บทความนี้ขอแนะนำ “อ่านหนังสือให้ลูกในท้องฟัง อาจจะดีกว่าที่คุณคิด” ความเชื่อที่กล่าวกันไว้ว่า ไม่ควรอ่านหนังสือให้ทารกฟังเพราะลูกยังไม่เข้าใจ ยังมีคุณพ่อคุณแม่บางท่านที่มีความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ เพราะคิดว่า เจ้าหนูน้อยไม่รู้และไม่เข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่อ่าน แต่ความคิดนั้นจะเปลี่ยนไปหากคุณได้รู้ว่าการอ่านหนังสือให้ทารกในครรภ์ฟังมันอาจจะดีกว่าที่คุณคิด
อ่านหนังสือให้ลูกในท้องฟัง ดีอย่างไร
1. การอ่านหนังสือ หรือเล่านิทานให้ลูกในท้องฟังเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณแม่มีการพักผ่อนไปในตัว ช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบาย ได้ใช้เวลาในการพักผ่อนร่วมไปกับลูกน้อย ซึ่งเมื่ออารมณ์ดีร่างกายก็จะมีการหลั่งสารเอ็นโดรฟินออกมามากขึ้นอีกด้วย
2. ช่วยกระตุ้นระบบประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการได้ยินของลูกน้อย ให้มีความพร้อมและมีการพัฒนาการที่ดี เพื่อเตรียมตัวออกมาสู่โลกภายนอก ไม่เพียงแต่การได้ยินเท่านั้นยังมีการเตรียมความพร้อมด้านการสื่อสาร การพูด หรือพัฒนาการในส่วนของภาษาอีกด้วย
3.ช่วยบรรเทาความเครียดให้แก่คุณแม่และลูกน้อยในท้องได้เป็นอย่างดี โดยจากการวิจัยพบว่าการที่คุณแม่มีการอ่านหนังสือนิทานให้เจ้าตัวเล็กในท้องฟังด้วยเสียงต่ำ ๆ เบาๆ นิ่งๆ จะช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจลูกรักลดลงเล็กน้อยตามน้ำเสียงของคุณแม่นั่นเอง
ประเภทหนังสือที่แม่ควรอ่านให้ทารกในครรภ์ฟัง
– นิทานเด็ก
– คู่มือเลี้ยงลูก
– วรรณกรรมเด็กและเยาวชน
– ธรรมะ
เทคนิคการอ่านหนังสือให้ลูกในท้องฟัง
1.ระยะเวลาของทารกในครรภ์
ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการอ่านหนังสือให้แก่ลูกน้อยในท้องฟัง ก็คือช่วงอายุครรภ์ได้ 24-26 สัปดาห์ เป็นช่วงที่ระบบการได้ยินพัฒนาจนทารกสามารถได้ยินเสียงคุณแม่ หรือเสียงจากภายนอกได้แล้ว ดังนั้นเวลานี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มอ่านหนังสือนิทานให้ลูกรักฟังนั่นเอง
2.การลูบหรือเล่นหน้าท้องประกอบการอ่าน
การสัมผัสเพื่อกระตุ้นหน้าท้องไปพร้อมๆ กับการเล่านิทานให้ลูกในท้องฟังนั้น เป็นการกระตุ้นให้เขามีความสนใจกับเรื่องราวที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการสื่อเป็นอย่างดีเลยทีเดียว ไม่เพียงเท่านี้เพราะการสัมผัสที่อ่อนโยนจะคอยสร้างอารมณ์ทางบวกให้แก่ลูกน้อยอีกด้วย
3.การอ่านด้วยน้ำเสียงที่เป็นจังหวะ
การอ่านหนังสือคุณแม่จะต้องอ่านด้วยน้ำเสียงที่เป็นจังหวะ ชัดเจน ออกเสียงไปตามอารมณ์ของตัวละครในนิทาน เพื่อที่ลูกน้อยจะได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง
4.ประเภทของหนังสือที่อ่าน
