บทความนี้ขอแนะนำ บทความเรื่อง โรคซางในเด็กเล็ก คืออะไร ควรรับมือและป้องกันอย่างไรดี แน่นอนว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่จะต้องเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคซางในเด็กกันมาบ้างใช่ไหม แต่ก็คงมีหลายคนเหมือนกันที่ไม่รู้ว่าโรคซางในเด็กมีลักษณะอย่างไร และคือโรคอะไร และควรรับมือและป้องกันอย่างไรดี บทความนี้มีคำตอบมาฝากกัน
โรคซาง คืออะไร
โรคซาง คืออะไร โรคซางก็คือโรคที่ไม่มีอยู่จริงในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่จะมีบันทึกอยู่ในแพทย์แผนโบราณ และส่วนใหญ่มักจะเป็นคำบอกกล่าว ความเชื่อที่ส่งต่อกันมาถูกบ้าง ผิดบ้าง พอเห็นว่าเด็กมีอาการต่าง ๆ เช่น ตัวร้อน ไม่สบาย ท้องเสีย เป็นตุ่มตามตัว เป็นตุ่มในปาก ขาดสารอาหาร ตัวผอม ตัวเล็ก ก็มักจะตีความไว้ก่อนว่าเป็นโรคซาง
ซึ่งจริง ๆ แล้วโรคซางที่ว่าก็คือโรคในเด็กนี่แหละ คำว่าโรคในเด็ก ก็หมายความว่าเป็นสารพัดอาการต่าง ๆ ที่มักจะพบได้บ่อยในเด็ก หรือก็คือกลุ่มอาการที่ทำให้เด็กไม่สบายตัว ซึ่งมีตั้งแต่ตัวร้อน เป็นไข้ ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูก เบื่ออาหาร ไม่กินอาหาร แต่ถ้าจะให้จำกัดความอาการของโรคซางให้แคบลงมาอีกหน่อย โดยอ้างอิงจากกลุ่มอาการที่พบ ก็เป็นไปได้ว่าโรคซางที่คนเฒ่าคนแก่บอกเอาไว้นั้น อาจจะหมายถึงโรคขาดสารอาหารหรือพุงโรก้นปอด อันเนื่องมาจากการขาดสารอาหารหรือการติดเชื้อจากกลุ่มพยาธิที่อยู่ในลำไส้
อาการของโรคซาง
1.ช่องปากมีแผลหรือเม็ด
2.บริเวณลิ้นและโคนลิ้นมีการเกิดของฝ้า
3.น้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด
4.มือเท้าเย็น
5.มีผื่นขึ้นตามตัวในบางราย
6.มีลักษณะพุงโรก้นปอด
7.ทารกมีเหงื่อออกมากกว่าปกติ
8.เบื่ออาหาร ไม่ทานนมและข้าว
9.ปวดศีรษะ
10.มีไข้
สาเหตุของโรคซางในเด็กเล็ก
สาเหตุของโรคซางในเด็กเล็กมักจะเกิดมาจากการขาดความเข้าใจในการให้อาหารลูกน้อยอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการที่ลูกน้อยควรได้รับดังนี้
1.ในช่วง 6 เดือนแรก ทารกได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ
2.มีการให้นมผสมอย่างไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ปริมาณ ชนิดนม หรือวิธีผสมที่ไม่เหมาะกับลูกน้อย
3.เริ่มให้ลูกทานอาหารเสริมเร็วหรือช้าเกินไป
4.เกิดจากความยากจน จนไม่สามารถหาอาหารประเภทโปรตีนเช่น เนื้อ นม ให้ลูกทานได้อย่างเพียงพอ
5.เมื่อเด็กป่วยก็จะเบื่ออาหาร รวมถึงมีการย่อยและการดูดซึมบกพร่องทำให้ได้อาหารน้อยลงไปอีก
6.ให้ลูกทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ กินจุกจิก ทำให้อิ่มจากขนมและไม่ยอมทานอาหารมื้อหลัก
การรักษาโรคซาง
การรักษาโรคซางหรือพุงโรก้นปอดนั้น เรื่องโภชนาการของเด็กถือเป็นเรื่องที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม สำหรับเด็กทารกควรจะได้กินนมแม่ต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน หรือถ้าเป็นเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยควรให้เด็กได้กินอาหารที่หลากหลาย ครบ 5 หมู่ และยังต้องกินอย่างถูกสุขลักษณะด้วย
