บทความนี้ขอแนะนำ บทความเรื่อง คุณแม่ตั้งครรภ์เบิกค่าคลอดประกันสังคมได้เท่าไหร่ ใช้สิทธิ์อะไรได้บ้าง สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ รู้หรือไม่ว่าการใช้สิทธิประกันสังคมจะช่วยให้ทั้งคุณแม่และคุณพ่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการมีลูกได้มากขึ้น ซึ่งคุณแม่มือใหม่หลายท่านที่มีสิทธิประกันสังคมอาจจะยังไม่ทราบว่าสามารถใช้สิทธิขอเบิกค่าคลอดได้ และต้องทำอย่างไร บทความนี้มีคำตอบมาฝากกัน
เบิกค่าคลอดประกันสังคม สิทธิที่คุณแม่ควรได้รับ
ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมในการดูแลตนเองและลูกน้อยในครรภ์แล้ว สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหากคุณแม่ท่านใดที่มีสิทธิประกันสังคมจึงควรทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ เพื่อช่วยในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยนอกเหนือจากค่าคลอดแล้ว ยังสามารถเบิกค่าฝากครรภ์ เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร ค่าชดเชย กรณีแท้งบุตร รวมทั้งเงินสงเคราะห์เพื่อเลี้ยงดูบุตรได้อีกด้วย
คุณแม่ตั้งครรภ์ มีสิทธิเบิกประกันสังคม อะไรได้บ้าง
คุณแม่ที่ส่งเงินประกันสังคม เมื่อตั้งครรภ์จะสามารถใช้สิทธิเบิกค่ารักษาได้ โดยแบ่งเป็น
5 รายการ คือ
1.เบิกค่าฝากครรภ์ : วงเงินรวม 1,500 บาท
2.เบิกค่าคลอดบุตร : เหมาจ่ายวงเงิน 15,000 บาท ต่อครั้ง
3.เบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร : เบิกได้ 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย (สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน)
4.เบิกค่าชดเชย กรณีแท้งบุตร : ต้องอายุครรภ์ไม่น้อยกว่า 28 สัปดาห์
5.เบิกเงินสงเคราะห์เพื่อเลี้ยงดูบุตร : เบิกได้ 800 บาท ต่อเดือน (ตั้งแต่เกิดจนถึง 6 ปี)
ค่าคลอดบุตรประกันสังคม เบิกได้เท่าไหร่
คุณแม่จะได้รับเงินค่าคลอดบุตรจากประกันสังคม โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
– ทางประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แบบเหมาจ่ายในอัตรา 15,000 บาท ต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง แต่คุณแม่ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนคลอดบุตร
– คุณแม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ในการหยุดงานเพื่อคลอดบุตร โดยเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน แต่สำหรับการใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรนี้
– หากทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยสามารถเบิกได้ไม่จำกัดจำนวนบุตร และจำนวนครั้ง
ผ่าคลอด เบิกประกันสังคมได้ไหม
หากคุณแม่เข้ารับการผ่าคลอด ประกันสังคมให้สิทธิ์ในการเบิกค่าคลอดบุตรได้ แต่คุณแม่จะต้องสำรองจ่ายก่อน แล้วนำใบเสร็จมาทำการเบิกค่าคลอดบุตรกับประกันสังคมในภายหลัง ประกันสังคมมีกำหนดวงเงินสำหรับค่าคลอดบุตรอยู่ที่ 15,000 บาท หากค่าผ่าคลอดมีราคาเกินกว่านั้น คุณแม่จะต้องชำระส่วนที่เกินไปจาก 15,000 บาทนั้นเอง สามารถเบิกได้แค่เพียงวงเงินที่ประกันสังคมกำหนดเอาไว้เท่านั้น
คุณแม่จะเบิกค่าฝากครรภ์ได้เท่าไหร่
คุณแม่สามารถเบิกค่าฝากครรภ์กับประกันสังคมได้ทั้งหมด 1,500 บาท โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
– อายุครรภ์ ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 500 บาท
– อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 300 บาท
– อายุครรภ์ 20-28 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 300 บาท
– อายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 200 บาท
– อายุครรภ์ 32-40 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 200 บาท
เบิกค่าคลอดประกันสังคม ใช้เอกสารอะไรบ้าง
ในการเบิกค่าคลอดประกันสังคม คุณแม่จะต้องใช้เอกสารดังต่อไปนี้
1.แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 (สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.sso.go.th/wpr/) กรอกข้อความครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
2.สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
3.หากคุณพ่อเป็นผู้ยื่นขอเบิกสิทธิ ให้แนบสำเนาทะเบียนสมรสมาด้วย กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนมาแทน
4.สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ มีธนาคาร ดังนี้ พร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทหารไทยธนชาติ, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
เบิกค่าคลอดประกันสังคม ทำได้ตอนไหน
การเบิกค่าคลอดประกันสังคม สามารถยื่นได้ภายในเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่คลอดบุตร โดยสามารถยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมตามสาขาที่สะดวกทั่วประเทศ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) หรือยื่นผ่านเว็บไซต์ http://www.sso.go.th/
ใครสามารถผ่าคลอดโดยสิทธิประกันสังคมได้บ้าง
ผู้ที่สามารถผ่าคลอดด้วยสิทธิ์ประกันสังคม ได้แก่
1.ผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือมาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนคลอดบุตร
2.ผู้ประกันตนมาตรา 38 หรือมาตรา 41 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน และได้รับสิทธิคุ้มครองภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
3.รวมถึงภรรยาที่ไม่มีประกันสังคม แต่สามีมีสิทธิ์ประกันสังคม ก็สามารถที่จะใช้สิทธิ์ผ่าคลอดประกันสังคมได้เช่นเดียวกัน
บทส่งท้าย
หากคุณแม่ที่มีสิทธิประกันสังคมทราบว่าตนเองจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไร สามารถเบิกอะไรได้บ้าง รวมทั้งทราบถึงขั้นตอน วิธีการ สถานที่ ระยะเวลา และช่องทางในการดำเนินการ ก็จะทำให้ไม่เสียโอกาส และสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น
เครดิตรูปภาพ www.smartparenting.com.ph www.istockphoto.com parenting.firstcry.com fortune.com