บทความนี้ขอแนะนำ “คุณแม่ตั้งครรภ์โดนหมากัด ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้ไหม อันตรายต่อทารกในครรภ์หรือเปล่า” คุณแม่ท้องที่เลี้ยงสุนัข เลี้ยงแมว นอกจากจะดูแลเรื่องความสะอาดและวัคซีนสุนัขและแมวแล้ว ต้องดูแลตัวเองด้วย เพราะถ้าเกิดโดนหมาแมวกัด หรือโดนข่วนมา อาจทำให้เกิดความกังวลใจว่า คนท้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้ไหม ฉีดแล้วจะส่งผลอันตรายกับลูกในครรภ์หรือเปล่า และจะมีวิธีป้องกันอย่างไร บทความนี้มีคำตอบมาฝากกัน
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่โดนสุนัขกัด หรือแมวข่วน ฉีดวัคซีนกันพิษสุนัขบ้าได้ไหม
คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ จากการตรวจสอบความปลอดภัยของการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ ขององค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (US-FDA pregnancy risk categories) บอกไว้ว่า วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าเป็นวัคซีนชนิด Inactivated และอิมมูโนโกลบุลิน ซึ่งไม่เป็นข้อห้ามในแม่ตั้งครรภ์ นอกจากนี้แม่ตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้า ยังไม่พบว่ามีภาวะแทรกซ้อน และไม่มีผลต่อความพิการและความผิดปกติของทารกในครรภ์ด้วย
ดังนั้นถ้าคุณแม่โดนหมาแมวกัด หรือโดนข่วนมา ควรไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไว้ดีกว่า เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพคุณแม่เอง เพราะหากได้รับเชื้อมาแล้วจะทำให้เสียชีวิตอย่างเดียวเลย นอกจากหมา และแมวแล้ว หากที่บ้านเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นที่เข้าข่ายว่าอาจจะมีเชื้อพิษสุนัขบ้าก็ต้องเฝ้าระวังด้วยเช่น หากคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ ไม่ควรเข้าใกล้หรือเล่นกับมันก็อาจจะดีที่กว่า เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ถูกสัตว์เลี้ยงกัด หรือข่วนเอาได้
วัคซีนพิษสุนัขบ้าคืออะไร
วัคซีนพิษสุนัขบ้า คือ วัคซีนที่ป้องกันโรคเชื้อไวรัสเรบี (Rabies) หรือ เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า ซึ่งจะมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นพาหะนำเชื้อ เช่น สุนัข แมว ลิง ค้างคาว เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะได้รับเชื้อจากการกัด หรือข่วน ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกัน จะช่วยป้องกันผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในกรติดเชื้อ โดยวัคซีนจะผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว เมื่อฉีดเข้าไป จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อพิษสุนัขบ้า
การฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า
วัคซีนพิษสุนัขบ้า ต้องฉีดภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น และต้องฉีดโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เพราะการฉีดจำเป็นต้องทำตามเอกสารกำกับยาอย่างชัดเจน เพื่อปริมาณการใช้ยาที่ถูกต้อง ซึ่งการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า สามารถทำได้ 2 รูปแบบ ดังนี้
1.ฉีดป้องกันเชื้อพิษสุนัขบ้า
วัคซีนเพื่อการป้องกันพิษสุนัขบ้า ผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับเชื้อ เป็นกลุ่มที่ควรฉีดป้องกัน เช่น กลุ่มที่ต้องทำงานในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ ผู้ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ ผู้ที่ทำงานกับเชื้อไวรัส เป็นต้น
2. ฉีดเพื่อป้องกันเมื่อสงสัยว่าอาจได้รับเชื้อ
แพทย์จะพิจารณาการใช้วัคซีนเมื่อผู้ป่วยถูกสัตว์กัด หรือข่วน ซึ่งจะต้องพิจารณารับวัคซีนโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เพราะหากมีการติดเชื้อแล้ว ไม่สามารถทำการรักษาให้หายได้
ผู้รับวัคซีนต้องปฏิบัติอย่างไร
ในการฉีดวัคซีน ผู้รับวัคซีนควรรับอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนด และต้องรับจนกว่าจะครบโดส เพื่อประสิทธิภาพของวัคซีน ทั้งนี้ หากผู้ป่วยได้รับวัคซีนไม่ครบ หรืออาจไม่สามารถมารับได้ตามกำหนด จะต้องรีบแจ้งแพทย์ผู้ดูแลโดยทันที หากมีการฉีดวัคซีนที่คาดเคลื่อนเพียง 2-3 วัน ก็สามารถฉีดต่อได้โดยไม่ต้องเริ่มโดสใหม่
เมื่อคุณแม่ท้องถูกสัตว์ข่วน หรือ กัด ควรปฐมพยาบาลดังนี้
1.ล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่หลาย ๆ ครั้ง ถ้าแผลลึกให้ล้างถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที ระวังอย่าให้แผลช้ำ ห้ามใช้ครีมใด ๆ ทา
2.ถ้ามีเลือดออกควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบแผล เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปส่วนอื่น
3.เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ควรใช้โพวีโดนไอโอดีน หรือฮิบิเทนในน้ำ ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน นอกจากนี้ไม่ควรปิดปากแผล ยกเว้นว่าเลือดออกมากหรือแผลใหญ่มาก
4.ไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดทันที เพื่อรับการฉีดป้องกันบาดทะยัก ยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดตามอาการ รวมถึงวัคซีนหรืออิมมูโนโกลบุลินตามความเหมาะสม
5.ให้กักสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการอย่างน้อย 15 วัน โดยให้น้ำและอาหารตามปกติ ถ้าสัตว์หนีหายไปให้ถือว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
6.หากสัตว์มีอาการปกติตลอดระยะเวลาที่กักเพื่อดูอาการ สามารถหยุดฉีดวัคซีนได้
ผลข้างเคียงที่อาจได้รับจากวัคซีนพิษสุนัขบ้า
การฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีอาการ แต่ในบางรายอาจพบอาการข้างเคียงได้ อาการที่มักพบบ่อย มีดังนี้
– วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
– มีอาการบวมแดง หรือปวดบริเวณที่ฉีด
– ปวดกล้ามเนื้อ หรือ ข้อต่อ
– คลื่นไส้ อาเจียน
– ปวดท้อง
– เหนื่อยง่าย อ่อนแรง
ผลข้างเคียงที่อาจได้รับจากวัคซีนพิษสุนัขบ้า อาการรุนแรงจนต้องพบแพทย์
หากผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงมากกว่าอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยอาการที่สามารถสังเกตได้ และต้องรีบพบแพทย์ มีดังนี้
– ปวดแสบปวดร้อน
– เกิดเหน็บชา
– กล้ามเนื้ออ่อนแรง
– มีไข้ หนาวสั่น
– หัวใจเต้นผิดปกติ
– มีอาการชัก เกร็ง
– มีแผลฟกช้ำ ปวด บวม บริเวณที่ฉีด
– ปวดศีรษะอย่างรุนแรง และมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง
– หายใจถี่ หายใจมีเสียงวี๊ด ๆ
– แขน ขา บวม
– ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ปกติ
บทส่งท้าย
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ไม่เพียงแต่เฉพาะแม่ท้องเท่านั้นที่ต้องระมัดระวัง แต่รวมถึงทุกคนในบ้านด้วย ถ้าหากที่บ้านของคุณมีสัตว์เลี้ยงอย่าละเลยที่จะนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี
เครดิตรูปภาพ slate.com blog.pregistry.com sweetbeats.com.au