บทความนี้ขอแนะนำ “คนท้องทำงานบ้านอันตรายหรือไม่ และงานบ้านแบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง” หลายคนอาจมีข้อสงสัยที่ว่า คนท้องทำงานบ้านได้หรือไม่ เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือเปล่า โดยปกติแล้วคนท้องมักสามารถทำงานบ้าน เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน ได้ตามปกติ โดยไม่มีข้อห้ามใด ๆ อีกทั้งยังอาจส่งผลดีต่อคุณแม่เนื่องจากได้เคลื่อนไหวร่างกาย แต่ก็มีงานบ้านบางชนิดที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจจะส่งผลอันตรายต่อตัวของคุแม่และทารกในครรภ์ด้วยเช่นกัน
งานบ้านที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ หลังจากที่อาการแพ้ท้องหายเป็นปกติแล้ว การได้หยิบจับงานบ้านมาทำบ้าง ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่จะได้ออกกำลังกายไปด้วย ซึ่งจะทำให้ลูกน้อยในครรภ์มีความแข็งแรงมากขึ้น แต่การทำงานบ้านก็ใช่ว่าจะทำได้ทุกอย่างเหมือนคนปกติทั่วไป เพราะงานบ้านบางอย่างก็อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่ได้ ซึ่งคุณแม่ก็ควรหลีกเลี่ยงงานบ้านต่อไปนี้
1.การล้างห้องน้ำ
เป็นงานบ้านที่ช่วงตั้งครรภ์ควรหยุดพักไปก่อน เพราะถือเป็นงานบ้านที่มีความเสี่ยงสูง อาจได้รับอันตรายจากน้ำยาล้างห้องน้ำบางชนิดยังมีกลิ่นฉุน ส่งผลเสียต่อสุขภาพ อีกทั้งการล้างห้องน้ำยังทำให้คุณแม่ต้องออกแรงเยอะ ทั้งขัดทั้งถูแล้ว ยังอาจลื่นล้มในห้องน้ำ เสี่ยงแท้งได้ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่รองเท้ากันลื่น สวมผ้าปิดปากและถุงมือทุกครั้ง หรือยกหน้าที่งานบ้านนี้ให้คุณสามีไปเลย
2.การทำความสะอาดกรงสัตว์เลี้ยง
คุณแม่หลายท่านได้เลี้ยงสุนัข หรือแมวไว้เป็นเพื่อนคลายเหงา เลยทำความสะอาดกรงสัตว์เลี้ยงเป็นกิจวัตรประจำวัน พอตั้งครรภ์ก็ยังทำต่อไปอีก แต่ทราบหรือไม่ว่า การทำความสะอาดกรงสัตว์เลี้ยง เก็บอุจจาระของสัตว์เลี้ยงในขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงต่อการที่คุณแม่อาจจะได้รับเชื้อปรสิตและเชื้อโรคมาได้ ทำให้ลูกน้อยเป็นโรคท็อกโซพลาสโมซิส หรือการติดเชื้อจากโปรโตซัวชนิดหนึ่งที่อยู่ในอุจจาระของแมวได้ ดังนั้น ควรให้คนอื่นช่วยทำแทนจะดีกว่า แต่ถ้าหากคุณแม่ไม่มีคนช่วยดูแลจริงๆ ก่อนทำความสะอาดทุกครั้งก็ต้องสวมใส่ถุงมือ และทำความสะอาดมือด้วยสบู่ หลังล้างกรงสัตว์เลี้ยงเรียบร้อยแล้วด้วย
3.ทำความสะอาดหน้าต่าง
การเช็ดกระจกหน้าต่าง จำเป็นต้องเอื้อมมือไปเช็ดถู ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะล้มได้ง่าย อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวัง คือสารที่ใช้เช็ดกระจก เพราะคุณแม่อาจสูดดมเข้าไป จนส่งผลอันตรายต่อลูกได้นั่นเอง
4.การหิ้ว หรือยกของหนัก
คุณแม่ช่วงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการไปซื้อของใช้ในครัวเรือน หรือของตกแต่งบ้าน เพราะการหิ้วของหนักส่งผลโดยตรงต่อกระดูกสันหลังของคุณแม่ ที่เชื่อมโยงไปถึงทารกในครรภ์ ทำให้การยกของหนักในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังอาจมีผลต่อตัวคุณแม่เอง โดยจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นอักเสบ จนมีอาการปวดหลังหรือปวดตามกล้ามเนื้อได้
