บทความนี้ขอแนะนำบทความเรื่อง ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ภัยร้ายที่น่ากลัวสำหรับลูกน้อย ควรป้องกันและรับมืออย่างไรดี ไข้หวัดใหญ่อันตรายถึงชีวิต แต่ป้องกันได้ ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ระบาดมากในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน – ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม – มีนาคม) ของทุกปี ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตมากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป จะอันตรายแค่ไหนบทความนี้มีคำตอบมาฝากกัน
โรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่( Influenza) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ มักจะมีการระบาดมากในช่วงฤดูฝน พบได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กโต วัยผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ไข้หวัดใหญ่จะแบ่งเป็น 3 สายพันธุ์หลักคือ สายพันธุ์ A สายพันธุ์ B และ สายพันธุ์ C โดยในบทความนี้จะขอกล่าวถึงไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ซึ่งทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเจอภาวะแทรกซ้อนได้รุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เกิดจากเชื้ออะไร
เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 (A/H1N1) เป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน เกิดจากการผสมสารพันธุกรรมระหว่างเชื้อไข้หวัดใหญ่ของคน สุกร และนก
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ติดต่ออย่างไร
การแพร่ติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง เกิดขึ้นได้ง่าย เกิดจากถูกผู้ป่วยไอจามรดโดยตรง หรือหายใจเอาฝอยละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายในระยะ 1 เมตร เนื่องจากเชื้อไวรัสอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย แต่บางรายอาจได้รับเชื้อทางอ้อม ผ่านทางมือ หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก ผู้ป่วยอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย ช่วง 3 วันแรก จะแพร่เชื้อได้มากที่สุด ระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน
อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็ก
– มีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส (ติดต่อกันหลายวัน)
– หนาวสั่น
– อ่อนเพลีย
– เบื่ออาหาร
– ขับถ่ายเหลว
– คลื่นไส้อาเจียน
ข้อควรระวัง : อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็กเล็กบางราย อาจมีไข้สูงจนมีอาการชัก หรือท้องเสียจนทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ขาดน้ำ และอาจมีอาการหายใจลำบากร่วมด้วย ควรพามาพบแพทย์โดยด่วน
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ช่วยป้องกันได้ไหม
เนื่องจากวัคซีนครอบคลุมในบางสายพันธุ์เท่านั้น ทำให้หลังฉีดวัคซีนก็ยังเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ ซึ่งปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเรื่องวัคซีนและการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่อง การปรับสายพันธุ์ในวัคซีนจะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้รายละเอียดเรื่องการฉีดวัคซีนแนะนำสอบถามข้อมูลกับคุณหมอและเภสัชกรอีกครั้ง
ป้องกันลูกจากโรคไข้หวัดใหญ่อย่างไรดี
• สอนลูกให้ กินร้อน ช้อนกลาง
• อย่าลืมล้างมือก่อนทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง ฝึกจนเป็นนิสัย
• การสวมหน้ากากอนามัย ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดการแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่ได้
• หากลูกไม่สบายควรพักผ่อนอยู่บ้านจนหาย ถ้าน้องทานยาไข้หวัดแล้ว แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปปรึกษาอาการกับแพทย์ อย่าเพิ่งรีบไปโรงเรียนนะ
การรักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง เช่น
1.ไข้สูงเฉียบพลัน
2.ปวดศีรษะอย่างหนัก
3.มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียรุนแรง
อาการกลุ่มนี้จำเป็นต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส คือ ยาโอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) เป็นยาชนิดรับประทาน หากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 2 วันหลังเริ่มป่วย จะให้ผลการรักษาดี
ผู้ป่วยที่อาการไม่มาก
อาการของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ A ที่ไม่รุนแรงมากนั้นจะมี ไข้ต่ำ ๆ ตัวไม่ร้อนจัด และยังรับประทานได้ อาจไปพบแพทย์ที่คลินิก หรือขอรับยา และคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และดูแลรักษาที่บ้านได้ดังนี้
1.รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ วิตามิน เป็นต้น และเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ ด้วยน้ำสะอาดไม่เย็น
2.ดื่มน้ำสะอาด และน้ำผลไม้มาก ๆ งดดื่มน้ำเย็น
3.พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้มาพอเพียง เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น
4.ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ยกเว้น ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งต้องรับประทานยาจนหมด ตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา
5.ให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็ก
– ไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในปอดหรือโรคปอดบวม ในบางกรณี ไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เสียชีวิตได้
– เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่มากขึ้น โรคหอบหืดหรือภาวะปอดอื่น ๆ อาจถูกกระตุ้นจากไข้หวัดใหญ่ได้
– เด็กที่เป็นไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อในหูมากขึ้น
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A/H1N1 การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อได้ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
2.หากต้องการดูแลผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัย และให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยด้วย หลังดูแลผู้ป่วยทุกครั้ง ควรรีบล้างมือด้วยน้ำ และสบู่ให้สะอาดทันที
3.ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
4.ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
5.หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง ไอ จาม
บทส่งท้าย
อย่างไรก็ตาม อาการไข้หวัดใหญ่ 2024 ทั้งสายพันธุ์ A และ B เป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม หากเราป่วย หรือมีอาการดังกล่าว ก็ควรพักผ่อนเพื่อรักษาตัวให้หายดี ยังไม่ควรออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ทั้งนี้การสวมหน้ากากอนามัยในช่วงที่กำลังมีอาการไข้หวัดใหญ่ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสไปแพร่กระจายใส่ผู้อื่นนั่นเอง
เครดิตรูปภาพ
parenting.firstcry.com au.news.yahoo.com medicalnewstoday.com kidsclinic.sg