บทความนี้ขอแนะนำ “เมื่อลูกถูกเพื่อนแกล้ง คุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง” เมื่อลูกเข้าโรงเรียนจะต้องมีปัญหาตามมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้กังวลใจกันอยู่ตลอด และอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องพบเจอคือ เรื่องที่ลูกโดนเพื่อน ๆ แกล้ง เพราะเด็กแต่ละคนนั้นมีนิสัยแตกต่างกัน และต่างที่มากัน อาจจะมีปัญหากระทบหระทั่งกันบ้าง แต่เกิดเป็นเหตุรุนแรงจนเกิน คุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีรับมืออย่างไรบ้างนั้นไปดูกัน
วิธีสังเกตอาการของลูกว่าลูกถูกแกล้งหรือไม่
พ่อแม่เคยสังเกตไหมว่า ทุกครั้งที่ลูกไปโรงเรียนเขามีพฤติกรรมอย่างไร พอกลับมาถึงบ้านมีพฤติกรรมอย่างไร วิธีดูง่ายๆ โดยดูจากอาการต่อไปนี้
– เศร้า
– ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม
– เก็บตัว ชอบอยู่คนเดียว
– ไม่พูดไม่จา ถามคำตอบคำ
– ไม่หิว ไม่อยากกินข้าว
– ไม่อยากไปโรงเรียน
– มีปัญหากับพี่น้อง ไม่มีการต่อสู้ โต้เถียงอย่างที่ควรจะเป็น
– พฤติกรรมเปลี่ยนไป
– ของหายบ่อยๆ
– เสื้อผ้าขาด
– ปวดท้อง
– นอนไม่หลับ ชอบฝันร้าย
– ฉี่รดที่นอน
วิธีป้องกัน และรับมือไม่ให้ลูกโดนเพื่อนแกล้ง
ลูกน้อยเมื่อไปโรงเรียน พ่อแม่ก็ไม่สามารถดูแลได้ จะฝากให้ครูช่วยดูก็อาจจะดูไม่ทั่วถึง บางครั้งเด็กต้องเนื้อตัวเขียว เป็นรอยแดง เพราะทะเลาะกับเพื่อน หรือโดนเพื่อนแกล้งกลับมาบ้าน จนพ่อแม่ต้องหา วิธีป้องกันไม่ให้ลูกโดนเพื่อนแกล้ง เพื่อให้ลูกได้กลับไปเรียนได้อย่างมีความสุข สามารถเล่นกับเพื่อน และเข้ากับเพื่อนได้
1.พยายามถามไถ่ลูกทุกวันในช่วงอาหารค่ำ หรือก่อนนอน ว่าวันนี้ที่ลูกไปโรงเรียนเจออะไรบ้าง เล่นกับใครบ้าง ทำกิจกรรมอะไรบ้าง และสิ่งไหนที่ชอบที่สุดในการไปโรงเรียนวันนี้
2.จำลองเหตุการณ์สมมติ พ่อแม่ต้องลองยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ลูกอาจจะเจอในแต่ละวัน แล้วบอกถึงวิธีการหรือแนวทางในการแก้ปัญหา หากเจอคนแบบนี้ พฤติกรรมแบบนี้ จะต้องทำอย่างไร ซึ่งอาจใช้หนังสือ หรือหนังที่ลูกดู อธิบายเพิ่มเติมได้
3.พยายามเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาที่ดีให้ลูก เพราะเมื่อเด็กอยู่กับคุณเขาจะจำทุกสิ่งทุกอย่างที่พ่อแม่พูด หรือกระทำ หากคุณไม่สามารถแก้ปัญหาเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ เขาก็จะกลายเป็นเหมือนคุณ
4.สอนให้ลูกปกป้องตนเอง ไม่ใช่การตอบโต้รุนแรง แต่ให้รู้จักระวังตัว มีความเชื่อมั่น กล้าบอกความรู้สึกของตนเอง เช่น บอกเพื่อนที่แกล้งว่าเล่นแบบนี้เราไม่ชอบ หรือให้เดินหนี ไปเล่นกับคนอื่น
5.บอกไปเลยว่าไม่ชอบให้เพื่อนทำแบบนี้ พ่อแม่ต้องฝึกให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตัวเอง และสะท้อนอารมณ์ออกมาให้คนอื่นเข้าใจได้ เช่น ถ้าโดนเพื่อนแกล้งหรือพูดล้อเลียน และลูกรู้สึกไม่พอใจ ให้ลูกบอกความรู้สึกนั้นให้เพื่อนรับรู้
