอะไรบ้าง และอาการคนท้องจะเริ่มขึ้นตอนไหน บทความนี้มีคำตอบมาฝากกัน
อาการที่บ่งบอกว่าคุณอาจจะกำลังตั้งครรภ์
สำหรับคุณแม่ที่เคยผ่านการตั้งครรภ์มาแล้ว ย่อมรู้ถึงอาการต่าง ๆ ที่เป็นสัญญาณบอกถึงการตั้งครรภ์เป็นอย่างดี หรือบางคนแม้จะผ่านการตั้งครรภ์มาแล้ว ก็อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับอาการตั้งครรภ์ก็เป็นไปได้เช่นกัน อาการที่บ่งบอกว่าคุณอาจจะกำลังตั้งครรภ์ มีอาการแบบไหนบ้าง เพื่อให้ว่าที่คุณแม่รู้และเตรียมรับมือให้ได้
1.ประจำเดือนขาด
เริ่มแรกเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ จะมีอาการประจำเดือนขาด ดังนั้นถ้าคุณแม่มีการจดบันทึกการมารอบเดือนก็จะทำให้สังเกตได้ง่าย ซึ่งหากประจำเดือนของคุณแม่ขาดเกิน 10 วัน ก็สามารถสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้เลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาการประจำเดือนขาดสามารถเกิดขึ้นได้หากร่างกายเกิดความเครียด กินยาคุมกำเนิด หรือเป็นโรคบางชนิด
2.เต้านมคัด
ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจพบว่าหน้าอกหรือเต้านมนั้นมีการเปลี่ยนแปลง โดยหน้าอกจะมีขนาดใหญ่ขึ้น หนาขึ้น หากคล้ำแล้วจะรู้สึกแข็งกว่าปกติและมีอาการเจ็บร่วมด้วย อาการเหล่านี้อาจค่อย ๆ รุนแรงขึ้นจนทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสโดนหน้าอกหรือมีการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่อาการคัดเต้านมอาจลดน้อยลงหลังจากตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน
3.อาการคลื่นไส้ หรืออาการแพ้ท้อง
สำหรับผู้ที่เพิ่งตั้งท้องได้ 1 สัปดาห์มักจะยังไม่ค่อยมีอาการแพ้ท้องมากนัก ในบางรายอาจจะมีอาการปวดหัว หรือเวียนหัวเล็กน้อย เนื่องจากร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคุณแม่แต่ละคน
4.เลือดล้างหน้าเด็ก
การตั้งครรภ์ในช่วงระยะ 3 เดือนแรก คุณแม่อาจมีอาการเลือดออกเล็กน้อยคล้ายกับประจำเดือน ซึ่งเป็นเลือดที่เรียกกันว่า เลือดล้างหน้าเด็ก เกิดจากการที่มดลูกมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากตัวอ่อนฝังตัวที่บริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก จึงทำให้มีเลือดออกเล็กน้อย สีของเลือดอาจเป็นสีชมพูหรือสีแดงจางๆ แต่จะไม่มีอาการปวดเกร็งที่ท้องแต่อย่างใด
5.ปัสสาวะบ่อย
ในช่วงตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรก มดลูกจะเกิดการขยายตัวเพื่อรองรับทารกในครรภ์ จึงทำให้เลือดไปเลี้ยงที่บริเวณมดลูกมากยิ่งขึ้น โดยกระบวนการนี้จะทำให้ร่างกายของคุณแม่มีของเหลวมากขึ้น บวกกับการที่มดลูกขยายตัวจนไปเบียดที่กระเพาะปัสสาวะ จึงทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการปัสสาวะบ่อย
6.ท้องอืดและท้องผูก
เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูงขึ้นเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ นั่นจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณแม่มีอาการท้องอืดและท้องผูก บ่อยครั้งจะมีอาการไม่สบายท้อง เพราะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหาร อีกทั้งการขยายของมดลูกที่ทำให้เกิดการเบียดกับลำไส้ใหญ่ ก็ส่งผลกระทบต่อการบีบตัวของลำไส้ ทำให้เกิดอาการไม่สบายท้องได้เช่นกัน
7.มีอาการอ่อนเพลีย
ระดับฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนและเอสโตรเจนจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นหลังจากตั้งครรภ์ ทำให้ร่างกายทำงานหนักมากขึ้นและสูญเสียพลังงานได้ง่าย ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกง่วงนอน อ่อนเพลีย และเหนื่อยล้า โดยอาการอ่อนเพลียอาจพบได้ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของการตั้งครรภ์ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ แต่คุณแม่บางคนอาจพบอาการนี้หลังจากตั้งครรภ์เพียงสัปดาห์เดียว
8.อารมณ์อ่อนไหว แปรปรวน
การตั้งครรภ์ส่งผลให้ระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจนเตอโรนสูงขึ้น จึงกระทบต่อสภาวะอารมณ์และความรู้สึกของผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ได้ง่าย โดยคุณแม่อาจมีอารมณ์ที่อ่อนไหวมากกว่าปกติหรืออารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เช่น เศร้า หดหู่ หงุดหงิด กังวล ตื่นเต้นหรือมีความสุขในบางครั้ง นอกจากนี้ คนท้องอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ได้อีกด้วย หากตัวคุณแม่เองหรือคุณพ่อสังเกตพบว่าเกิดอารมณ์ซึมเศร้าหรือหดหู่นานต่อเนื่องกว่า 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาและขอคำแนะนำจากแพทย์ เพราะภาวะทางด้านอารมณ์อาจกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
9.มีไข้ต่ำ ๆ
ร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่าปกติ เพราะร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อีกทั้งร่างกายยังต้องสร้างเลือดเพิ่มเพื่อไปเลี้ยงทารก เพื่อให้เต้านมขยาย และเพื่อสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ดังนั้นในช่วงตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรก คุณแม่จะมีไข้ต่ำ ๆ จึงถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เสมอ
10.ไวต่อกลิ่น
สังเกตเห็นได้เลยว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอาการแพ้ท้อง โดยเฉพาะเมื่อตั้งครรภ์อ่อน ๆ คุณแม่จะมีอาการไวต่อกลิ่น บางครั้งกลิ่นที่ตัวเองเคยชอบ อาจกลายเป็นกลิ่นที่ไม่ชอบไปเลย บางรายอาจถึงขั้นเหม็นกลิ่นสามีขึ้นมาเลยก็ว่าได้
เมื่อร่างกายเริ่มแสดงอาการคนท้องแรก ๆ คุณแม่ควรวางแผนอะไรบ้าง
– ตรวจครรภ์ เป็นการตรวจครรภ์เบื้องต้นด้วยตัวเอง โดยใช้ที่ตรวจครรภ์ตรวจจากปัสสาวะ เพื่อยืนยันว่าอาการดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการตั้งครรภ์จริง ๆ
– ไปพบแพทย์ หากผลลัพธ์ออกมาว่าตั้งครรภ์ ขั้นตอนต่อไปคือการไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจยืนยันการตั้งครรภ์อีกครั้ง และทำการฝากครรภ์ เมื่อทำการฝากครรภ์ แพทย์จะให้คำแนะนำในการเริ่มดูแลตัวเอง มอบสมุดสำหรับการฝากครรภ์ รวมถึงทำการนัดหมายเพื่อทำการตรวจครรภ์ในครั้งต่อไปด้วย
บทส่งท้าย
แม้ว่าอาการคนท้องระยะแรกเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปและมักไม่รุนแรง แต่หากมีอาการหนักขึ้นหรือเป็นต่อเนื่องกันนานกว่าปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์แล้ว สิ่งที่คุณแม่ควรใส่ใจก็คือการได้รับโภชนาการที่ดี มีคุณภาพ ซึ่งไม่เพียงสำคัญกับพัฒนาการลูกในครรภ์ แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพ และช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้คุณแม่เองด้วย
เครดิตรูปภาพ flo.health www.enfagrow.com.my www.beingtheparent.com www.mom365.com