บทความนี้ขอแนะนำ “5 โรคยอดฮิต เมื่อลูกเข้าสู่วัยเรียนที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมตัวรับมือ” เมื่อลูกเข้าสู่วัยเรียน คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมตัวรับมือกับปัญหามากมายที่จะตามมา ทั้งลูกไม่อยากไปโรงเรียน ลูกติดเล่นมากเกินไป ลูกงอแง ปัญหาจากเพื่อนที่โรงเรียนของลูก และอีกสารพัดที่ต้องพบเจอ แต่อีกหนึ่งปัญหาที่ต้องพบเจอและอาจจะหลีกเลี่ยงได้ยากก็คือ โรคภัยไข้เจ็บ ที่เมื่อลูกไปโรงเรียนต้องไปพบเจอกับคนหมู่มาก อาจจะติดโรคกลับมาได้ง่าย ซึ่ง 5 โรคฮิตที่มักจะเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ มีอะไรบ้างนั้น บทความนี้จะขอนำมาแบ่งปันกัน
1.ไข้หวัดใหญ่
เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ หรือสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา ซึ่งโรคนี้สามารถเป็นได้ตลอดทั้งปี ทุกฤดู ซึ่งโรงเรียนก็เป็นสถานที่ที่สามารถป่วยจากโรคนี้ได้ง่าย เนื่องจากคนเยอะแออัด สถานที่ที่จำกัดในห้องแคบ ๆ ทำให้อากาศในห้องถ่ายเทไม่ได้สะดวก ทำให้มีโอกาสง่ายในการติดเชื้อ อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการ มีไข้สูง คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ถ้าอาการไม่รุนแรง ก็จะสามารถหายได้เองภายใน 5-7 วัน
แต่ถ้าอาการร้ายแรงก็อาจจะมีอาการแทรกซ้อนเช่น ปอดบวม กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ เหนื่อย หอบ และร้ายแรงสุดถึงขั้นเสียชีวิตได้ ฉะนั้นเมื่อลูกกลับมาจากโรงเรียนควรรีบให้เขาเปลี่ยนเสื้อผ้า ล้างมือ หรืออาบน้ำเลยก็ได้ หากเริ่มมีอาการไข้หวัดก็ให้เขาทานยาและดูอาการ หากติดหวัดก็ให้เขาหยุดอยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
2.โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ติดต่อได้จากการสัมผัส หรือใช้สิ่งของร่วมกัน อาการจะคล้ายกับไข้หวัด ระยะแรกนั้นจะเริ่มจากเป็นไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาจมีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ เสียงแหบ อาเจียนหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย ซึ่งอาการข้างต้นที่กล่าวมาคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป ซึ่งอาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ทันสังเกตอาการได้ แต่ถ้าผ่านเวลาไปสักระยะแล้วมีผื่น ตุ่มใส ขึ้นตามบริเวณปาก มือ และเท้า
ให้คุณพ่อคุณแม่คิดได้เลยว่าลูกอาจจะเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้พาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป ซึ่งโรคนี้ถ้าไม่ได้มีอาการรุนแรงก็จะสามารถหายได้ภายใน 3-5 วัน แต่อาจจะมีเพียงบางรายเท่านั้นที่อาจจะมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงเช่น ปวดหัวมาก ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบได้ โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสฉะนั้นเมื่อลูกของคุณเป็นโรคมือ เท้า ปาก ก็ควรจะแยกของใช้ออกจากคนอื่น ๆ เพื่อป้องการแพร่เชื้อ
3.โรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์เป็นโรคที่เกิดการติดเชื้อได้ง่ายสำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสหรือไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมาก่อน ติดต่อได้จากการสัมผัส หรือใช้สิ่งของร่วมกัน คล้าย ๆ กับโรคมือ เท้า ปาก อาการของโรคนั้นเมื่อได้รับเชื้อมาแล้ว จะมีไข้ต่ำ เริ่มมีผื่นขึ้นตามตัวตามหน้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใสๆ และคัน ต่อมาอีก 2-3 วันก็จะตกสะเก็ด และจะมีอาการคันร่วมด้วย ไม่ควรแคะ แกะ เกา ตุ่มเหล่านั้นเพราะอาจจะทำให้เป็นแผลได้
