บทความนี้ขอแนะนำ “อัลตราซาวด์ขณะตั้งครรภ์คืออะไร สำคัญขนาดไหนจำเป็นต้องทำหรือเปล่า” อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมาก ๆ สำหรับแม่ท้องก็คือ การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ เพื่อยืนยันว่าทารกในครรภ์นั้นปลอดภัย ไม่ได้มีภาวะคับขันอะไร เพราะบางครั้งอาจจะมีปัญหาหรือความผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ แต่การอัลตร้าซาวนด์จะจำเป็นต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ขนาดไหน บทความนี้มีข้อมูลมาฝากกัน
การตรวจอัลตร้าซาวด์คืออะไร
การตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) หรือ “การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง’ เป็นการตรวจที่ใช้ “คลื่นเสียง” ในการสร้างภาพลูกในท้องคุณแม่ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจจะปล่อยคลื่นเสียงผ่านร่างกายคุณแม่ คลื่นเสียงนี้จะสะท้อนกับกล้ามเนื้อ, ไขมัน, อวัยวะในช่องท้อง และร่างกายของทารก, รก, น้ำคร่ำที่อยู่ในมดลูกของคุณแม่ แล้วสะท้อนกลับมายังอุปกรณ์ตรวจรับเพื่อแปลงเป็นภาพทางหน้าจออีกครั้ง
ประโยชน์ของการตรวจอัลตร้าซาวนด์ระหว่างการตั้งครรภ์
การตรวจอัลตร้าซาวนด์ระหว่างตั้งครรภ์ มีประโยชน์ในการตรวจความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายทารกในครรภ์และโครงสร้างหลัก ได้แก่ ดูรก สายสะดือ น้ำคร่ำ กะโหลกศีรษะ เนื้อสมอง แขน ขา ช่องอก เนื้อปอด หัวใจ ผนังหน้าท้อง และอวัยวะหลักภายในช่องท้อง การวัดขนาดของทารกจากการตรวจอัลตร้าซาวนด์ ยังช่วยในการยืนยันอายุครรภ์ และกำหนดวันคลอดในรายที่มารดาจำประจำเดือนไม่ได้ หรือประจำเดือนไม่แน่นอน ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในการดูแลรักษาในช่วงใกล้คลอด ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์เกินกำหนด ซึ่งอาจมีผลเสียต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ได้
ประเภทของอัลตร้าซาวนด์
1.อัลตร้าซาวนด์ 2 มิติ (2D ultrasound)
เป็นภาพระนาบเดียวไม่มีความลึก เพื่อตรวจดูขนาด และความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ และการไหลเวียนเลือดของทารกในครรภ์ พร้อมตรวจอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานของคุณแม่
2.อัลตร้าซาวนด์ 3 มิติ (3D ultrasound)
เป็นภาพนิ่งที่เหมือนจริง โดยภาพมีความลึกขึ้นมา ใช้วินิจฉัยร่วมกับอัลตร้าซาวนด์แบบ 2 มิติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัย กรณีที่ตรวจพบความผิดปกติของทารกในครรภ์
3.อัลตร้าซาวนด์ 4 มิติ (4D ultrasound)
เป็นเทคโนโลยีล่าสุด เป็นภาพ 3 มิติที่เคลื่อนไหว สามารถตรวจเห็นภาพในเชิงลึก เห็นภาพการเคลื่อนไหวและอิริยาบถต่างๆ ของทารกในครรภ์ จุดประสงค์การใช้เช่นเดียวกับอัลตร้าซาวนด์ 3 มิติ
ช่วงอายุครรภ์ที่แนะนำและข้อบ่งชี้
การตรวจอัลตร้าซาวนด์สามารถตรวจได้ทุกช่วงอายุ และตลอดการตั้งครรภ์ตามความพิจารณาของแพทย์ ทั้งนี้ช่วงอายุครรภ์ที่ควรได้รับการตรวจอัลตร้าซาวนด์มีช่วงระยะเวลา ดังนี้
อายุครรภ์ 5-11 สัปดาห์
– เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก พร้อมวินิจฉัยแยกภาวะลูกแฝด
– เพื่อประเมินและกำหนดอายุครรภ์จากการวัดขนาดของทารกในครรภ์
– ตรวจวินิจฉัยภาวะเลือดออกผิดปกติจากชั้นใต้เยื่อหุ้มรก
ตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก ตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวอ่อน ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
– วินิจฉัยภาวะเนื้องอกมดลูก และถุงน้ำหรือเนื้องอกรังไข่
อายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ 6 วัน
-ตรวจวัดขนาดของทารกเพื่อกำหนดอายุครรภ์
-ตรวจวัดความหนาของชั้นน้ำ (Nuchal translucency) ที่สะสมใต้ผิวหนังบริเวณต้นคอของทารก สำหรับใช้พิจารณาร่วมกับผลการเจาะเลือดของคุณแม่ เพื่อใช้ในการคัดกรองทารกดาวน์ซินโดรม*
-ตรวจวินิจฉัยความพิการที่รุนแรงของทารกเบื้องต้นได้หลายชนิด
-ตรวจประเมินอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของมารดา เช่น มดลูก และรังไข่
อายุครรภ์ 18-23 สัปดาห์
เป็นช่วงที่สำคัญและใช้เวลาในการตรวจนานที่สุดประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง
– ตรวจคัดกรอง และวินิจฉัยความผิดปกติทางโครงสร้างของอวัยวะต่างๆของทารก เช่น กะโหลกศีรษะ เนื้อสมอง ไขสันหลัง แขน ขา และหัวใจ เป็นต้น
– ตรวจดูการเจริญเติบโตของทารก ตรวจตำแหน่งของรก ประเมินปริมาณน้ำคร่ำ
– ตรวจความยาวของปากมดลูก เพื่อทำนายความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
อายุครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ ถึงช่วงใกล้คลอด
– ตรวจการเจริญเติบโตของทารก ประเมินน้ำหนักทารก
– วินิจฉัยภาวะทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (Fetal growth restriction)
– ตรวจตำแหน่งรก วินิจฉัยภาวะรกเกาะต่ำ ตรวจท่าของทารก และปริมาณน้ำคร่ำ
– ตรวจประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ โดยตรวจดูการหายใจของทารก การเคลื่อนไหว และประเมินภาวะน้ำคร่ำ
– ในรายที่คุณแม่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แนะนำให้ตรวจที่อายุครรภ์ 30-32 สัปดาห์
– ในรายที่คุณแม่มีครรภ์เสี่ยงสูง ตั้งครรภ์แฝด หรือมีภาวะแทรกซ้อน ควรได้รับการประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ที่บ่อยขึ้นตามความพิจารณาของสูติแพทย์
อัลตร้าซาวด์บ่อย ๆ อันตรายหรือไม่
จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่พบว่าการตรวจอัลตร้าซาวด์มีอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ทั้งในเรื่องของความพิการแต่กำเนิด, พัฒนาการและการเจริญเติบโต, โรคมะเร็ง, โรคจิตเภท หรือความผิดปกติอื่นภายหลังการคลอด คุณแม่จึงสามารถมั่นใจในการตรวจอัลตร้าซาวด์ได้
ผลอัลตร้าซาวด์ เชื่อถือได้แค่ไหน การตรวจอัลตร้าซาวด์มีความผิดพลาดหรือไม่
มีโอกาสผิดพลาดได้จาก สาเหตุหลักๆ คือ
1.อวัยวะของทารกไม่ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ในครรภ์ ความผิดปกติจึงอาจเกิดตอนหลังคลอดได้
2.อวัยวะบางอย่างมันเล็กมาก บางอย่างเรามองไม่เห็น อย่างนิ้วถ้าเด็กไม่กางมา เราก็มองไม่เห็น หรือหัวใจถ้าเล็กกว่าครึ่งเซ็นต์ ก็มองไม่เห็น
3.อวัยวะของเด็กในท้องกับนอกท้องไม่เหมือนกัน
4.ท่าทางของเด็ก อาจบดบังการมองเห็นภาพอวัยวะต่างๆ ได้
บทส่งท้าย
การอัลตร้าซาวด์ช่วงตั้งครรภ์ นอกจากจะเป็นการดูเพศ และดูการเจริญเติบโตของทารกแล้ว ยังสามารถตรวจความผิดปกติของทารก เช่น ตรวจภาวะดาวน์ซินโดรมได้ตั้งแต่ 3 เดือนแรก หรืออัลตร้าซาวด์เพื่อป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนดได้อีกด้วย
เครดิตรูปภาพ www.pinterest.com www.wus.co.nz hospital.essentialparent.com pregnancyafterlosssupport.org www.thebirthcompany.co.uk