บทความนี้ขอแนะนำบทความเรื่อง หวานแบบไหน ถึงจะเหมาะสมและพอดีกับคุณแม่ตั้งครรภ์ ของหวานช่วยให้แม่ท้องรู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น แต่คุณแม่ท้องก็ต้องระมัดระวังปริมาณน้ำตาลที่กิน แม้จะไม่มีภาวะเสี่ยงเบาหวานมากวนใจก็ตาม เพราะถ้าน้ำหนักขึ้นมากเกินไปคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ ซึ่งควรทานในปริมาณแค่ไหนนั้น บทความนี้มีมาบอกกัน
แม่ท้องกับความหวาน
ที่มาของรสชาติหวานมาได้จากหลายที่ ทั้งจากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต น้ำตาลทราย น้ำผึ้ง และผลไม้ ซึ่งแหล่งความหวานทั้งหมดนี้ แม่ท้องสามารถกินได้ตามปกติเหมือนก่อนตั้งครรภ์ คือไม่เกินวันละ 4–6 ช้อนชา ยกเว้นคุณแม่ท้องที่เป็นเบาหวาน ที่ต้องควบคุมน้ำตาลจากอาหารมากเป็นพิเศษ โดยจำกัดให้ไม่เกิน 5-10% จากความต้องการของพลังงานทั้งหมด เฉลี่ยที่ 1-2 ช้อนชาต่อวัน
ปริมาณความหวานที่เหมาะสำหรับคนท้อง
การบริโภคน้ำตาลแต่น้อย ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ การบริโภคน้ำตาลในแต่ละวันจึงไม่ควรเกิน 6-8 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งองค์การอนามัยโลก กำหนดปริมาณน้ำตาลไม่ควรเกิน 10 % ของปริมาณพลังงานที่ได้รับประจำวัน
สำหรับข้อปฏิบัติของคนท้องกินหวาน ก็คือ การดื่มผลไม้คั้นสดเองหรือน้ำผลไม้กล่องแบบ 100% แทนน้ำอัดลมหรือน้ำหวาน ลดน้ำตาลที่ใส่ตามความเคยชินลงในอาหารให้น้อย อย่างเคยใส่น้ำตาลหนึ่งช้อนลดลงมาเหลือครึ่งช้อน หรือไม่ใส่เลย รวมถึงรับประทานผักผลไม้ สลัด หรือโยเกิร์ตไขมันต่ำ นอกจากจะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลที่พอเหมาะแล้ว ยังได้รับสารอาหารที่มีคุณค่า ช่วยให้ระบบขับถ่ายของร่างกายทำงานได้ดีอีกด้วย และในการปรุงอาหารพยายามใช้น้ำตาลทรายแดงแทนน้ำตาลทรายขาว
ต้องหวานแค่ไหนถึงพอดี
ขณะที่ตั้งครรภ์ อาจจะมีภาวะเบาหวานแทรกซ้อนได้ง่าย และต้องระวังเป็นพิเศษถ้าครอบครัวใดมีคนที่เป็นเบาหวานด้วย แต่ถึงจะไม่มีสมาชิกในครอบครัวคนใดเคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน คุณแม่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องความหวานเช่นกัน เพราะถ้าตามใจปากมากเกินไป ทำให้น้ำหนักตัวเกินพิกัด มีผลต่อการคลอดได้เช่นกัน (ตามมาด้วยรูปร่างหลังคลอดที่จะลดลงยากเป็นเงาตามตัว) ดังนั้น คุณหมอจึงแนะนำให้คุณแม่ท้อง ควบคุมการกินอาหารหวานให้อยู่ในขอบข่ายที่พอดี คือ ไม่กินตามใจปาก ลดอาหารหวานให้มากที่สุด และใช้วิธีควบคุมการกินน้ำตาลหรือของหวานดังต่อไปนี้
– ดื่มน้ำผลไม้สดที่ไม่ใส่น้ำตาล แทนน้ำอัดลม
– ลดน้ำตาลในการปรุงอาหารครึ่งหนึ่งจากที่เคยชิน
– กินผลไม้สด และผักให้มากๆ จะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลอย่าง เพียงพอ
– หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปต่างๆ หรือถ้าจำเป็นควรดูฉลากที่ระบุ สารอาหารว่ามีน้ำตาลมากน้อยเพียงไร
– บ้วนปาก หรือแปรงฟันหลังมื้ออาหาร หรือหลังจากกินอาหารหวานๆ แล้วควรใช้ไหมขัดฟัน อย่างน้อยวันละครั้งเพื่อไม่ให้มีเศษอาหารตกค้างตามร่องฟัน
– หากต้องใช้น้ำตาล ควรเลือกน้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลสีรำ แทนน้ำตาลทรายขาว
– ไม่ควรกินน้ำตาลทรายเกิน 3 ช้อนโต๊ะต่อวัน (ในคนที่ร่างกายปกติสมบูรณ์)
