บทความนี้ขอแนะนำ บทความเรื่อง คุณแม่ตั้งครรภ์ ทานเผือกได้หรือไม่ เผือกมีประโยชน์อย่างไรต่อคนท้อง ในเรื่องของอาหารการกิน สำหรับใครที่ชอบกินเผือกเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว บอกเลยว่าวัตถุดิบชนิดนี้ สามารถนำไปประกอบทำเป็นเมนูอาหารได้อย่างหลากหลายมาก ๆ แต่ในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์สามารถทานเผือกได้ไหม ทานมากไปจะดีไหม ให้ประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน บทความนี้มีคำตอบ
ทำความรู้จักกับ “เผือก”
เผือกเป็นพืชหัวชนิดหนึ่งที่มีรสชาติหวานอ่อน ๆ และมีรสสัมผัสมันเล็กน้อยคล้ายกับแป้งหรือหัวมันฝรั่ง คนไทยนิยมนำเผือกมาเป็นส่วนประกอบในเมนูต่าง ๆ เช่น เผือกทอด เผือกแกงบวด ซึ่งนอกจากรสชาติที่อร่อยถูกใจหลาย ๆ คนแล้ว เผือกก็ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกหลายประการเลยทีเดียว
เผือกเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตและใยอาหาร โดยเผือก 1 ถ้วยหรือประมาณ 100 กรัมจะให้พลังงานประมาณ 187 แคลอรี่ ให้คาร์โบไฮเดรตประมาณ 39 กรัม และให้ใยอาหารอีก 7 กรัม นอกจากนี้ เผือกยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินที่มีความจำเป็นต่อร่างกายในปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นวิตามินซี วิตามินบี 6 วิตามินอี รวมถึงแมงกานีสและโพแทสเซียมด้วย
คนท้องกินเผือกได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า
คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถกินเผือกได้ เพราะเผือกมีสารอาหารมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ แต่ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ และมีข้อแนะนำในการกินเผือกให้กับคุณแม่ดังนี้
– ช่วงไตรมาสแรก ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรลดการกินอาหารกลุ่มแป้งให้น้อยลง อย่างเช่น เผือก เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
– ช่วงไตรมาสสอง เผือกอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานแก่ร่างกายของคุณแม่ท้อง คุณแม่สามารถกินเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ได้ในปริมาณพอเหมาะ
ประโยชน์ของเผือก สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
เผือกมีประโยชน์กับคุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากเผือกอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญหลายชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย การกินเผือกในปริมาณที่พอเหมาะจะดีต่อสุขภาพในหลาย ๆ เรื่อง ได้แก่
1. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
เผือกอุดมด้วยวิตามินซี ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้เป็นอย่างดี การกินเผือกมีส่วนช่วยเพิ่มระดับวิตามินซีในร่างกาย และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น ไข้หวัด
2. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
เผือกเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดตรชนิดดี การกินเผือกในปริมาณที่พอเหมาะสามารถช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
3. อาจลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง
เควอเซทิน (Quercetin) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในเผือก มีหน้าที่ในการปกป้องเซลล์ไม่ให้ถูกทำลายจากอนุมูลอิสระจนเกิดการอักเสบ ช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็ง
4. ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
เผือกอุดมด้วยโพแทสเซียมในปริมาณมาก และมีใยอาหารสูง ซึ่งสามารถช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ช่วยให้หัวใจทำงานไม่หนักมากไป ช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคหัวใจ
5. บำรุงลำไส้
คาร์โบไฮเดรตจากเผือกเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดดี ที่ทนต่อการย่อยจากเอนไซม์ ช่วยบำรุงลำไส้ และยังอาจช่วยป้องกันอาการคนท้องท้องเสีย
6. บำรุงกระดูกและฟัน
เผือกอุดมด้วยแคลเซียมสูง และฟูลออไรด์สูง ช่วยเสริมให้กระดูกและฟันแข็งแรง ฟันไม่ผุ และป้องกันการเกิดกระดูกพรุน
สิ่งที่ควรระวังในการกินเผือกมีอะไรบ้าง
เผือกที่เรากำลังพูดถึงอยู่ในตอนนี้ จะเป็นเมนูอาหารที่ค่อนข้างเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณประโยชน์อยู่ก็จริง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราไม่ได้รู้จักวิธีการกินที่ถูกต้อง สิ่งนี้ก็อาจจะกลับกลายเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของคุณแม่ได้ง่าย ๆ เหมือนกัน สำหรับใครที่อยากทราบว่า ข้อควรระวังในการกินเผือกนั้นมีอะไรบ้าง มาดูไปพร้อมกันเลยนะ
1. มีอาการแพ้เผือก
การกินเผือกเป็นอะไรที่มีประโยชน์ แต่สำหรับบางคนก็อาจจะไม่ได้ส่งผลดีให้กับเขาได้เสมอไป ต้องบอกว่าในขณะที่เรากำลังกินเผือกเข้าไปแล้วนั้น เราอาจจะต้องดูด้วยว่ามีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมาทีหลังหรือเปล่า เพื่อที่เราจะได้มั่นใจว่าเราไม่ได้มีอาการแพ้เผือกเกิดขึ้น แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเริ่มมีอาการลิ้นชา คันในช่องปาก หรือเกิดสิ่งต่าง ๆ ตามมาหลังจากกินเผือกแล้วล่ะก็ สิ่งนี้ก็อาจจะกำลังบ่งบอกเราว่า เรากำลังมีอาการแพ้เกิดขึ้นนั่นเอง
2.สวมถุงมือ
สวมถุงมือทุกครั้งหากใช้เผือกเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร ทั้งขั้นตอนการปอกเปลือก การล้างทำความสะอาด และการปรุงอาหาร เพื่อช่วยลดการเกิดการแพ้ระคาย และคันที่มือ
3. ปรุงให้สุก
เพื่อลดความเข้มข้นของแคลเซียมออกซาเลต และลดโอกาสการเกิดอาการคันและอาการแพ้จากการกินเผือก แนะนำให้ปรุงเผือกให้สุกเท่านั้น คุณแม่สามารถนำเผือกที่ทำความสะอาดอย่างดีแล้วมา ต้ม นึ่ง แกง ผัด ทอด ได้หลากหลายเมนู
บทส่งท้าย
เผือกเป็นอาหารที่ดีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นแหล่งของสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ถึงแม้ว่าเผือกจะมีประโยชน์อย่างมาก แต่ในคุณแม่ตั้งครรภ์ควรบริโภคเผือกในปริมาณที่พอเหมาะ และปรุงให้สุกอย่างถูกวิธี และต้องควบคู่กับการที่คุณแม่ต้องทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอด้วยนะ ร่างกายถึงจะสมบูรณ์แข็งแรงทั้งตัวคุณแม่เองและทารกในครรภ์ด้วย
เครดิตรูปภาพ hellodoctor.com.ph nutrabay.com raisingchildren.net.au