หนังสือเด็กที่นำมาอ่านให้ลูกน้อยในครรภ์ฟังสามารถส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของทั้งตัวแม่และลูกน้อยได้โดยตรง จึงควรเลือกหนังสือนิทานเด็กที่ช่วยให้จิตใจของแม่สงบและเบิกบาน ซึ่งส่งผลให้เสียงเต้นของหัวใจของแม่ปกติ เด็กทารกก็จะสงบและรู้สึกสบายตามไปด้วย แต่หากเป็นหนังสือที่เร้าอารมณ์ กระตุ้นความเครียด ก็จะสร้างความเครียดให้ทารกในครรภ์ได้
5.ทำอย่างสม่ำเสมอ
การอ่านหนังสือให้ลูกในท้องฟังไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานนัก อ่านเพียง 1 – 2 เรื่องก็เพียงพอแล้ว แต่ควรทำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน วันละ 2 ครั้ง เพื่อส่งผลดีต่อพัฒนาการของลูกน้อย เพิ่มโอกาสการจดจำเสียงของพ่อแม่ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ การอ่านหนังสือไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหม่ ๆ ทุกครั้ง แต่ควรเลือกเรื่องที่ทำให้อารมณ์ดีเบิกบานเป็นสำคัญ
อ่านหนังสือส่งผลดีต่อทารกในครรภ์อย่างไร
1.ด้านอารมณ์
ถ้าอ่านหนังสือจะช่วยทำให้คุณแม่ผ่อนคลาย ไม่เครียด ส่งผลให้ทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการด้านสมองและอารมณ์ที่ดี และที่สำคัญเมื่อเจ้าหนูน้อยคลอดออกมาเขาจะเป็นเด็กที่อารมณ์ดี ไม่โยเย มีพัฒนาการตามวัย เลี้ยงง่าย
2.ด้านการมองเห็น
ในขณะที่อ่านหนังสือ หรือเล่านิทาน คุณแม่สามารถทักทายเล่นกับลูกในท้องได้ด้วยการส่องไฟฉายที่หน้าท้อง เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เซลล์สมองและเส้นประสาทในส่วนรับภาพและการมองเห็นของทารกมีพัฒนาการที่ดี และเตรียมความพร้อมในด้านการมองเมื่อคลอดออกมา
3.ด้านการได้ยิน
คุณแม่ควรหมั่นพูดคุยกับลูกในท้องบ่อย ๆ อ่านหนังสือให้ฟังเป็นประจำ เพราะลูกชอบฟังน้ำเสียงที่นุ่มนวลของคุณแม่ เพราะจะทำให้ลูกเกิดความคุ้นเคยหากคุณแม่พูดคุยกับลูกเสมอ ใช้ประโยคซ้ำ ๆ เพื่อให้ลูกคุ้นเคย จะช่วยให้ระบบประสาทและสมองที่ควบคุมการได้ยิน มีพัฒนาการที่ดีและเป็นการเตรียมความพร้อม การใช้เสียงกระตุ้นทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี เนื่องจากคลื่นเสียงจะไปกระตุ้นระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน
4.ด้านการสัมผัส
การลูบท้องแล้วการเดินออกกำลังกายเบา ๆ จะทำให้ลูกน้อยมีการเคลื่อนไหวตามไปด้วย และผิวกายของลูกจะไปกระทบกับผนังด้านในของมดลูก จะช่วยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสของลูกให้พัฒนาดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ลูบท้องในช่วงเวลาเดิมเป็นประจำจะรู้สึกได้ว่า ช่วงเวลานั้นลูกดิ้นรอเลย
บทส่งท้าย
การอ่านหนังสือให้ลูกน้อยฟังบ่อย ๆ นอกจากจะช่วยให้ลูกน้อยในครรภ์มีพัฒนาการที่ดีแล้ว ยังส่งผลประโยชน์ต่อตัวคุณแม่ด้วยเช่นกัน คุณแม่จะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น และได้ใช้เวลาอยู่กับลูกน้อยมากขึ้นอีกด้วย
เครดิตรูปภาพ www.greenchildmagazine.com parenting.firstcry.com theasianparent.com