– โดยปกติที่เรากินข้าว ผัก ผลไม้ก็จะได้รับน้ำตาลเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว
หวานแค่ไหนดี
เมื่อที่มาของความหวานมาจากหลากหลายที่ ของหวานจึงมีหลากหลายประเภทและระดับความหวาน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น
– ของหวานน้ำตาลสูง เช่น อาหารประเภทเชื่อม ทองหยิบ ทองหยอด กล้วยเชื่อม ช็อกโกแลต
– ขนมหวานน้ำตาลปานกลาง อย่างขนมไทยที่มีน้ำกะทิ เช่น แกงบวช ขนมอบต่าง ๆ
– ขนมหวานน้ำตาลน้อย มักจะเป็นการผลิตขึ้นเป็นพิเศษ เช่น ไอศกรีม Sugar Free น้ำผลไม้ปั่น ผลไม้สด ฯลฯ แต่ถึงแม้ของหวานที่มีน้ำตาลน้อย แต่มักมีปริมาณของไขมันเพิ่มขึ้นจากสูตรปกติ ซึ่งเป็นประเภทที่แม่ท้องควรเลือกกินมากที่สุด
เรื่องหวานที่แม่ต้องรู้
1.น้ำตาลเทียม สำหรับแม่ท้องที่ปกติที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน ก็ควรจะรับความหวานตามธรรมชาติที่มีอยู่ แต่สำหรับแม่ท้องที่เป็นเบาหวานหรือมีน้ำหนักตัวมาก ที่อาจต้องการใช้สารให้ความหวาน หรือน้ำตาลเทียมแทนนั้น แต่ควรปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการถึงปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละคนค่ะ
2.น้ำตาลทรายทั่วไป คุณแม่ท้องกินได้ทั้งน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายแดง แต่ถ้าเลือกได้แนะนำให้เลี่ยงน้ำตาลทรายขาว เพราะจะมีวิตามินเกลือแร่น้อยกว่าน้ำตาลทรายแดง
3.อย่าหวานเกินไป เพราะการกินน้ำตาลมากเกินความต้องการของร่างกาย น้ำตาลส่วนเกินจะถูกเก็บสะสมไว้ในรูปของไขมัน ทำให้น้ำหนักของคุณแม่เพิ่มได้ง่าย
แหล่งความที่มีประโยชน์ต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
นอกจากนี้ ยังมีแหล่งความหวานที่เป็นประโยชน์มาแนะนำเพิ่มเติม คือ
1.น้ำผึ้ง ในน้ำผึ้งมีทั้งวิตามินบี วิตามินซี และแร่ธาตุต่างๆ ทั้งฟอสฟอรัส เกลือแร่ แคลเซียม รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์
2.ถั่วแดง มีส่วนประกอบของเส้นใยอาหารสูง ช่วยลดคอเรสเตอรอล อุดมด้วยกรดโฟลิกที่ช่วยบำรุงโลหิต ป้องกันความผิดปกติของทารกในครรภ์ นอกจากนี้ยังมีสารแอนติออกซิแดนต์ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจด้วย
3.ชีส ถือเป็นอาหารจำพวกโปรตีนเหมือนเนื้อสัตว์ และมีคุณค่าทางอาหารไม่แพ้นมวัว ชีสให้แคลเซียม โปรตีน ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 2 แต่มีน้ำตาลแล็กโทสในปริมาณที่น้อยกว่านม จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการดื่มนม
4.กล้วย เป็นผลไม้เพิ่มพลังงานแล้ว ยังมีธาตุเหล็กสูง ช่วยกระตุ้นการผลิตฮีโมโกลบินในเลือด และปริมาณเส้นใย รวมทั้งกากอาหารที่มีอยู่ในกล้วยช่วยทำให้การขับถ่ายเป็นปกติอีกด้วย
5.มะตูม มีวิตามินเอ วิตามินบี ช่วยขับลม ย่อยอาหาร ทำให้ขับถ่ายดี เจริญอาหาร และยังช่วยบำรุงเลือด แก้บวมน้ำ ท้องร่วง ท้องผูก ควบคุมระบบต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ มะตูมยังช่วยแก้อาการอ่อนเพลียให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ดี
บทส่งท้าย
คุณแม่ท้องต้องกินอาหารทั้ง 5 หมู่ในปริมาณเหมาะสม หลีกเลี่ยงการกินแป้งและน้ำตาลมากเกินไป เพราะจะทำให้คุณแม่มีน้ำหนักตัวมาก ส่งผลให้ลูกมีน้ำหนักตัวน้อย และอาจทำให้คลอดก่อนกำหนดและคุณแม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน แฝงขณะตั้งครรภ์ได้
เครดิตรูปภาพ