5.ทำความสะอาดผ้าม่าน และพัดลมเพดาน
พัดลม ผ้าม่านติดอยู่ที่สูง ถ้าจะต้องถอดไปซัก ไปล้างก็ควรจะให้ผู้อื่นทำ ห้ามใช้เก้าอี้หรือบันไดปีนขึ้นไปปลดลงมาด้วยตัวเอง เพราะมีความเสี่ยงที่จะพลัดตกเก้าอี้หรือบันไดได้
6.การดูดฝุ่น
การดูดฝุ่นจำเป็นต้องลากเครื่องดูดฝุ่นไปมาพร้อมกัน ทำให้คุณแม่มีอาการเหนื่อยมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทารกในครรภ์ รวมถึงการเปลี่ยนถุงกรองฝุ่น ซึ่งมีเศษฝุ่นละอองเล็ก ๆ จำนวนมาก เมื่อคุณแม่สูดลมหายใจเข้าไป ก็จะส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยได้เช่นกัน
7.การล้างจาน
คุณแม่บางท่าน เมื่อล้างจานนานๆ อาจมีอาการแพ้น้ำยาล้างจาน จึงไม่ควรล้างจานในปริมาณมาก หากจำเป็นจริง ๆ ก็ต้องใส่ถุงมือ ป้องกันการสัมผัสกับน้ำยาล้างจานโดยตรง
8.การทำความสะอาดบ้านในที่กว้าง ๆ
การทำความสะอาดพื้นที่กว้างๆ ภายในบ้าน จะส่งผลให้คุณแม่ปวดหลังได้ ถ้าจำเป็นต้องทำจริงๆ ก็ให้แบ่งทำวันละเล็ก วันละน้อย เพื่อให้ร่างกายไม่เหนื่อยเกินไป หรือให้คุณพ่อมาช่วยอีกแรงก็จะดีมาก
9.กวาดบ้าน ถูบ้าน
แม้จะเป็นงานบ้านที่คุ้นชิน แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะอุบัติเหตุและอันตรายเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะงานบ้านอย่างการกวาดบ้าน ถูบ้าน ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องก้ม ๆ เงย ๆ ออกแรงแบบนี้ ถ้าไม่ต้องออกแรงมาก กวาดถูในพื้นที่เล็ก ๆ คงไม่เป็นอะไร แต่ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง ไม่ยกถังน้ำหนัก ๆ เลือกใช้ถังแบบล้อเลื่อนจะดีกว่า ควรใช้ไม้ถูพื้นแทนการถูด้วยผ้า ระวังพื้นลื่น ต่างระดับ ถ้ารู้สึกเหนื่อยควรนั่งพัก อย่าฝืน หรือให้สามีมาจัดการทั้งหมดนี้ในวันหยุดแทน
10.ทำความสะอาดเครื่องนอน
เพราะเครื่องนอนที่ใช้อยู่ทุกวัน เป็นที่อยู่ของเจ้าไรฝุ่นตัวดี ที่มักเกาะติดอยู่บนที่นอน หมอน ผ้าห่ม ตัวการที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ เป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ แต่การดูแลทำความสะอาด ต้องนำที่นอนออกไปตากแดด เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนไปซัก ก็ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเผชิญกับไรฝุ่นหรือฝุ่นละอองต่าง ๆ ที่อาจสร้างความระคายเคืองได้ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้คุณแม่จึงควรใส่หน้ากากอนามัย แต่ถ้าจะให้ดี อ้อนคุณสามีมาทำแทน สบายกว่าเยอะ
บทส่งท้าย
งานบ้านที่เคยทำอยู่เป็นประจำก็ยังทำได้อยู่ แต่ควรลดปริมาณการทำลง สามารถทำในพื้นที่เล็ก ๆ หรือไม่ใช่แรงมากจนเกินไปได้ สิ่งไหนที่เลี่ยงได้ หรือถ้าจำเป็นต้องทำก็ให้คุณสามีช่วยทำจะดีกว่า เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่และทารกในครรภ์
เครดิตรูปภาพ www.parents.com blog.themomsco.com www.maids.com www.freepik.com