บทความนี้ขอแนะนำ “ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายของทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์และทารก” การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่สวยงาม และสำคัญที่สุดของผู้หญิงอีกช่วงหนึ่งเลยก็ว่าได้ คุณแม่ทุกคนล้วนต้องการให้ลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง คลอดง่าย และภาวนาให้ไม่มีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นกับลูกในครรภ์ แต่มีคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่ต้องเสี่ยงกับภาวะ “ครรภ์เป็นพิษ” ซึ่งครรภ์เป็นพิษมักเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ภาวะดังกล่าวนี้หากคุณแม่ไม่สังเกตอาการของตนเองอาจจะส่งผลประทบร้ายแรงต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้
ครรภ์เป็นพิษ คืออะไร
ครรภ์เป็นพิษเกิดจากความผิดปกติของการฝังตัวของรก ซึ่งโดยธรรมชาติรกจะฝังบริเวณเยื่อบุผนังมดลูก แต่ในกรณีที่แม่ครรภ์เป็นพิษรกจะฝังตัวได้ไม่แน่น ส่งผลให้รกบางส่วนเกิดการขาดออกซิเจน ขาดเลือด เมื่อเลือดไปเลี้ยงรกได้น้อยลงจะเกิดการหลั่งสารที่เป็นสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ทีละเล็กทีละน้อย เมื่อถึงจุดหนึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เช่น เส้นเลือดสมองตีบ ตาพร่ามัว ตับวาย ฯลฯ ต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะหากร้ายแรงถึงขั้นมีอาการชักร่วมด้วย อาจมีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตทั้งแม่และลูก
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษ
1. ผู้เป็นโรคอ้วน ซึ่งทำให้เกิดภาวะหัวใจตีบได้ง่าย
2. มีกรรมพันธุ์พบว่าคนในครอบครัวเคยเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
3. ผู้ตั้งครรภ์ฝาแฝด หรือตั้งครรภ์มากกว่า 1 คน
4. ผู้ตั้งครรภ์ตอนมีอายุ 35 ปีขึ้นไป
5. ผู้มีบุตรยาก
6. มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง
ลักษณะของ อาการครรภ์เป็นพิษ เป็นอย่างไร?
ส่วนใหญ่จะพบเมื่อมีการตั้งครรภ์ได้ 5 – 6 เดือนขึ้นไป จนกระทั่งหลังคลอด 1 สัปดาห์ แม้ว่าอาการครรภ์เป็นพิษจะสังเกตได้ยาก เนื่องจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น ดูจะเป็นเรื่องปกติของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทั่วไป แต่หากจะสังเกตแบบลงลึกเจาะจงดี ๆ จะเห็นได้ว่า หากตัวคุณแม่มีอาการต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้น ก็สามารถสันนิษฐานว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษได้ เช่น
1.น้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็วผิดปกติ ซึ่งโดยปกติน้ำหนักของคุณแม่ตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นเดือนละ 1.5 – 2 กิโลกรัม โดยเฉลี่ย
2.มีอาการปวดศีรษะมาก แม้ว่าทานยาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น โดยมีระดับความรุนแรงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย หน้าผาก
3.มีอาการบวม โดยเฉพาะบริเวณมือ เท้า หน้า และบริเวณรอบดวงตา
4.ตรวจพบปริมาณโปรตีนในปัสสาวะมากกว่าปกติ
5.ความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอท
6.ลูกดิ้นน้อยลงและท้องไม่โตตามอายุครรภ์ เลือดไปเลี้ยงมดลูกลดลง ในรายที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้
7.จุกแน่นใต้ชายโครง หากมีเลือดออกที่ตับ หรือตับเสื่อมสภาพจะทำให้มีอาการจุกแน่นที่ใต้ชายโครงทางด้านขวาหรือบริเวณลิ้นปี่ บางรายอาจหายใจลำบาก เนื่องจากมีน้ำในปอด บางรายมีอาการตาพร่ามัว เนื่องจากเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาลดลง
8.เกิดการระคายเคืองระบบประสาทส่วนกลาง เช่น อาการบวมของสมอง, มีอาการตาพร่ามัว มองเห็นแสงเป็นจุด ๆ หรือเห็นแสงวูบวาบ หรือเห็นไฟกะพริบ
