บทความนี้ขอแนะนำ “คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องเสียอันตรายไหม กินยาอะไรได้บ้าง และควรรับมือได้อย่างไรบ้าง” คุณแม่ควรสังเกตความผิดปกติในการขับถ่ายของตนเอง ว่ามีอาการถ่ายบ่อย ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นมูก ถ่ายเป็นเลือดบ้างหรือไม่ ทั้งนี้อาการท้องเสียเป็นกลไกของร่างกายที่จะขับของเสียออกมา ซึ่งปกติแล้วอาการเหล่านี้มักจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง หรือเรื้อรังไม่เกิน 3 วัน จึงไม่ก่อให้เกิดปัญหากับการตั้งครรภ์ แต่ถ้ามีอาการท้องเสีย อันตรายหรือไม่ ควรดูแลรักษาอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูกน้อยในครรภ์ รวมถึงสามารถกินยาอะไรได้บ้าง
คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องเสีย เกิดจากอะไร
1.เกิดจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน คุณแม่หลายคนมีการเปลี่ยนแปลงอาหารการกินอย่างมากหลังตั้งครรภ์ หรือบางคนมีอาการแพ้ท้องอยากกินของแปลก ๆ หรือของเปรี้ยว ของหมักดอง เมื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการกินกะทันหันแบบนี้ ก็อาจจะทำให้มีอาการอาหารเป็นพิษ ปวดท้อง หรือท้องเสีย ตามมาได้
2.มีความเซนซิทีฟต่ออาหารมากขึ้น คุณแม่จะมีความเซนซิทีฟต่ออาหารมากขึ้นหลังตั้งครรภ์ ยกตัวอย่างเช่น อาหารบางอย่างที่คุณสามารถรับประทานได้สบาย ๆ ก่อนตั้งครรภ์ แต่พอรับประทานหลังตั้งครรภ์กลับมีอาการแพ้ คลื่นไส้ และท้องเสีย เป็นต้น
3.รับประทานวิตามินมากเกินไป การรับประทานวิตามินระหว่างตั้งครรภ์จะช่วยบำรุงให้คุณแม่และทารกในครรภ์แข็งแรง และมีสุขภาพดี แต่ถ้ารับประทานวิตามินมากเกินไปก็อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ ท้องอืด และท้องเสียได้ เนื่องจากวิตามินไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
4.การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน นอกจากจะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลงแล้ว ยังสามารถเร่งการทำงานของระบบย่อยอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องเสียขณะตั้งครรภ์ได้อีกด้วย
5.อาหารเป็นพิษ คุณแม่อาจเผลอไปกินอาหารบางอย่างที่เกิดการปนเปื้อน หรือมีกรรมวิธีการปรุงที่ไม่สะอาดมากพอ ก็อาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของไวรัสหรือแบคทีเรียที่ทำให้ท้องเสียได้ ขณะตั้งครรภ์จึงควรใส่ใจอาหารการกินมากเป็นพิเศษ นอกจากจะต้องเลือกอาหารที่หลากหลายและดีต่อสุขภาพแล้ว กรรมวิธีในการปรุงก็ควรจะต้องสุกและสะอาด เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และเด็กในท้อง
คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องเสียลูกในท้องจะเป็นอะไรไหม
อาการท้องเสียระหว่างตั้งครรภ์นั้น โดยปกติแล้ว ถ้ามีอาการไม่รุนแรง ก็ไม่มีผลกระทบอะไรต่อทารกในครรภ์ เพราะเชื้อโรคทั้งหลายอยู่เฉพาะในลำไส้เท่านั้น จะมีผลแค่ทำให้ลูกดิ้นมากผิดปกติเท่านั้นเอง เพราะมดลูกนั้น ถูกรายล้อมรอบด้วยลำไส้ เมื่อท้องเสีย ลำไส้จะบีบตัวเสียงดังโครกคราก เสียงอาจจะรบกวนการนอนของทารกในครรภ์ จนทำให้ดิ้นมากผิดปกติ เว้นแต่ว่ามีคุณแม่ท้องมีอาการขาดน้ำ มีอาการอาหารเป็นพิษ ร่างกายสูญเสียน้ำเป็นจำนวนมาก และคุณแม่ท้องดื่มน้ำน้อย แบบนี้ย่อมไม่ดีต่อร่างกายของคุณแม่ท้อง รวมไปถึงทารกในครรภ์ด้วย
ท้องเสียตอนท้อง คุณแม่ควรดูแลตัวอย่างไรดี
– กินอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อให้ร่างกายสามารถย่อยและขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
– หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารที่รสเผ็ดจัด เพราะเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบย่อยอาหารและทำให้ท้องเสียรุนแรงขึ้นได้