6.สอนทักษะทางสังคมให้ลูก ว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ เช่น ถ้าลูกเล่นตามกติกาเพื่อนก็อยากเล่นด้วย ถ้าลูกรู้จักแบ่งปัน ให้อภัย ใครๆ ก็อยากเป็นเพื่อนกับลูก ถ้าลูกชอบรังแกคนอื่น ก็ไม่มีใครอยากคบ และสิ่งที่ลูกทำก็จะติดตัวไปจนโต
7.ถ้าหากลูกบอกว่าโดนเพื่อนแกล้ง ให้ซักถามเรื่องที่เกิดขึ้นให้ละเอียดเสียก่อน พ่อแม่อย่าเพิ่งเชื่อเรื่องที่ลูกเล่ามาทั้งหมด เพราะบางครั้งเด็กอาจไม่พูดความจริงเพราะกลัวถูกดุ พ่อแม่อย่าเพิ่งโมโหหรือเจ็บแค้นแทนลูก แต่ควรตั้งสติ รับฟังและคิดหาทางแก้ปัญหา
8.สอนลูกให้รู้จักยอมรับและขอโทษ กรณีที่ลูกไปทำร้ายคนอื่นก่อน และอธิบายว่าการแกล้งหรือทำร้ายเพื่อนเกิดผลเสียทั้งต่อตนเองและเพื่อนอย่างไร
9.ปรึกษาครูประจำชั้น ให้ครูประจำชั้นเป็นนกลางไกล่เกลี่ยปัญหาจะดีกว่า ไม่ควรไปทำร้ายคู่กรณีของลูก หรือเข้าไปคุยกับพ่อแม่ของเด็กคนนั้นโดยตรง เพราะจะกลายเป็นเรื่องผู้ใหญ่ทะเลาะกัน อาจจะให้ครูช่วยหาสาเหตุ เช่น ที่บ้านมีปัญหา ถูกทำร้าย หรือขาดความรัก จึงอยากเรียกร้องความสนใจ บางคนอาจจะเคยโดนผู้ใหญ่แกล้งจึงเก็บกด เมื่อไปโรงเรียนจึงแกล้งเพื่อนที่อ่อนแอกว่า
10.สอนให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเอง ส่งแสริมและสนับสนุนให้ลูกทำสิ่งที่ตัวเองรักอย่างเต็มที่ รวมถึงสอนให้ลูกพัฒนาและปรับปรุงบุคลิกภาพให้ดูดี เพื่อส่งเสริมให้ลูกมีความมั่นใจและเห็นคุณค่าของตัวเอง
11.ไม่พาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะทำให้ถูกรังแก เช่น เล่นคนเดียวหรือปลีกตัวห่างจากเพื่อนคนอื่นๆ พยายามเล่นอยู่ในสายตาของคุณครู รวมทั้งสอนให้ลูกรู้จักผูกมิตรและสร้างกลุ่มเพื่อนเอาไว้บ้าง
12.สอนให้ลูกกล้าขอความช่วยเหลือจากคุณครู เมื่อสอนให้ลูกพยายามปกป้องตัวเองทุกวิถีทางแล้ว อย่าลืมให้ลูกเรียนรู้การแก้ปัญหาที่ใหญ่เกินความสามารถของเขาด้วยการขอความช่วยเหลือจากคุณครู เช่น อธิบายให้ลูกฟังว่า ถ้าหนูบอกเพื่อนแล้วว่าไม่ชอบให้เล่นแบบนี้แต่เพื่อนไม่ยอมหยุด หนูสามารถไปบอกให้คุณครูมาช่วยพูดได้ทันที
บทส่งท้าย
เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนก็มีคงมีความกังวลใจว่าเมื่อลูกไปเรียนจะโดนเพื่อนแกล้งไหม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องหาวิธีสอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธ ต้องเข้มแข็ง และมีความกล้าที่จะเผชิญหน้า แต่ไม่ควรสอนให้ลูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง เพราะปัญหาอาจจะใหญ่กว่าเดิมและบานปลายได้
เครดิตรูปภาพ news.sanfordhealth.org www.overstuffedlife.com www.smartparenting.com.ph