บทความนี้ขอแนะนำ “ของใช้เตรียมคลอดที่จำเป็นสำหรับทารก ที่คุณแม่ต้องเตรียมให้พร้อม” เมื่อถึงเวลาใกล้คลอด คุณแม่เองก็จะวุ่นวายอย่างมากในการเตรียมข้าวของเครื่องใช้ของสำหรับทารก และของตัวเอง และถ้าเป็นคุณแม่มือใหม่ก็อาจจะมีหลงลืมไปบ้างว่า ของที่ทารกแรกเกิดจำเป็นต้องใช้มีอะไรบ้าง และตัวของคุณแม่นั้นต้องเตรียมอะไรไปบ้างบทความนี้มีมาแนะนำกัน
ของใช้สำหรับทารกที่จำเป็นต้องเตรียม
ของใช้ที่จำเป็นต้องเตรียมมีหลากหลายอย่างมาก ซึ่งอาจจะแยกออกเป็นตามหมวกหมู่ได้ดังนี้ เพื่อความสะดวกและเข้าใจง่ายในการซื้อหรือจัดวาง
1.หมวดเครื่องแต่งกาย
– เสื้อผ้า : ควรเลือกผ้าที่โปรง เบาบาง ใส่สบาย ระบายอากาศดี และควรให้เด็กได้สวมใส่เอาไว้ให้ร่างกายอบอุ่น โดยให้เลือกเป็นชุดเด็กสำหรับเด็กแรกเกิดโดยเฉพาะ และไม่ควรซื้อเยอะจนเกินไปเพราะเด็กเติบโตไวอาจจะใส่ไม่ทัน
– ถุงมือ ถุงเท้า หมวก : เด็กแรกเกิดกำลังอยู่ในช่วงของการปรับตัว เรื่องอุณหภูมิจึงสำคัญด้วยเช่นกัน ฉะนั้นควรเตรียมหมวก ถุงเท้า ถุงมือ เพื่อช่วยให้ความอบอุ่น เมื่อเขาสามารถปรับร่างกายเข้ากับอุณหภูมิได้แล้วค่อยเลิกใส่ให้เขาก็ได้
– ผ้าอ้อม : ผ้าเช็ดอเนกประสงค์ ใช้มากในทารกแรกเกิด ควรมีประมาณ 2 โหล ซึ่งควรเป็นผ้าที่เหมาะสมกับเด็กแรกเกิดโดยเฉพาะ แล้วต้องอ่อนโยนต่อผิวของลูกน้อยด้วย ซักให้สะอาดก่อนนำมาใช้
– ผ้าห่อตัว : ใช้ห่อตัวทารกตั้งแต่แรกคลอด ให้ความอบอุ่นและป้องกันลูกผวาตื่นบ่อยๆ ซึ่งในช่วงหลังคลอดทารกอยู่ในช่วงการปรับตัวให้เขากับสภาพอากาศจริงถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรมี แนะนำให้เป็นผ้าสำลีจะอบอุ่นกว่าเนื้อผ้าอื่น ๆ
– ผ้าขนหนูสำหรับเช็ดตัวลูกน้อย : เป็นของใช้เด็กแรกเกิดควรเตรียมไว้ก่อนคลอด รองรับการเช็ดร่างกายเด็กให้แห้งสนิทหลังอาบน้ำ ช่วยสร้างความอบอุ่นให้เด็ก ไม่ให้เด็กต้องอยู่ในความชื้นเป็นเวลานาน ควรเลือกผ้าที่อ่อนนุ่ม ไม่ระคายเคืองต่อผิวเด็กด้วย
2.หมวดให้นม
– ขวดนม : ขนาดเล็กเหมาะกับเด็กแรกเกิด ควรเลือกจุกเสมือนนมแม่ ไม่แข็งหรือนิ่มจนเกินไป เลือกที่ผลิตจากวัสดุที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย
– จุกหลอก : ตัวช่วยเมื่อลูกร้องงอแงหลังจากกินนมอิ่มแล้ว ทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย และควรเลือกที่ผลิตจากวัสดุที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย
– นมผง : ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ หรือไม่มีน้ำนม ควรเลือกนมผงที่เหมาะสมกับลูกน้อยมากที่สุด และเมื่อเขาทานแล้วต้องไม่แพ้นมผงด้วย
3.หมวดเครื่องนอน
– เตียง : หากคุณพ่อคุณแม่กลัวว่าจะเผลอหลับแล้วนอนทับลูกก็ควรมีเตียงแยกไว้เพื่อความปลอดภัย
– เบาะรองนอน : ไม่เลือกแบบที่อ่อนยวบเกินไป ป้องกันลูกขาดอากาศหายใจเมื่อนอนคว่ำ เลือกที่ทำจากวัสดุที่จะไม่ทำให้ลูกน้อยระคายเคืองหรือเกิดผื่นแพ้
– แผ่นรองซับฉี่ : ใช้เพื่อรักษาความสะอาด ป้องกันอึ ฉี่ แหวะนมเปรอะเปื้อนที่นอนลูก ควรเลือกเป็นผ้าที่ซึมซับได้ดี หรือผ้ายางที่สามารรองรับน้ำได้ดี
– แผ่นรองศีรษะ : รองรับสรีระเด็กได้ดี ช่วยป้องกันศีรษะแบน ป้องกันการหายใจติดขัดหากนอนหมอนสูงเกินไป เลือกวัสดุที่ป้องกันไรฝุ่น กันน้ำ ไม่แข็งหรือนิ่มจนเกินไป มีความยืดหยุ่นและความทนทาน
– ผ้าห่ม : ควรเน้นผ้าที่มีรูระบายอากาศได้ดี ป้องกันไรฝุ่น ไม่ระคายเคืองต่อผิว ผืนต้องให้พอเหมาะกับทารกไม่ใหญ่จนเกินไป
– มุ้งครอบ : ป้องกันทารกจากยุงและแมลงต่าง ๆ ลดความเสี่ยงเกิดผดผื่นและโรคไข้เลือดออก ต้องระบายอากาศได้ดี
4.หมวดอาบน้ำ/อนามัย
– อ่างอาบน้ำและขาตั้ง : ขาตั้งเหมาะกับคุณแม่ผ่าคลอด ช่วยลดอาการเจ็บแผลผ่าผ่าตัดได้ เพราะไม่ต้องก้ม
– แผ่นรองอาบน้ำ : เพิ่มความสะดวกและปลอดภัย เวลาอาบน้ำและชำระล้างก้นลูก
– ฟองน้ำธรรมชาติ : เพราะทารกยังมีผิวที่บอบบาง ควรใช้ฟองน้ำที่อ่อนนุ่ม เพราะจะได้ไม่ทำร้ายผิวของทารก
– สบู่ แชมพู : ควรเลือกใช้สบู่ หรือแชมพูสูตรอ่อนโยน สำหรับเด็กแรกเกิดโดยเฉพาะ ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลากหลายยี่ห้อที่เป็นสูตรอ่อนโอนสำหรับทารกอีกด้วย
– ออย : ช่วยป้องกันไม่ให้ทารกผิวแห้งจนเกินไป หยดในน้ำขณะอาบน้ำ เน้นที่ไม่มีกลิ่นหอม
– คัตตอนบัต : ต้องเป็นสำลีหัวเล็กสำหรับทารก ใช้เช็ดในโพรงจมูก หรือสะดือของเด็ก
– สำลีก้อนใหญ่/สำลีก้อนเล็ก : ใช้สำหรับเช็ดหู ตา ก้น และแผลสะดือ
– ผ้าก็อซ : ใช้เช็ดลิ้น รวมทั้งทำความสะอาดภายในช่องปาก
– แปรงหวีขนนุ่ม : แปรงเบาๆ ทั่วศีรษะเพื่อขจัดคราบไขมันขณะอาบน้ำ
– กรรไกรตัดเล็บ : ทารกมักจะมีเล็บยาวไว ควรตัดบ่อยๆ ทุก 2-3 วัน เพื่อสุขอนามัยที่ดีของลูก
– มหาหิงคุ์ : ไอเท็มสำคัญที่ควรต้องมี ใช้ทาบางๆ บริเวณท้องของลูก หรือชุบผ้าวางใกล้ตัว ป้องกันอาการท้องอืด
– ครีมทาป้องกันผดผื่น : ใช้ทาบางๆ บริเวณก้นส่วนที่สัมผัสแพมเพิส รวมทั้งรอบคอที่เกิดผื่นร้อน
