บทความนี้ขอแนะนำ ” ภาวะแท้งคุกคาม คืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร อันตรายไหม แล้วจะมีวิธีป้องกันอย่างไร” ภาวะแท้งคุกคาม ปัญหาใกล้ตัวที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้ ก่อนเป็นอันตรายต่อตัวเอง และลูกน้อยในท้อง ซึ่งสาเหตุเกิดจากอะไร แล้วจะมีวิธีช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแท้งคุกคามได้หรือไม่ บทความนี้มีมาฝากกัน
ภาวะแท้งคุกคาม คืออะไร
ภาวะแท้งคุกคาม หรือ การแท้งคุกคาม คือ การแท้งบุตรประเภทหนึ่ง ซึ่งทำให้มีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ โดยที่ปากมดลูกยังไม่เปิดออก ส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงอายุครรภ์ ไม่เกิน 20 สัปดาห์ และส่งผลให้คุณแม่ท้องเสี่ยงต่อการสิ้นสุดการตั้งครรภ์ หรือ แท้งลูก ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่พบได้บ่อย
ภาวะแท้งคุกคาม มีสาเหตุมาจากอะไร
– มีติ่งเนื้อ เนื้องอกที่มดลูก หรือถุงน้ำในมดลูก
– การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ ไวรัสบริเวณช่องคลอด
– ความผิดปกติของทารกในครรภ์
– การใช้สารเสพติดบางชนิด
– ตำแหน่งและลักษณะของรกที่เกาะติดอยู่บนผนังมดลูก
– ท้องนอกมดลูก
– การได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่ช่องท้อง
– แม่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
– แม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน อ้วน SLE ความดันโลหิตสูง
– การขาดฮอร์โมนเพศที่ช่วยการตั้งครรภ์ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หนาพอสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูก
อาการภาวะแท้งคุกคาม
– ในช่วงการตั้งครรภ์จะสังเกตได้ว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาจจะออกน้อยหรือมากก็แล้วแต่คน
– ตกขาวมีสีน้ำตาลจากเลือดปน
– มีอาการปวดเกร็งบริเวณท้องน้อย หรือปวดหลังช่วงล่าง
– ปวดท้องน้อยแบบบีบ ๆ
– มีเนื้อเยื่อหรือลิ่มเลือดหลุดจากช่องคลอด
การตรวจหาภาวะแท้งคุกคาม
เมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งคุกคาม แพทย์จะสอบถามอาการและประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยก่อนจะพิจารณาการตรวจด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
1.การตรวจอัลตราซาวนด์
เป็นการตรวจบริเวณช่องท้อง หรือ ช่องคลอด ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อดูการเต้นหัวใจ และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ซึ่งเป็นการตรวจที่บอกได้ว่าทารกมีชีวิตหรือไม่ การตั้งครรภ์เป็นปกติ ตั้งครรภ์นอกมดลูก ตั้งท้องลม หรือตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ได้เช่นกัน โดยทั่วไปจะตรวจอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดเป็นหลัก โดยได้ผลที่แม่นยำในการตรวจอายุครรภ์อ่อน ๆ โดยแพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องคลอด 2 – 3 นิ้ว ซึ่งอุปกรณ์นี้จะมีการปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปกระทบกับอวัยวะที่ตรวจ เพื่อสร้างออกมาเป็นภาพของอวัยวะนั้น ทำให้แพทย์มองเห็นรายละเอียดของทารกในครรภ์และอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานได้
2.การตรวจภายใน
มักใช้ตรวจในผู้ป่วยที่มีประวัติการบาดเจ็บรุนแรง โดยเป็นการตรวจดูอวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกรานและระบบสืบพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก รวมถึงตรวจดูว่าถุงน้ำคร่ำเกิดการฉีกขาดหรือไม่ เพื่อค้นหาสาเหตุที่ทำให้เลือดออกทางช่องคลอด
3.การตรวจเลือด
การตรวจเลือดดูสารเคมีชนิดต่าง ๆ ในเลือดและปริมาณฮอร์โมนจากตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย ซึ่งจะตรวจดูฮอร์โมนฮิวแมน คอริโอนิก โกนาโดโทรฟิน ซึ่งถูกสร้างในช่วงการตั้งครรภ์และฮอร์โมนโพสเจสเทอโรน ที่จะมีปริมาณสูงขึ้นในช่วงท้อง ซึ่งระดับฮอร์โมนจะสามารถบอกได้ว่าการตั้งครรภ์เป็นปกติ หรือ เป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก
4.การรักษาภาวะแท้งคุกคาม
ภาวะแท้งคุกคาม ไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ส่วนใหญ่จะเป็นการดูแลแบบประคับประคองตามสถานการณ์ของผู้ป่วยแต่ละคน โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยนอนหลับพักผ่อน ให้เพียงพอ ลดการทำกิจกรรมที่กระทบต่อท้อง งดการทำงานหนัก ไม่ควรยืนหรือเดินนาน ๆ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ งดดื่มและสูบบุหรี่ และ ลดความเครียด
การป้องกันแท้งคุกคาม
การแท้งไม่สามารถป้องกันได้ แต่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจลดความเสี่ยงของภาวะแท้งคุกคามที่อาจนำไปสู่การแท้งได้โดยการเข้ารับฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ และไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นและรักษาได้ทันเวลา รวมไปถึงปฏิบัติตามคำแนะนำทั่วไป ดังนี้
– ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด
– จำกัดสารคาเฟอีนที่ร่างกายได้รับให้น้อยที่สุด
– หลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่และทารกตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแล
– หลีกเลี่ยงกับการสัมผัสโดนสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่าง ๆ
– เมื่อเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสควรรีบรักษาให้หายขาด
– รับประทานวิตามินที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ เช่น กรดโฟลิก
– ออกกำลังกายเบา ๆ เป็นประจำอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ควรได้รับการแนะนำหรือปรึกษากับแพทย์ก่อน เพื่อความปลอดภัยของแม่และลูก
การเตรียมตัวคุณแม่เพื่อป้องกันการแท้งบุตร
– ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์
– ควรรักษาโรคประจำตัวให้เป็นปกติหรือควบคุมโรคได้ก่อนการตั้งครรภ์ เช่น ความดันเลือดสูง, เบาหวาน, ภูมิคุ้มกันผิดปกติ (SLE และ antiphospholipid syndrome) เป็นต้น
– ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่
– ควรลดน้ำหนักตัวให้เป็นปกติก่อนการตั้งครรภ์
– ควรพักผ่อนให้เพียงพอ
บทส่งท้าย
ภาวะแท้งคุกคามสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงตั้งครรภ์ในทุกไตรมาส ซึ่งเกิดจากปัจจัยเสี่ยงทั้งภายใน และภายนอก ที่คุณแม่ตั้งครรภ์อาจไม่ตั้งใจ และไม่รู้ตัว แต่ถึงอย่างนั้นหากคุณแม่หมั่นสังเกตอาการของตนเอง รวมถึงปฏิบัติตน ดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์ เท่านี้เปอร์เซ็นต์ห่างไกลจากภาวะแท้งก็มีมากขึ้นแล้ว
เครดิตรูปภาพ www.smartparenting.com. parenting.firstcry.com scitechdaily.com