– หลีกเลี่ยงการดื่มนม เพราะมีแนวโน้มที่จะทำให้อาการท้องเสียหนักขึ้นได้
– หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพราะมีแนวโน้มที่จะทำให้อาการท้องเสียหนักขึ้นได้
– ดื่มน้ำให้เพียงพอ อาการท้องเสียอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำได้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ คุณแม่จึงควรดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อทดแทนที่ร่างกายสูญเสียน้ำไปในขณะท้องเสีย
– กินยาตามที่แพทย์สั่ง คนท้องไม่ควรซื้อยามากินเองโดยไม่ปรึกษากับแพทย์ หากมีอาการท้องเสียควรซื้อยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรเห็นชอบเท่านั้น เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากยาแก้ท้องเสีย
คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องเสีย กินยาอะไรได้บ้าง
1. เกลือแร่
เมื่อท้องเสียเป็นเวลานาน อาจทำให้คุณแม่มีอาการขาดน้ำ รู้สึกอ่อนเพลีย และไม่มีแรง แนะนำให้ชงเกลือแร่ดื่มแทนน้ำในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อช่วยทดแทนปริมาณน้ำที่สูญเสียไป
2. ยาหยุดถ่าย (Imodium)
ในกรณีที่คุณแม่มีอาการท้องเสียมาก และถ่ายไม่หยุด สามารถรับประทานยาหยุดถ่าย (Imodium) เพียง 1 แคปซูลก็พอ แต่ถ้าภายใน 48 ชั่วโมงหากอาการท้องเสียไม่ดีขึ้น ควรหยุดใช้ยา และรีบไปพบแพทย์ทันที
3. ยาผงถ่านรักษาอาการท้องเสีย (Greater Ca-R-Bon)
หลายคนอาจจะเคยคุ้นหน้าคุ้นตากันดีกับยาผงถ่านตัวนี้ ที่มีสรรพคุณช่วยดูดซับสารพิษออกจากร่างกาย รักษาอาการท้องเสีย และแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ซึ่งเป็นยาอีกตัวที่คุณแม่ตั้งครรภ์ก็สามารถรับประทานได้เช่นเดียวกัน
4. ยาแก้ปวดท้อง (Buscopan)
หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการท้องเสียร่วมกับปวดท้อง แนะนำให้รับประทานยาแก้ปวด (Buscopan) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง หรืออาการปวดเกร็งช่องท้อง
ท้องเสียแบบไหนต้องไปโรงพยาบาล
โดยธรรมชาติ อาการของโรคท้องเสียส่วนใหญ่จะดีขึ้นเองภายใน 3 วัน แต่ถ้ามีอาการอ่อนเพลียมาก หน้ามืด เวียนศีรษะ หมดแรง ลุกเดินไปไหนไม่ไหว ต้องนั่งหรือนอนอยู่กับเตียง อุจจาระมีมูกปน มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ คล้ายของเน่า คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง มีไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศา ซึ่งเป็นอาการของภาวะขาดน้ำปานกลางถึงรุนแรง ก็ควรไปพบหมอ
คุณแม่ตั้งครรภ์ ป้องกันท้องเสียได้อย่างไรบ้าง
– เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกออกจากเตาใหม่ทุกครั้ง งดอาหารสุกๆ ดิบๆ
– ระมัดระวังการกินน้ำแข็ง น้ำดื่ม หรือน้ำผลไม้คั้นที่ไม่สะอาด
– หมั่นดูแลสุขอนามัย รักษาความสะอาด ล้างมือทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำก่อนและหลังทำอาหาร
– ทำความสะอาดชักโครก ที่รองนั่งและปุ่มกดชักโครกด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ
บทส่งท้าย
อาการท้องเสียถือเป็นเรื่องปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากคุณแม่ท้องเสียนานเกิน 2-3 วัน และอาการยังไม่ดีขึ้น มีไข้สูง ถ่ายไม่หยุด ถ่ายเป็นมูกปนเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรีบทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง และจะได้ไม่ส่งผลเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ด้วย
เครดิตรูปภาพ sg.theasianparent.com www.medicalnewstoday.com newsroom.unsw.edu.au