มากไปกว่านั้น อีกวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้ลูกสุขภาพดีนั่นก็คือ การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของลูก หากพบว่าลูกมีอาการที่ผิดปกติ เช่น มีไข้ ตัวร้อน มีผื่นตามตัว เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ให้พาลูกไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา ไม่ว่าลูกจะเป็นโรคซางหรือไม่ การพาลูกไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคอันตรายหรือโรคเรื้อรังที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก
การป้องกันโรคซางในทารกและเด็ก
การป้องกันโรคซางหรือพุงโรก้นปอด อาจสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น
– การให้ทารกได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน หรือนานถึง 1 ปี
– ให้เด็กกินอาหารที่หลากหลาย ครบทั้ง 5 หมู่
– ให้ลูกกินแต่อาหารที่ถูกสุขลักษณะ ปรุงสดใหม่ ไม่ปรุงอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เพราะเสี่ยงที่ทารกจะได้รับพยาธิจากอาหารที่ไม่สุก หรืออาหารที่ค้างคืน
– ล้างมือให้ลูกเสมอโดยเฉพาะช่วงก่อนและหลังกินอาหาร เพื่อป้องกันแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย
– พยายามอย่าให้ลูกเดินเท้าเปล่า เพราะอาจเสี่ยงที่จะพบกับพยาธิต่าง ๆ ที่สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังได้
– ควรให้ลูกทานอาหารเสริม ให้เหมาะสมกับวัยของลูก โดยเมื่อลูกเข้าสู่อายุ 6 เดือนก็สามารถเริ่มให้ลูกทานได้ดีละน้อย โดยค่อยๆ เพิ่มความหลากหลาย เพิ่มความหยาบ และไม่ควรไปบังคับให้ลูกกิน และพยายามจูงใจลูกด้วยวิธีต่างๆแทน
– แพทย์อาจพิจารณาให้ยาถ่ายพยาธิแก่เด็กหากเด็กมีอาการพุงโรก้นปอดจากการมีพยาธิในลำไส้ เพื่อกำจัดพยาธิที่กำลังแย่งสารอาหารจากเด็กไป
ผลกระทบที่เกิดจากโรคซาง
ผลกระทบที่ทำให้เกิดผลเสียขึ้นกับร่างกายของเด็กมากที่สุด นั่นก็คือ เด็กจะมีร่างกายที่ผอมแห้งมาก ซึ่งในปัจจุบันจะสามารถสังเกตได้ทันที ซึ่งลักษณะร่างกายของเด็กแบบนี้ ส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรง กล้ามเนื้อแขนขาลีบ อาจทำให้การเดินและการวิ่งมีการหกล้มได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลเสียต่อระบบขับถ่าย ระบบหายใจ และทำให้ร่างกายของเด็กมีพัฒนาการที่ช้าลง เนื่องจากขาดสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างเป็นจำนวนมาก
บทส่งท้าย
ความจริงแล้วซางไม่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรงอะไรมากนักแต่เป็นอาการที่เกิดจากการขาดสารอาหารของเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพราะการเลี้ยงดูที่ไม่ดีของพ่อแม่และเป็นเพราะการให้ลูกทานอาหารไม่ถูกตามหลักโภชนาการนั่นเอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และต้องเพียงพอสมตามวัย ร่างกายก็จะแข็งแรงปลอดภัยจากโรค
เครดิตรูปภาพ herviewfromhome.com www.unitypoint.org www.occobaby.com www.weebeedreaming.com