บทความนี้ขอแนะนำ “กรดไหลย้อนในคุณแม่ตั้งครรภ์ อาการที่ไม่ควรมองข้าม ต้องรีบรักษาให้หายโดยไว” คุณแม่ตั้งครรภ์นั้นจะต้องมีความอึดอัดแล้ว เพราะด้วยความที่ท้องโตขึ้นทุกวัน และถ้าหากมีอาการกรดไหลย้อนร่วมด้วย ก็จะทำให้ไม่สบายตัว และจะทำอะไรก็ลำบาก แม้อาการกรดไหลย้อนไม่ได้รุนแรง แต่ก็ไม่ควรมองข้ามเพราะมันสามารถกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันได้เลย ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่อยากเป็นกรดไหลย้อนต้องทำอย่างไร บทความนี้มีข้อมูลมาฝากกัน
กรดไหลย้อน คืออะไร ?
กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) เป็นภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร ซึ่งเกิดจากกรดในกระเพาะอาหาร จนทำให้เกิดอาการที่รบกวนต่อการชีวิตประจำวัน และเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น การอักเสบของหลอดอาหาร
โรคกรดไหลย้อนเป็นภัยเงียบที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยสาเหตุหลักๆ ของโรคนี้ก็มาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเรานั่นเอง โดยจะทำให้มีอาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ลามขึ้นมาบริเวณหน้าอกหรือลำคอ หลังจากทานอาหารมื้อหนัก และมีอาการเรอมีกลิ่นเปรี้ยว
กรดไหลย้อนในคนท้อง เกิดจากอะไร
– การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงที่ตั้งครรภ์ส่งผลต่อกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร ทำให้กล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหารมีการคลายตัว ส่งผลให้กระบวนการย่อยอาหารทำได้ไม่ค่อยดี จนทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมายังหลอดอาหาร
– ฮอร์โมนตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างมีการคลายตัว ทำให้อาหารและกรดในกระเพาะอาหารสามารถที่จะไหลย้อนกลับขึ้นมายังหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น
– หากคุณแม่มีอาการกรดไหลย้อนเกิดขึ้นบ่อยในช่วงไตรมาสที่สอง และไตรมาสที่สาม นั่นอาจเป็นผลมาจากการที่มดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น และทารกก็มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย การขยายตัวของทารกและมดลูกก็จะไปเบียดหรือกดทับอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการย่อยอาหาร และดันให้อาหารหรือกรดในระบบทางเดินอาหารไหลย้อนหลับไปยังหลอดอาหารด้วย
อาการกรดไหลย้อนในคนท้อง
– รู้สึกแสบร้อนที่บริเวณกลางอก
– จุกเสียดหรือเจ็บที่หน้าอกหลังรับประทานอาหาร
– รู้สึกอึดอัด หนัก และแน่นท้อง
– ท้องอืด ท้องเฟ้อ
– มีอาการเรอ หรือเรอเหม็นเปรี้ยว
– มีรสเปรี้ยวหรือขมในปาก
– ไอหรือเจ็บคอ
อาการกรดไหลย้อนในคนท้องมักเกิดขึ้นช่วงอายุครรภ์ 5-6 เดือน เมื่อเป็นแล้วจะไม่เป็นทั้งนี้ ภาวะกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์นั้นไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ เพียงแต่อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันของตัวคุณแม่เอง และในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไปเองหลังจากคลอดบุตรแล้ว
วิธีรับมือภาวะกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์
1. รับประทานอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ ควรแบ่งมื้ออาหารให้ถี่ขึ้นและลดปริมาณการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลง รวมทั้งเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน
2. ไม่นอนหลังจากเพิ่งรับประทานอาหารเสร็จ ควรนั่ง ยืน หรือลุกเดินอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารแล้วค่อยเอนตัวนอน
3. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำระหว่างรับประทานอาหาร ควรเปลี่ยนมาดื่มน้ำหลังรับประทานอาหารเสร็จและในช่วงระหว่างมื้ออาหารแต่ละมื้อแทน
4. หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว อาหารรสจัด อาหารไขมันสูง อาหารที่มีกรดเป็นส่วนประกอบ น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น
5. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของมินท์ เพราะจะยิ่งส่งผลให้อาการกรดไหลย้อนรุนแรงขึ้นได้
6. รับประทานโยเกิร์ตหรือดื่มนมเมื่อเกิดอาการ เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนจากกรดไหลย้อนได้
7.เคี้ยวหมากฝรั่งหลังรับประทานอาหาร มีการศึกษาพบว่าการเคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาลและไม่ใช่รสมินท์จะช่วยเพิ่มน้ำลาย ซึ่งน้ำลายจะช่วยชะล้างกรดในกระเพาะอาหารซึ่งไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ ทว่ายังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แน่ชัดในด้านนี้
8.ใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป มีฤทธิ์ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร ช่วยให้มีกรดเกินไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหารน้อยลง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยาด้วย เพื่อความปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกในครรภ์
9.ใช้หมอนหนุนบริเวณลำตัวส่วนบนระหว่างนอนหลับ เพื่อให้หลอดอาหารอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหาร ป้องกันกรดไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหาร และควรนอนตะแคงซ้าย เพราะการนอนตะแคงขวาจะทำให้ตำแหน่งของกระเพาะอยู่เหนือหลอดอาหาร
10.สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว เพราะการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไปอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้เช่นกัน
11. ควบคุมน้ำหนัก การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดกรดไหลย้อนในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ได้
12.ไม่เครียดเพราะความเครียดก็สามารถทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ เพราะเมื่อไหร่ที่มีความเครียด ร่างกายจะกระตุ้นให้น้ำย่อยในกระเพาะหลั่งออกมามากขึ้น
คนท้องกินยาแก้อาการกรดไหลย้อน ยากดกรดในกระเพาะได้ไหม
คุณแม่ท้องสามารถกินแก้อาการกรดไหลย้อนได้ ไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่ต้องอ่านสลากยาให้ชัดเจนเพื่อเลี่ยงยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์มาก อาจทำให้คุณแม่ท้องเสีย และเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ และหากกินยาอย่างต่อเนื่องแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาและรับคำแนะนำอย่างถูกวิธีจะดีกว่า
อาการแบบใดที่ควรไปพบแพทย์
แม้โดยปกติกรดไหลย้อนจะไม่เป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ แต่หากอาการของโรคเริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ต้องตื่นขึ้นมากลางดึก มีอาการกลืนลำบาก ไอ น้ำหนักลด หรืออุจจาระเป็นเลือด เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลให้หลอดอาหารเกิดความเสียหายรุนแรงได้
บทส่งท้าย
แม้ว่าอาการกรดไหลย้อนจะไม่รุนแรงและเป็นอันตราย แต่ถ้าหากปล่อยไว้นานก็จะกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันได้ เนื่องจากอาการของกรดไหลย้อนจะทำให้อึดอัด จุกเสียด ไม่สบายตัว มันจะยิ่งทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกอึดอัดขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นหากมีอาการควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ จะดีกว่า
เครดิตรูปภาพ macarthurmc.com nabtahealth.com www.verywellhealth.com www.health.com