– น้ำยาซักผ้าเด็ก : ควรเลือกใช้สูตรอ่อนโยนสำหรับเด็กโดยเฉพาะ หรือสูตรออร์แกนิค
– แพมเพิสสำเร็จรูป : ทารกแรกเกิดถึง 3 เดือน ควรเลือกแบบเทปกาวขนาดเล็ก (ss) ต้องอ่อนโยนและไม่ระคายเคืองต่อทารก
– ทิชชูเปียก : เพื่อความสะดวกในการเช็ดก้นลูก
– ทิชชู : ใช้ซับของเหลว หรือเช็ดทำความสะอาดบางครั้ง
หมวดสุขภาพ
– เทอร์โมมิเตอร์ : ควรเลือกแบบดิจิทัลหนีบรักแร้เพราะค่อนข้างแม่นยำ
– ที่ดูดน้ำมูก : ทารกมีโพรงจมูกเล็ก เสี่ยงมีน้ำมูกได้ง่ายเมื่อเจออากาศเปลี่ยนแปลง
ของใช้สำหรับคุณแม่ในช่วงคลอดและหลังคลอด
หมวดเครื่องแต่งกาย
– เสื้อผ้า : ต้องไม่รัดบริเวณแผลผ่าตัด สวมใส่สบาย
– ผ้าอนามัยหรือแผ่นอนามัย : เพราะหลังคลอดอาจจะยังมีเลือดไหลอยู่บ้าง หรือซึมซับน้ำคาวปลาหลังคลอด
– เสื้อชั้นในสำหรับให้นมลูก : จะได้สะดวกสบายขณะให้นม
หมวดของใช้
– แผ่นซับน้ำนม : ช่วยซับน้ำนมที่ไหลซึมออกมา ช่วยให้หน้าอกของเราไม่เปียกชื้น และป้องกันการติดเชื้อราในช่องปากลูกน้อย
– แปรงและน้ำยาล้างขวดนม : เลือกน้ำยาล้างขวดนมที่เป็นออร์แกนิคปลอดภัยต่อเด็ก แปรงที่ได้มาตรฐาน
– เครื่องนึ่งขวดนม : ขวดนมและอุปกรณ์บางอย่างจำเป็นต้องผ่านการฆ่าเชื้อ เพราะเด็กยังไม่มีภูมิคุ้มกันต้องป้องกันเชื้อโรคด้วยการนึ่งด้วยความร้อนเพื่อความปลอดภัย
– เครื่องปั๊มนม : ควรเลือกรุ่นที่สะดวก คุณแม่ใช้งานได้ถนัด ดูดเกลี้ยง ไม่เจ็บเต้า จะใช้แบบไฟฟ้า หรือแบบธรรมดาก็ได้แล้วแต่สะดวก
– ถุงเก็บนมแม่ : ช่วยเก็บน้ำนมทำให้ลูกมีน้ำนมแม่กินได้อีกนาน ควรเลือกวัสดุที่ทนต่อความร้อนและเย็น หนาและได้มาตรฐาน
– ผ้าคลุมให้นม : เมื่อออกนอกบ้านควรมีผ้าคลุม เพื่อช่วยให้คุณแม่มีความสบายใจและปลอดภัยในขณะปั๊มนม
– หมอนรองให้นม : หมอนรองให้ที่ออกแบบมาเป็นรูปตัว C ล๊อกเข้ากับเอวคุณแม่ ช่วยประคองทารก ช่วยให้คุณแม่ไม่ต้องเกร็งหลัง ไม่เมื่อยแขน ช่วยเบาแรงคุณแม่ไปได้เยอะ ควรเลือกแบบที่มีปลอกผ้าอ่อนนุ่ม ไม่เป็นขน ผิวสัมผัสอ่อนโยนต่อทารก
บทส่งท้าย
สิ่งของที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ควรจะเตรียมให้พร้อมก่อนคลอด เพราะถ้าคลอดแล้วคุณแม่อาจจะไม่มีเวลาไปหาซื้อของใช้อย่างแน่นอน และวันที่ไปคลอดก็เตรียมของใช้ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ติดไปวันคลอดด้วยนะ เพราะต้องใช้อย่างแน่นอน
เครดิตรูปภาพ wizarticle.com www.todaysparent.com www.istockphoto.com