9.มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หากเกิดอาการดังกล่าวเฉียบพลันหลังจากพ้นช่วงแพ้ท้องไปแล้ว ให้สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ
10.ปัสสาวะลดลง หรือปัสสาวะไม่ออก
ภาวะแทรกซ้อนจากครรภ์เป็นพิษ
1. เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด หากเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษที่รุนแรง แพทย์อาจตัดสินใจให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนดเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับลูกในครรภ์และตัวคุณแม่
2. รกลอกก่อนกำหนด รกอาจจะลอกหรือหลุดก่อนกำหนด ซึ่งจะทำให้เกิดเลือดออกมาก ส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
3. ทารกไม่เติบโตตามมาตรฐาน หากทารกรับสารที่จำเป็น เช่น สารอาหารต่างๆ ออกซิเจน ได้น้อยลง จะส่งผลให้ทารกจะมีน้ำหนักตัวที่ต่ำกว่าเกณฑ์ได้
4. คุณแม่ชัก เป็นอันตรายมากต่อทารกในครรภ์และคุณแม่ หากเป็นบ่อยๆแพทย์อาจจำเป็นต้องทำการยุติการตั้งครรภ์เพื่อความปลอดภัย
5. อวัยวะต่างๆ เกิดความเสียหาย อาจทำให้ร่างกายคุณแม่เกิดความเสียหายได้ตามระดับความรุนแรงของภาวะนี้ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ ปอด ตับ ไต
การรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษ
การรักษาภาวะดังกล่าวมีเพียงวิธีเดียวคือการคลอด ซึ่งการคลอดนั้นแพทย์จะทำการตรวจวัดตามความเหมาะสม เช่น ระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ความแข็งแรงของคุณแม่ ความรุนแรงของอาการต่าง ๆ โดยแพทย์จะพยายามคอยดูแลคุณแม่และลูกในครรภ์จนกว่าจะถึงระยะเวลาที่สมควร นอกจากนี้หากคุณแม่มีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์หรือมากกว่าจะสามารถผ่าคลอดหรือทำการเร่งคลอดทารกได้ทันที โดยมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้อาการครรภ์เป็นพิษรุนแรงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นั่นเอง
– ครรภ์เป็นพิษชนิดไม่รุนแรง คุณแม่สามารถกลับบ้านได้ตามปกติแต่ต้องมาพบแพทย์ตามที่กำหนดไว้เพื่อคอยตรวจร่างกายและเฝ้าระวังอาการของภาวะดังกล่าว นอกจากนี้คุณแม่ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ และทานยาตามที่แพทย์สั่งด้วย
– ครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง หากอยู่ในภาวะรุนแรงคุณแม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์จะคอยให้ยาที่จำเป็นต่อคุณแม่ และต้องคอยตรวจร่างกายรวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อีกด้วย
การป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ
หากจะถามถึงการป้องกันนั้นไม่สามารถทำได้ แต่ยังมีการปฏิบัติตนที่สามารถช่วยหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวให้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด ได้แก่
1.ดื่มน้ำขั้นต่ำ 6 แก้วต่อวัน
2.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอต่อร่างกาย
3.สามารถออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงได้ แต่ต้องปรึกษากับแพทย์เพื่อรับคำแนะนำก่อน
4.ไม่ทานอาหารที่มีรสเค็มและไม่ดื่มแอลกอฮอล์
5.ทำการฝากครรภ์ เพื่อพบแพทย์และตรวจร่างกาย รวมถึงความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ตามกำหนด
บทส่งท้าย
ครรภ์เป็นพิษเป็นภาวะที่อันตรายอย่างมากต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ โดยอาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถป้องกันได้อีกด้วย ดังนั้นหากคุณแม่ท่านไหนที่มีอาการเข้าข่ายหรือโรคประจำตัว ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกันที่ถูกวิธีอีกครั้ง เพื่อความปลอดภัยทั้งตัวคุณแม่และตัวของทารกในครรภ์
เครดิตรูปภาพ www.hueglifraserlaw.com www.sog.com.sg onewomansview.co.uk insightplus.mja.com.au