วิธีการรักษานั้นเมื่อทราบอาการและโรคที่แน่ชัด ควรให้ลูกหยุดเรียนเพื่อลดการแพร่เชื้อ แยกสิ่งของเครื่องใช้ หมั่นให้เขาทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่ ล้างมือบ่อย ๆ ทานยาตามอาหาร ซึ่งโรคนี้ถ้าไม่ร้ายแรง 1-3 สัปดาห์ ก็จะหายเป็นปกติ แต่ถ้าหากมีอาการแทรกซ้อนติดเชื้อบนผิวหนัง ก็อาจจะทำให้ตุ่มกลายเป็นหนองและมีแผลเป็นตามมา ในบางรายเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษและปอดบวมได้ ฉะนั้นควรระวัง และทำความสะอาดร่างกายให้ลูกเสมอ
4.RSV (Respiratory Syncytial Virus)
โรค RSV (Respiratory Syncytial Virus) เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดในเด็กเล็ก ๆ เป็นกันบ่อยในช่วงฤดูฝน ติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรง หรือสัมผัสสิ่งของผู้ที่ได้รับเชื้อ จากน้ำลายที่กระเด็นมาตอนไอ หรือ จาม อาการของโรคคือจะคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ต่ำ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอแห้ง เจ็บคอ ปวดหัวเล็กน้อย
หากลูกมีอาการหวัดแล้วทานยาลดไข้แล้วยังไม่ดีขึ้น ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาโรคอีกครั้ง ซึ่งถ้าเป็นโรค RSV แล้วไม่ร้ายแรง ก็จะสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ ทานยาตามอาการ ดื่มน้ำเยอะ ๆ พกผ่อนให้เพียงพอ และส่วนใหญ่จะหายภายใน 1 -2 สัปดาห์ หากอาการรุนแรงเช่น เหนื่อย หอบ ควรรีบไปพบแพทย์ และอยู่ในการดูแลของแพทย์จะดีกว่า
5.โรคตาแดง
โรคตาแดง เป็นการอักเสบของเยื่อบุตาที่เกิดจากการติดเชื้อ เชื้อที่ทำให้เกิดโรคตาแดงที่พบได้บ่อยได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย อาการของโรคตาแดงเมื่อได้รับเชื้อแล้วนั้น ในช่วงเช้า มีน้ำตาไหล เจ็บตา เคืองหรือแสบตา เชื้อไวรัสจะทำให้เยื่อบุตาภายในหนังตาเกิดการอักเสบ บวมและทำให้ตาแดง จะมีอาการอยู่ประมาณ 4-7 วันหลังจากนั้นจะค่อยๆ หายไป การติดต่อของโรคนั้นเกิดขึ้นจากสัมผัสกับขี้ตาหรือน้ำตาที่ติดอยู่บนมือ สิ่งของที่ใช้ร่วมกับผู้ป่วย และจากการหายใจหรือไอจามรดกัน
ซึ่งวิธีการรักษาควรไปพบแพทย์เพื่อรับยามากรักษาตามอาการ ล้างมือให้สะอาด แยกสิ่งของเครื่องใช้กับผู้ที่ป่วยเป็นตาแดง หยุดเรียนเพื่อลดการแพร่เชื้อ โรคตาแดงอาจจะเป็นโรคที่ดูไม่ร้ายแรงและถูกมองข้ามไป แต่ใครจะรู้ว่าหากเราปล่อยปะละเลยอาการก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นก็ได้ ซึ่งมันก็อาจจะร้ายแรงถึงขั้นตาบอดได้เลย
บทส่งท้าย
การที่ลูกไปโรงเรียน ในปัจจุบันที่โรค Covid 19 ยังคงระบาดอยู่นั้น เราก็ต้องระวังตัวให้มากขึ้นแล้ว และต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นไปอีกกับโรคยอดฮิตที่เด็ก ๆ ลูก ๆ ของเรามักจะได้รับเชื้อมาจากโรงเรียน ซึ่งมันจะหลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะเด็กมาจากต่างที่กัน ฉะนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือสอนให้ลูกรักษาความสะอาดของตัวเอง หมั่นล้างมือบ่อย ๆ เมื่อยู่ที่โรงเรียน ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นถ้าไม่จำเป็น แค่นี้ลูกน้อยก็จะห่างไกลโรคได้แล้ว
เครดิตรูปภาพ www.wasd.org kidsclinic.sg health.clevelandclinic.org