บทความนี้ขอแนะนำ “คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นตะคริว เกิดขึ้นจากอะไร และจะมีวิธีป้องกันอย่างไรดี” ช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์เป็นเวลาที่เหล่าคุณแม่ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก เพราะอาการไม่สบายตัวของคนท้องเกิดขึ้นมากมายหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือตะคริว ที่ทำเอาคุณแม่เจ็บปวดทรมานสุด ๆ ซึ่งอาการตะคริวเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วจะมีวิธีป้องกันไหม บทความนี้มีข้อมูลมาฝากกัน
อาการตะคริว เกิดจากอะไร
อาการตะคริว เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหดเกร็งอย่างรุนแรง อาจเกิดได้ในกล้ามเนื้อหลาย ๆ ส่วนของร่างกาย เช่น ตะคริวน่อง ตะคริวขา ตะคริวเท้า ตะคริวท้อง เป็นต้น และอาการตะคริวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ เพศหญิง และเพศชาย โดยเฉพาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ ความรุนแรงจะมากน้อยแค่ไหน มีวิธีบรรเทาหรือไม่ หรือมีวิธีช่วยป้องกันอย่างไร มาติดตามกัน
แม่ท้องเป็นตะคริว เพราะอะไร
ตะคริวคนท้องเป็นอาการปวดเฉียบพลันเนื่องจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง มักเกิดขึ้นที่กล้ามเนื้อน่องหรือเท้า ซึ่งในระหว่างที่ตั้งครรภ์คุณแม่มักจะมีอาการตะคริวเกิดขึ้นในตอนกลางคืน และเป็นบ่อยในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือ 3 โดยสาเหตุของตะคริวคนท้องเกิดได้จากหลายประการ เช่น
1.น้ำหนักเกินที่มากเกินไป
2.ระบบเผาผลาญที่มีการเปลี่ยนแปลง
3.การขาดวิตามิน
4.การขยับร่างกายมากเกินไปในระหว่างวัน จนเกิดความเหนื่อยล้า
5.การไม่ขยับร่างกายเลย
6.มดลูกกดทับเส้นประสาท
7.การไหลเวียนที่ขาลดลงเนื่องจากตัวทารกกดทับหลอดเลือด
8.การขาดแคลเซียมหรือแมกนีเซียม
แม่ท้องเป็นตะคริว ทำอย่างไร
– ยืดส้นเท้าก่อน ตามด้วยข้อเท้า และนิ้วเท้า
– ให้คุณสามีช่วยจับปลายเท้า ขยับขึ้น ลง
– แม่ท้องใช้มือนวดบริเวณน่อง
– ถ้าเจ็บที่ต้นขา ให้คุณสามีนวดเหนือหัวเข้าช้า ๆ
ตะคริวแบบไหนที่ควรรีบไปหาหมอ
– มีอาการตะคริวที่รุนแรง เจ็บมากไม่หายเสียที
– เจ็บท้องช่วงล่างมาก และ มีอาการมดลูกบีบตัว
– ตะคริวเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ เลือดออก มึนหัว
– ตะคริว พร้อมกับเจ็บไหล่ กับคออย่างมาก
ตะคริวคนท้อง ป้องกันอย่างไร
1.ยืดกล้ามเนื้อโดยค่อย ๆ งอและปล่อยเท้าหลายๆ ครั้งก่อนเข้านอนในแต่ละคืน จะช่วยไม่ให้เป็นตะคริวที่ขาระหว่างตั้งครรภ์ได้
2.สวมถุงน่องรัดรูปและการหลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน
3.อย่านั่งไขว่ห้าง ไขว้ขา หรืออยู่ในท่าที่อาจขัดขวางการไหลเวียนของเลือด
4.ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อชุ่มชื้น โดยควรดื่มวันละ 2-3 ลิตร แต่อย่าดื่มทีละเยอะ ๆ หรือดื่มน้ำมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการเสียดท้องได้
5.หากเป็นตะคริวตอนกลางคืนบ่อย ๆ ให้อาบน้ำอุ่นก่อนนอนเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อขา
6.เดินทุกวันหรือออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อป้องกันตะคริว
7.เตรียมผ้าขนหนูอุ่นหรือขวดน้ำร้อนไว้ใกล้ตัว เมื่อเป็นตะคริวจะได้หยิบมาประคบเพื่อคลายกล้ามเนื้อ
8.อาบน้ำด้วยน้ำอุ่น หรือนอนแช่น้ำอุ่น ถ้าไม่มีอ่างอาบน้ำ ก็แช่เฉพาะช่วงเข่าถึงเท้าก็ช่วยได้
9.ลองกินอาหารเสริมประเภทแคลเซียมและแมกนีเซียม จะช่วยป้องกันการเป็นตะคริวได้
10.เลือกรองเท้าที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความสบายและการรองรับน้ำหนัก เช่น รองเท้าส้นหนาที่พื้นค่อนข้างนุ่ม และโอบรัดช่วงข้อเท้าและส้นเท้า จะช่วยให้เกิดตะคริวน้อยลง
