บทความนี้ขอแนะนำ “เนอสเซอรี่ ควรเลือกอย่างไรให้เหมาะสม และปลอดภัยกับลูกน้อย” การมองหาเนอสเซอรี่ ที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ปกครองอาจเป็นเรื่องยาก เพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม ทำเลที่ตั้ง ราคาที่สมเหตุสมผลและสอดคล้องกับฐานะของที่บ้าน ระบบรักษาความปลอดภัย ความเชี่ยวชาญของบุคลากร ชั่วโมงที่รับฝาก เป็นต้น เพื่อให้แน่ใจว่าลูกน้อยจะได้รับการดูแลที่เหมาะสมมากที่สุด
เนอสเซอรี่ คืออะไร
เนอสเซอรี่ (Nursery) หรือเดย์แคร์ (Day care) เป็นสถานที่รับฝากเด็กเล็กหรือเด็กก่อนวัยเรียนในช่วงกลางวัน มีทั้งการดูแลเป็นรายวันและรายเดือน โดยมีค่าใช้จ่ายแตกต่างไปในแต่ละสถานที่ ราคาอาจขึ้นอยู่กับระยะเวลา ทำเลที่ตั้งของเนอสเซอรี่ อาหารสำหรับเด็ก โปรแกรมการดูแล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ประจำอยู่ที่ศูนย์ คุณภาพของบุคลากร เป็นต้น
ข้อดีและข้อเสียของการส่งลูกไป เนอสเซอรี่
ข้อดี
– สะดวกต่อคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องทำงานและไม่สามารถเลี้ยงลูกเองได้
– เนอสเซอรี่หลายที่มีเวลารับฝากที่ยืดหยุ่นและอาจให้บริการในเวลาหลังเลิกงาน จึงช่วยให้ คุณพ่อคุณแม่สามารถจัดการกับเวลาส่วนตัวได้สะดวกขึ้น
– ลูกจะได้ฝึกทักษะการเข้าสังคมกับเด็กในวัยใกล้เคียงกัน
– ลูกได้รับการเสริมสร้างพัฒนาการที่เหมาะสมจากบุคลากรที่มีประสบการณ์
ข้อเสีย
– การฝากลูกให้เนอสเซอรี่ช่วยเลี้ยงทำให้ลูกต้องอยู่ไกลหูไกลตาคุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัว และคุณพ่อคุณแม่อาจไม่สามารถตรวจสอบความเป็นอยู่ของลูกได้ตลอดเวลา ทั้งยังเป็นไปได้ที่ลูกจะได้รับบาดเจ็บ ถูกรังแก หรือเกิดอุบัติเหตุ
– อาจมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะบ้านที่ส่งให้ลูกไปอยู่เนอสเซอรี่เพราะไม่มีคนคอยดูแลในช่วงกลางวันที่ต้องออกไปทำงาน ทำให้ต้องฝากลูก 20 วันขึ้นไป/เดือน
– ลูกอาจเสี่ยงติดเชื้อโรคหรือปรสิต เช่น เชื้อโควิด-19 โนโรไวรัส ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เหา จากเพื่อนร่วมเนอสเซอรี่ได้ง่าย
เกณฑ์ในการเลือกเนอสเซอรี่
1. ค่าใช้จ่าย เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว
2.เลือกเนอสเซอรี่ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน รับส่งและเดินทางสะดวก ลูกไม่เหนื่อยเกินไป
3.นโยบายตรงกับความต้องการของพ่อแม่ เช่น สนับสนุนการให้นมแม่ โดยยินดีป้อนนมลูกแบบจิบดื่มจากถ้วยแทนการให้ดูดจากขวด หรือให้ผลไม้แทนขนมหวาน
4.เลือกเนอสเซอรี่ที่ปลอดภัย ไม่มีประตูที่เด็กจะเดินออกไปเองตามลำพังได้ มีทางหนีไฟ ระบบตรวจจับควันไฟ การติดตั้งของเล่นมั่นคงดี มีที่จอดรถห่างจากที่เล่นของเด็ก ไม่แออัด การระบายถ่ายเทอากาศดี หากเป็นห้องแอร์ควรมีเครื่องฟอกอากาศเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะได้รับโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ มีห้องแยกสำหรับเด็กป่วย
5.เลือกเนอสเซอรี่ที่มีของเล่นหลากหลายและเหมาะกับเด็กแต่ละวัย เพื่อช่วยเสริมพัฒนาการและมีจำนวนเพียงพอ
6.เลือกเนอสเซอรี่ที่มีกล้องวงจรปิดเพื่อคอยตรวจสอบและย้อนดูเหตุการณ์ได้ในกรณีที่มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นแก่ลูก
7.เลือกเนอสเซอรี่ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี
8.เลือกเนอสเซอรี่ที่บุคลากรเพียงพอกับจำนวนเด็ก จะได้ดูแลเด็กอย่างทั่วถึง สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคติดต่อ ไม่มีประวัติอาชญากรรม รักเด็ก ใจเย็น มีความรู้ความชำนาญในการดูแลเด็ก ผ่านการอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
9.เลือกเนอสเซอรี่ที่มีห้องเตรียมอาหารที่ถูกสุขลักษณะ จัดอาหารและของว่างถูกต้องตามหลักโภชนาการและน่ารับประทาน
10.เลือกเนอสเซอรี่ที่มีสุขอนามัยเรื่องการใช้ส้วมและกำจัดสิ่งปฏิกูล มีการแยกข้าวของเครื่องใช้ของเด็กแต่ละคนไม่ให้ปะปนกัน มีการทำความสะอาดห้องเรียน อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้และของเล่นเป็นประจำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
11.เลือกเนอสเซอรี่ที่มีเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินของโรงพยาบาล สถานีตำรวจ และสถานีดับเพลิงในที่ที่เห็นได้ง่าย
สิ่งที่ควรถามเพิ่มเติมจากเนอสเซอรี่
หากคุณพ่อคุณแม่มีตัวเลือกเนอสเซอรี่ไว้ในใจแล้ว ควรหาโอกาสไปเยี่ยมชมเนอสเซอรี่ที่สนใจด้วย และลองถามคำถามเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ดู จะได้ตัดสินใจถูกว่าเนอสเซอรี่ที่เล็งไว้นี้เหมาะกับลูกของเรามากน้อยแค่ไหน
1. หลักสูตรและกิจกรรม มีหลักสูตรและจัดกิจกรรมให้เด็กแบบไหน เน้นประเภทสอนร้องเพลง หรือมีกิจกรรมที่สอนให้เด็กเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นหรือไม่
2. เป้าที่กำหนดให้เด็กเรียนรู้ แนะนำว่าหลีกเลี่ยงเนอสเซอรี่ที่เข้มงวดกับเรื่องการเรียนรู้มากจนเกินไป เช่น มีการตั้งเป้าในการนับเลขให้ได้ตามกำหนดระยะเวลา ควรเลือกที่เน้นเรื่องทักษะการเข้าสังคมให้เด็กมากกว่า
3. กิจกรรมประจำวัน ในแต่ละวันมีตารางกิจกรรมเป็นแบบแผนมากน้อยแค่ไหน การให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นเรื่องที่ดี แต่เด็กยังเล็กมาก ควรให้เขาได้เล่นตามใจชอบด้วยเช่นกัน
ทำอย่างไรถ้าลูกร้องไห้ทุกวันเมื่อเข้าเนอสเซอรี่
การร้องไห้ของเด็กถือเป็นเรื่องปกติในระยะแรก เด็กต้องอาศัยการปรับตัวเมื่อเริ่มต้นเข้าเนอสเซอรี่ เพราะความไม่คุ้นเคยกับสถานที่และคนแปลกหน้า โดยเฉพาะยิ่งเด็กที่อายุเกิน 2 ขวบ จะปรับตัวได้ยากกว่าเด็กเล็กๆ อย่างไรก็ตามช่วงเวลาปรับตัวของเด็กส่วนมากจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือสามารถปรับตัวดีขึ้นได้ในวันที่ 2 และวันที่ 3
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำในช่วงแรกๆที่ให้ลูกเข้าเนอสเซอรี่คือการมารับลูกให้ตรงเวลาเสมอ ไม่เกิน 5 – 6 โมงเย็น และไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่รอพ่อแม่รับกลับบ้านเป็นคนสุดท้าย เพราะจะทำให้เด็กเกิดความกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง นอกจากนี้พ่อแม่ควรพูดถึงเนอสเซอรี่ในแง่บวกเสมอ ไม่ใช้เนอสเซอรี่ในการขู่ลูกหรือเป็นการทำโทษ
บทส่งท้าย
ก่อนพาลูกเข้าเนอสเซอรี่ ก็ต้องมั่นใจก่อนว่าลูกเรามีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจหรือยังที่จะไปอยู่ในที่ที่ไม่มีพ่อกับแม่ และเมื่อคุณกังวลว่าลูกยังไม่พร้อม ก็คงจะดีกว่าถ้าเลื่อนให้ลูกไปเรียนเทอมหน้าหรือปีหน้า แทนที่จะบังคับให้เขาไปเรียนอย่างไม่มีความสุขและเป็นภาระของโรงเรียนในภายหลัง
เครดิตรูปภาพ www.procaresoftware.com www.expatica.com ifs.org.uk