เทคนิคป้องกันตะคริวด้วยอาหาร
1. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
ในขณะตั้งครรภ์ร่างกายต้องการพลังงานจากอาหารเพิ่มขึ้นวันละ 300 กิโลแคลอรี ควรกินอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ทุกมื้อ ไม่กินอาหารซ้ำ หรือเลือกกินเฉพาะอาหารที่ชอบ เพราะไม่มีอาหารอะไรเพียงอย่างเดียวที่จะให้สารอาหารครบถ้วน แม่ท้องควรได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอจากวิตามินและเกลือแร่
2.ดื่มน้ำให้เพียงพอ
โดยเฉพาะในหน้าร้อนที่ร่างกายเสียเหงื่อมากกว่าปกติ ต้องมีน้ำติดตัวไว้เสมอเมื่อต้องออกนอกบ้าน ควรดื่มน้ำก่อนกระหายเสมอ เพราะถ้ารู้สึกว่ากระหายน้ำแล้วแสดงว่าร่างกายเริ่มขาดน้ำแล้ว ในภาวะที่ร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอ การขาดน้ำจะทำให้เกิดตะคริว ซึ่งมีระดับความรุนแรงมากกว่าปกติ แม่ท้องใกล้คลอดมักปวดปัสสาวะบ่อย ทำให้ไม่อยากดื่มน้ำก่อนนอน
3.เลือกกินอาหารที่ใหม่สดและสะอาด
ถ้าซื้ออาหารนอกบ้านต้องสังเกตสภาพแวดล้อมสุขาภิบาลของร้านอาหารทุกครั้ง เพื่อป้องกันอาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ซึ่งจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ และขาดสมดุลของเกลือแร่ อาจทำให้เป็นตะคริวกับกล้ามเนื้อหลายส่วนของร่างกาย และมักเป็นเวลานาน
4.กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง
ถ้าระดับแคลเซียมในเลือดต่ำก็อาจเป็นตะคริวได้บ่อยขึ้น เพราะการยืดหดตัวของกล้ามเนื้อขึ้นอยู่กับปริมาณของแคลเซียมในเลือด อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม ชีส โยเกิร์ต งา เต้าหู้ ถั่วเหลือง ปลากระป๋อง ปลาที่กินทั้งกระดูก ผักใบเขียวเข้ม เช่น ใบยอ ใบย่านาง บรอกโคลี ถั่วพู ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียม เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
5. เน้นอาหารที่มีแมกนีเซียม
ภาวะขาดแมกนีเซียมทำให้ลดสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย ถ้าได้รับแมกนีเซียมไม่เพียงพอจะมีผลต่อการยืดตัวของกล้ามเนื้อเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดตะคริว อาหารจำพวก ถั่วลิสง อัลมอนด์ แครอท ฟักทอง มันเทศ อินทผาลัม ลูกเกด ส้ม สับปะรด ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ลูกเดือย ข้าวโอ๊ต ถั่วแดง เป็นต้น
6.เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจากแร่ธาตุสังกะสี
ซึ่งจะช่วยลดภาวะอ่อนเพลียของกล้ามเนื้อ แหล่งอาหารของสังกะสี ได้แก่ จมูกข้าวสาลี ผงโกโก้ หอยนางรม อาหารทะเล งา เมล็ดฟักทอง ถั่วลิสง เครื่องในสัตว์ ชีส
7.กินผักผลไม้เป็นประจำ
เพื่อร่างกายจะได้รับโพแทสเซียมเพียงพอ ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อเป็นปกติ ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ป้องกันการหดรัดเกร็ง อาหารที่มีโพแทสเซียมสูงมีมากในผัก ผลไม้ที่มีสีเขียวเข้ม สีแดง และสีเหลือง เช่น ใบบัวบก คะน้า กระเจี๊ยบมอญ ผักโขม เห็ด ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ มันฝรั่ง ตำลึง ทุเรียน กล้วย ส้ม มะละกอ ลูกพรุน ฝรั่ง โกโก้ แป้งที่ไม่ขัดสี
บทส่งท้าย
อย่างไรก็ตาม อาการตะคริวในคนท้องไม่ได้เป็นอันตรายมากจนน่าวิตก แต่หากอาการเจ็บปวดไม่หายไปและรบกวนการนอนหรือการใช้ชีวิตของคุณแม่ แนะนำให้ลองปรึกษาแพทย์ดูเพื่อทำการรักษาต่อไป แต่ตัวของคุณแม่เองก็ต้องลองทำตามวิธีตามที่กล่าวไว้ในบทความด้วยเพื่อป้องกันการเกิดตะคริว
เครดิตรูปภาพ www.pampers.com www.medicalnewstoday.com www.michiganpodiatry.com www.istockphoto.com parenting.firstcry.com mominformed.com